ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เส้นทางสู่การเขียน: เสริมความกระตือรือร้นในการเขียนให้แข็งแกร่ง ตอนที่ 1

Regina G. Richards (2008)

เส้นทางสู่การเขียน ประกอบด้วยสองแนวทางหลัก ที่แตกต่างแต่มีความเกี่ยวข้องกัน เด็กที่ประสบความ สำเร็จในการท่องเที่ยวไปบนทั้งสองเส้นทางนี้ มักจะมีผู้ใหญ่อย่างเช่นครูหรือผู้ปกครอง คอยนำทาง ซึ่งการนำทางที่ประสบผลสำเร็จนี้มีผลมาจากการเสริมความกระตือรือร้นของเด็กที่มีต่อการเขียน ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีปัญหาในเรื่องความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้อยู่ก็ตาม

เส้นทางของความกระตือรือร้นและความเชื่อมั่นในตนเอง
เด็กที่มีลักษณะอย่างนี้ จะก้าวสู่เส้นทางการเขียนด้วยความรู้สึกตื่นเต้น และเอาใจใส่ในหัวข้อเรื่องที่ตนเขียน นอกเหนือจากจะรู้ว่างานนั้น มีองค์ประกอบมากมายหลายอย่างแล้ว พวกเขายังเชื่อมั่นด้วยว่า ตนมีเครื่องมือที่จะค่อยๆ จัดการกับองค์ประกอบแต่ละส่วนนั้นไปทีละเปลาะ ทีละเล็กทีละน้อย และแม้ว่าพวกเขาจะมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ แต่พวกเขาก็ยังมีกลยุทธ์ในการเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงความท้าทายแต่ละอย่างที่ต้องเผชิญ

สำหรับเด็กที่ไม่ได้มีลักษณะเช่นที่กล่าวมาแล้ว จะทำงานเขียนด้วยความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่ใส่ใจ และ/หรือกลายเป็นเรื่องน่าสยดสยองไปเลย เด็กเหล่านี้มักมีปัญหาในการกำหนดจุดมุ่งหมายของการเขียน ตามมาด้วยความยุ่งยากในการพัฒนาและจัดระบบความคิดที่ตนมี ทั้งนี้ อาจเป็นด้วยทักษะด้านภาษาที่มีไม่พอหรือความคาดหมายในการเขียนของเด็กอาจเกินกว่าระดับทักษะอัตโนมัติที่เด็กมี หรืออาจเป็นเพราะปัญหาอื่น ๆ เป็นต้นว่า ความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการเขียน (dysgraphia) ก็เป็นได้

นักเรียนชั้นประถมที่บกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการเขียนหรือเป็น dysgraphia คนหนึ่ง บรรยายถึงความรู้สึกในการเขียนของตนว่า
“การเขียนเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด เป็นเรื่องยากสิ้นดีที่จะให้จำทุกเรื่องที่เขาต้องการ อย่างเช่นเครื่องหมายมหัพภาค (periods) และอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ แล้วยังมีเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่จะให้คนซึ่งกำลังคิดถึงเนื้อหาของเรื่อง มาสะกดคำไปพร้อม ๆ กันด้วย...ดังนั้น Eli จึงคิดเอาเองว่า การเขียนเพียงสองสามประโยค น่าจะดีกว่า แม้จะถูกคุณครูตำหนิ  Eli ก็ยังคงเขียนเรื่องที่สั้นมากๆ อยู่อย่างนั้น ถึงยังไง คุณครูก็คงไม่เข้าใจหรอกว่า การที่เราต้องเขียนเรื่องอย่างกระเสือกกระสน แต่ในที่สุดแล้ว มันก็กลายเป็นหน้ากระดาษที่เลอะเทอะ เต็มไปด้วยคำผิดนั้น จะทำให้เรารู้สึกยังไงบ้าง”

ผลจากงานวิจัย แสดงให้เห็นถึงหลักฐานของความล้มเหลวในการพัฒนาความคิดเห็นและแรงจูงใจในเชิงบวกต่อการเขียนของผู้เข้าร่วมในโครงการด้านการเขียนส่วนมากในปัจจุบัน เด็กที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการใช้ภาษาเขียน มักทนฝืนเขียนเรื่องด้วยความรีบเร่ง ไม่ค่อยจะมั่นใจ อิดออดด้วยความกังวล นอกจากนี้ เด็กยังคงมีความลังเลในการเขียน แม้ว่าเด็กหลายคนจะรู้ว่าการเขียนเป็นเรื่องสำคัญ และเกี่ยวข้องโดย ตรงกับความสำเร็จในการเรียนและการใช้ชีวิต แต่ความที่เด็กคิดว่าครูให้ตนเขียนมากจนเกินไป จะกระตุ้นให้เด็กเกิดปฏิกิริยาในเชิงลบขึ้นได้ เช่น มีความกระวนกระวายและหวาดหวั่น ขาดการควบคุม และเกิดการหลบเลี่ยง

เส้นทางของการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย
ความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเอง หรือไม่มีความเชื่อมั่นในตนเองของเด็ก มีอิทธิพลอย่างมากต่อความสามารถในการจัดการกับองค์ประกอบต่างๆ ของการเขียนไปพร้อมๆ กัน ให้ประสบความสำเร็จ  งานด้านการเขียนนั้น จำเป็นต้องอาศัยระบบการจดจำที่ดีขณะทำงานอย่างมาก ผู้เขียนต้องรู้จักสับสวิตช์ความใส่ใจไปมาระหว่างเป้าหมายหลักที่มีหลากหลายกับรายละเอียดปลีกย่อยอยู่ตลอดเวลา Mel Levine บรรยายถึงการเขียนไว้ในหนังสือสำหรับวัยรุ่นของเขาว่า “คือการโยนรับลูกบอลต่อเนื่องอย่างดีเยี่ยม” ข้างใต้ภาพของเด็กผู้ชายที่กำลังโยนรับลูกบอลแปดลูก แต่ละลูกเปรียบเหมือนองค์ประกอบที่จำเป็นของการเขียน มีข้อความบรรยายไว้ว่า “ในการโยนรับลูกบอล เขาจะต้องทำให้ลูกบอลทุกลูกลอยอยู่กลางอากาศในเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกัน การจะทำงานเขียนให้ได้ดี เราจะต้องเก็บทุกองค์ประกอบของงานเขียนชิ้นนั้นไว้ในระบบความจำของเรา ในขณะที่เรากำลังเขียนเรื่องนั้นๆ อยู่ นักเขียนที่เขียนเรื่องได้ดีจำเป็นต้องมีความจำขณะทำงานที่ดี มีความอดทน ความต่อเนื่อง และรู้จักพลิกแพลงด้วย”

เด็กคนใดเดินไปตามทางของการใช้เครื่องมือที่หลากหลาย จะทำตามกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้จนสำเร็จได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามและไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด พวกเขาสามารถประสานความต้องการหลากหลายที่ต้องมี โดยการนำเครื่องมืออื่นๆ มาใช้ นั่นคือ กลยุทธ์ในการเขียน พวกเขาสามารถไปสู่ทักษะย่อยที่จำเป็นต่อการเขียนอย่างเป็นระบบได้พร้อมกันไปเสมอ

ความยุ่งยากของการเดินทางไปในเส้นทางนี้ เป็นผลมาจากความไม่พร้อมของเครื่องมือ หรือ ไม่สามารถใช้เครื่องมือที่ได้รับการพัฒนาแล้วให้เกิดประสิทธิภาพ บางครั้ง เด็กยังต้องการกลยุทธ์ในการเรียนรู้ หรือการชดเชยที่จะมาเอาชนะความบกพร่องทางการเรียนรู้ของตน ความไม่มีประสิทธิภาพนี้เองเป็นปัญหาใหญ่ที่มาขัดขวางการเขียนเพื่อสื่อความหมายในขั้นที่สูงขึ้น การหลอมรวมความคิด และการสื่อความอย่างชัดเจนไม่อาจเกิดขึ้น สำหรับเด็กหลายๆ คน ประสิทธิภาพที่ลดลงนี้เอง ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงที่จะเขียน ซึ่งอันที่จริงแล้ว เด็กจะต้องหมั่นฝึกฝนด้านการเขียนให้เกิดการพัฒนา เพราะการฝึกเขียน จะมีส่วนช่วยให้เกิดทักษะย่อยตามมาโดยอัตโนมัติ ผลที่ตามมาคือ เด็กนักเรียนที่มักจะหลีกเลี่ยงการเขียนจะขาดการฝึกฝนทักษะย่อยที่สำคัญอีกมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม เด็กเองก็จะต้องเข้าใจด้วยว่า การฝึกเขียนโดยที่ตนเองไม่รู้สึกเลยว่าจะทำได้ดี หรือการฝึกเขียนที่ขาดการตอบสนอง ย่อมทำให้เด็กเกิดความท้อแท้มาก กว่าจะทำให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะ

หลีกเลี่ยงการบ่ายเบี่ยงที่จะเขียน
ถ้าเด็กยังพัฒนาความสามารถในการใช้ทักษะย่อยในการเขียนอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้คำสั่งที่มีความชัดเจน มีการยกตัวอย่าง และให้เด็กได้ฝึกเขียน ก่อนที่จะคาดหวังให้เด็กใช้ทักษะต่างๆ แบบผสมผสานไปในเวลาเดียวกันกับการเขียน เทคนิคของการใช้ความรู้สึกหลากหลาย จะช่วยให้เด็กสามารถใช้กลยุทธ์ทางการมองเห็น ทางการได้ยิน กลยุทธ์ทางการสัมผัส และที่สามารถรับรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวได้ในเวลาเดียวกัน รวมทั้งจะช่วยในการเชื่อมโยงทักษะย่อยเข้าด้วยกันให้ได้ผลมากขึ้น ถ้าการพัฒนาทักษะทำได้ยากหรือล่าช้าจนเกินไป การสอนเสริม น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสม และจำเป็นกับเด็กหลายราย

กลุ่มทักษะพื้นฐานสามอย่างมีความสำคัญต่อประสิทธิผลของการเขียนเพื่อสื่อความหมาย

*การใช้รูปแบบตัวอักษร วรรคตอน และบรรทัด

@ เด็กแต่ละคน ควรจะเขียนตัวอักษรลงในหน้ากระดาษได้อย่างง่ายดายและเป็นไปโดยอัตโนมัติ ถ้ามีปัญหาในเรื่องนี้ เด็กจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเพื่อเยียวยา และ/หรือการสอนเสริม

@ การช่วยเหลือเพื่อเยียวยา อาจหมายรวมถึงการสอนซ้ำด้วยต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือ และรูปแบบของตัวอักษรที่นำมาคัดลายมือ โดยใช้เทคนิคการสอนแบบหลากหลายประสาทสัมผัสที่มีการลำดับขั้นตอนอย่างดี  การใช้สื่อที่เป็นระนาบในแนวดิ่ง อย่างเช่นไวท์บอร์ด จะมีคุณค่าต่อการช่วยเหลือ ในชั้นแรก ด้วยการกำหนดทิศทาง

@ การสอนเสริม อาจหมายรวมถึงทักษะในการใช้แป้นพิมพ์ด้วย

* การใช้โครงสร้างการเขียนในขั้นตอนของการเขียนเพื่อสื่อความหมาย

@ ทักษะที่ว่านี้ ได้แก่ การสะกดคำ การเขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ การเขียน  เครื่องหมายวรรคตอน   โครงสร้างประโยค และหลักไวยากรณ์ เป็นต้น

@ ด้วยเหตุที่ขั้นตอนของการเขียน ค่อนข้างเรียกร้องหลายสิ่งหลายอย่างจากเด็ก โดยเฉพาะเรื่องความว่องไวของระบบความจำขณะเขียน ทักษะย่อยใดๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ อาจตกหล่นไปได้ในขณะที่เด็กกำลังมุ่งให้ความสนใจกับเนื้อหาอยู่ สิ่งนี้ทำให้ทั้งตัวเด็กเอง พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูผู้สอนต้องผิดหวัง เพราะเด็กอาจเกิดทักษะย่อยอย่างเดียวกันขึ้นมา ขณะที่อยู่ตามลำพัง

@ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีระบบความจำ ที่สามารถจะนำมาใช้ในงานได้คล่องนั้น จำเป็นต้องให้เด็กแต่ละคนมีทักษะย่อยที่แข็งแกร่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าเด็กมีทักษะย่อยเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติมากเท่าใด ความจำเป็นที่จะต้องมีระบบความ จำในการทำงานที่ว่องไวก็จะลดลงไปเท่านั้น ในทางกลับกัน ยิ่งเด็กมีทักษะอัตโนมัติน้อยลงเท่าใด ความจำเป็นต่อการมีระบบความจำที่ว่องไว ก็ย่อมมีมากขึ้นเท่านั้น

* การจัดทำเนื้อหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้แก่ แนวความคิดพื้นฐานที่แสดงออกมาได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง และมีการขัดเกลา

@ ความสามารถในการเขียนและการขัดเกลาความคิดนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของเด็กในการรวบรวมทักษะกลไกการเขียนที่เป็นพื้นฐาน และด้วยทักษะในการใช้ขั้นตอนพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับรูปแบบตัวอักษรและวรรคตอน นี่เองที่จะช่วยให้เด็กให้ความสนใจเต็มที่กับเนื้อหา  

@ กลยุทธ์ของการจัดระบบ มีส่วนช่วยทำให้แนวโน้มในการมองการเขียนของเด็กว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่แน่ไม่นอนและต้องอาศัยการกระตุ้นนั้นลดน้อยลง ทั้งนี้ จะต้องมีแผนและกลยุทธ์ในการจัดระบบที่จัดทำขึ้นไว้ก่อน และจะต้องมีแผนภาพ หรือทัศนูปกรณ์รวมอยู่ด้วย

“บรรยากาศอันเป็นสื่อที่ดีที่สุด ที่จะนำไปสู่เส้นทางของการเรียนรู้ให้สามารถเขียนได้ดีสายนี้ คือ เส้นทางที่ให้อิสระ - อิสระจากการกดดันมากเกินไป จากความเครียดที่เด็กอาจมีในระดับสูงหรือมีอย่างต่อเนื่อง และควรจะเต็มไปด้วยความเพลิดเพลินอย่างยิ่งยวดด้วย”
 

แปลและเรียบเรียงจาก The Writing Road: Reinvigorate Your Students’ Enthusiasm for Writing By Regina G. Richards (2008) โดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก