ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการของม.ธรรมศาสตร์

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง : ออกอากาศ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

           ปี 56 มหาวิทยาลัยสำรวจอาคารทั้งหมด 84 หลังว่ามีการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการกี่อาคาร พบว่าไม่มีอาคารใดเลย ที่ได้คะแนนสูงกว่า 50% นั่นแปลว่า คนพิการในธรรมศาสตร์เข้าถึงการเรียนการสอนได้น้อยมาก และเป็นสาเหตุที่ทำให้นักศึกษาพิการส่วนใหญ่สอบตก

           ปี 2546 เราเปิดโครงการรับนักศึกษาพิการ 2 ปีต่อมาศูนย์บริการนักศึกษาพิการก็เกิดขึ้นตาม  ในตอนนั้นนักศึกษาพิการเข้ามาอยู่แบบพอใช้ชีวิตและเรียนได้ แต่เข้าบางตึกไม่ได้ เข้าไม่ถึงโรงอาหาร คุณภาพชีวิตก็ไม่ดีและไม่ปลอดภัย เห็นได้จากที่นักศึกษาตาบอดตกน้ำบ่อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ซึ่งตอนนั้นเป็นรองฝ่ายกิจการนักศึกษา จึงมอบหมายให้เราสำรวจดูว่า อาคารเรียนภายในมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการให้บริการนักศึกษามากน้อยขนาดไหน

           เราสำรวจประมาณ 84 อาคาร ปรากฏว่าไม่ผ่านเกณฑ์ 50% สักหลัง ทั้ง ๆ ที่มีทางลาด แต่ก็ใช้ไม่ได้ มีลิฟต์แต่ก็ไม่มีลำโพงบอกเสียงหรืออักษรเบรลล์ มีรายละเอียดมากมายที่ต้องปรับปรุง  จึงทำแผนและของบประมาณประมาณ 10 ล้านบาทในแต่ละปี เพื่อปรับปรุงโดยเฉพาะ จนเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งที่จอดรถ ทางลาด ลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เยอะขึ้น ในปี 2558 เลยได้รางวัลจากมูลนิธิอารยะสถาปัตย์ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เอื้อให้คนพิการใช้ชีวิตได้

ปี 2550 ผลการวิจัยระบุเหตุผลที่นักศึกษาพิการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เกรดน้อย หรือถูกรีไทร์ว่า การที่นักศึกษาเข้าไม่ถึงพื้นที่หรือห้องเรียน แม้แต่จะออกจากหอยังยาก ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่ผลการเรียนของเขาจะดีเหมือนกับคนอื่น ตอนนั้นจึงปรับการเรียนการสอน มีข้อสอบเบรลล์ มีวีลแชร์ไฟฟ้าให้ยืมใช้ ฯลฯ

           สนใจในเรื่องของ Special Target หรือ Special User เป็นทุนเดิมตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี เห็นได้จากงานพื้นที่ผู้ป่วยในสถานบำบัดยาเสพติด ตอนปริญญาโทก็ทำเรื่องสถานีอนามัยผู้สูงอายุ ยิ่งทำงานวิจัยยิ่งทำให้รู้ว่า แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าเราใส่ใจแล้วออกแบบให้ดีตั้งแต่แรก ก็จะเอื้อให้คนที่ไม่เคยใช้งานพื้นที่นั้นได้ใช้ โดยไม่จำเป็นต้องทำให้แปลกหรือแตกต่าง ตอนแรกทำเพราะเกี่ยวกับการเรียน แต่ตอนนี้ทำเพราะได้ใช้ความรู้ ความสามารถที่เรียนมา ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้ใช้ชีวิตมากขึ้น และเห็นผลว่ามีประโยชน์จริง ๆ 10 ปีที่แล้วคนทำเรื่องนี้มีน้อยอยู่ คนเลยมองว่า เป็นเรื่องแปลก เป็นเรื่องที่ต้องตื่นเต้นกับมัน ครั้งหนึ่งองค์กรไต้หวันมาดูงานพื้นที่ที่เราทำเป็นต้นแบบ เราพาเขาไปดูหลายที่ด้วยความตื่นเต้น และถามเขาว่าเป็นยังไงบ้าง เขาถามกลับว่า ทำไมคนไทยต้องตื่นเต้น เพราะเขารู้สึกว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่สถาปนิกต้องออกแบบอาคารตามหลัก UD อยู่แล้ว เราฟังแล้วคิดตามว่า ใช่ สิ่งเหล่านี้ควรเป็นเรื่องธรรมดา ทำไมการทำเพื่อคนพิการหรือผู้สูงอายุถูกยกย่องให้เป็นวาระพิเศษ ทั้งที่ควรมีอยู่แล้วเป็นมาตรฐาน ถ้าคิดว่าทุกคนเท่าเทียม ก็ไม่ควรเลือกปฏิบัติกับใครด้วยการออกแบบที่เข้าถึงไม่ได้ หากย้อนดู UD นั้นถูกพูดถึงในตะวันตกตั้งแต่ช่วงปี 2524 ห่างกัน 10 ปี ประเทศไทยมีกฎหมายคนพิการปี 2534 ซึ่งระบุชัดเจนว่า ต้องอำนวยความสะดวกคนพิการในพื้นที่สาธารณะ รวมถึงมีรายละเอียดแนบท้ายเป็นแบบแปลนสิ่งอำนวยความสะดวก จนถึงปัจจุบันเรามีทั้งกฎหมาย และระเบียบที่พูดถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะกว่าสิบฉบับ คำถามก็คือ ทำไมสังคมเรากลับยังไม่สามารถเป็นสังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้จริง

 

 แนะนำและติชมรายการได้ที่ รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ถ.ศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐

 

รายการรวมใจเป็นหนึ่ง ออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.30-19.00 น. ทางสถานีวิทยุศึกษา FM 92 MHz และ AM 1161 kHz

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก