ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ก.แรงงานจัดแข่งขันฝีมือคนพิการครั้งที่ 8 เริ่มสมัคร 16 พ.ย.นี้ หวังพัฒนาทักษะ-ต่อยอดเลี้ยงชีพ

วันที่ลงข่าว: 16/11/16

      เมื่อวันที่ 13พ.ย. นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เตรียมจัดงานแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 8-10 มี.ค.2560 ที่อาคาร 4 อิมแพ็คเมืองทองธานี โดยจัดสาขาการแข่งขัน จำนวน 20 สาขา ประกอบด้วย 1.สาขาถักนิตติ้ง 2.สาขาประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ 3.สาขาเย็บปักถักร้อย 4.สาขาออกแบบเอกสารสิ่งพิมพ์ 5.สาขาถักโครเชต์ 6.สาขาวาดภาพระบายสีน้ำ 7.สาขาออกแบบเว็บเพจ 8.สาขาออกแบบโปสเตอร์ 9.สาขาตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี ระดับพื้นฐาน 10.สาขาประกอบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ระดับพื้นฐาน

11.สาขาสานตระกร้า 12.สาขาประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ 13. สาขาพิมพ์เอกสารด้วยโปรแกรมไมโครซอฟต์เวิร์ด 14.สาขาออกแบบสถาปัตยกรรมการก่อสร้างด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 15.สาขาตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ 16.สาขาประดิษฐ์เครื่องปั้นดินเผา 17.สาขาระบายสีบนผ้าไหม 18.สาขาออกแบบเพื่ออุตสาหกรรมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 19.สาขาถ่ายภาพในสตูดิโอ 20. สาขาออกแบบคาแรคเตอร์ โดยจะทำการแข่งขันฝีมือคนพิการ ตั้งแต่ระดับภาคเพื่อคัดเลือกเข้าแข่งขันในระดับชาติต่อไป

 

      โดยคุณสมบัติผู้เข้าแข่งขัน มีสัญชาติไทย เป็นคนพิการตามประกาศกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง ประเภทและหลักเกณฑ์ ความพิการฉบับที่ 2 ซึ่งผู้สนใจเข้าร่วมการแข่งขันสามารถติดต่อสอบถามและสมัครได้ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานทั้วประเทศ ตั้งแต่ 16 พ.ย.นี้ เป็นต้นไป หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2245-4035

 

       นายธีรพล กล่าวว่า การแข่งขันฝีมือคนพิการ เป็นการสร้างโอกาส ส่งเสริม ให้คนพิการได้พัฒนาทักษะในวิชาชีพของตนเองให้เพิ่มขึ้น และสร้างการยอมรับในศักยภาพคนพิการ รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายคน อีกทั้งส่งเสริมคนพิการให้มีงานทำเพราะเป็นกำลังแรงงานสำคัญ เป็นไปตาม 8 วาระปฏิรูปเร่งด่วน 1 ใน 8 ข้อของกระทรวงแรงงาน

 

      โดยการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ กพร.ได้เพิ่มสาขาที่มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อให้มีความพร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 จำนวน 3 สาขา ได้แก่ สาขาออกแบบเพื่องานอุตสาหกรรมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (CAD) ซึ่งเป็นสาขาที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต ผู้แข่งขันต้องมีความรู้ในด้านการอ่านแบบ เขียนแบบ พร้อมแสดงผล สาขาถ่ายภาพในสตูดิโอ เป็นสาขาที่ผู้เข้าแข่งขันต้องมีความรู้ด้านการถ่ายภาพ การตกแต่งภาพ และการจัดเตรียมสตูดิโอพร้อมออกแบบการถ่าย

 

      ซึ่งสาขานี้สามารถนำไปต่อยอดในธุรกิจ SMEs ได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถใช้ภาพถ่ายที่ออกแบบและตกแต่งแล้วไปเป็นส่วนประกอบในการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการแพ็คเกจจิ้ง สำหรับสาขาออกแบบคาแรคเตอร์ เป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบตัวการ์ตูน ตัวหนังสือ ที่เป็นทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหวใช้ประกอบกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอหรือการโฆษณา เป็นต้น

ที่มาของข่าว หนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2559
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก