ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยการพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และการจัดทำรายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒

วันที่ลงข่าว: 11/07/13

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
ว่าด้วยการพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และการจัดทำรายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ (๗) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ จึงกำหนดระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยการพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และการจัดทำรายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. ๒๕๕๒”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“องค์กรภาคเอกชน” หมายความว่า องค์กรด้านคนพิการ องค์กรชุมชน องค์กรธุรกิจ หรือ
องค์กรอื่นตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนกำหนด
“ผู้ดูแลคนพิการ” หมายความว่า บิดา มารดา บุตร สามี ภรรยา ญาติ พี่น้อง หรือบุคคล
อื่นใดที่รับดูแลหรืออุปการะคนพิการ
“หน่วยงานภาครัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่อ
อย่างอื่น ราชการส่วนภูมิภาค หน่วยงานส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค โรงเรียนหรือ
สถาบันการศึกษาของรัฐ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
แห่งชาติ
 “คณะอนุกรรมการบริหารกองทุน” หมายความว่า คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริม
และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
แห่งชาติ
ข้อ ๔ ให้เลขาธิการรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติตลอดจน
กำหนดแบบเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้
หมวด ๑
การขอรับการสนับสนุนแผนงานหรือโครงการ
ข้อ ๕ หน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรภาคเอกชนที่จะขอรับการสนับสนุนแผนงานหรือ
โครงการจากกองทุนต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) มีที่ทำการหรือสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่ที่จะยื่นคำขอไม่น้อยกว่าหกเดือน
(๒) มีคณะกรรมการ บุคลากร หรืออาสาสมัครในการปฏิบัติงานประจำ หรือมีที่ปรึกษาที่มีความรู้เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
(๓) มีผลการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์ต่อคนพิการหรือเกิดประโยชน์ต่อสังคมหรือชุมชน
(๔) มีระบบการบริหารงานและระบบการเงินการบัญชีที่มีประสิทธิภาพ
ข้อ ๖ แผนงานหรือโครงการที่จะได้รับการสนับสนุนจากกองทุนต้องมีลักษณะ
ดังต่อไปนี้
(๑) สอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นโยบายรัฐบาล หรือนโยบายของ
คณะกรรมการ
(๒) มีวัตถุประสงค์และกระบวนการในการดำเนินงานชัดเจน และมีผลต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
(๓) สร้างการมีส่วนร่วมของบุคคลหรือหน่วยงานหรือประชาชนเกี่ยวกับการส่งเสริม
และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
(๔) มีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการหรือมีหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจด้านคนพิการเข้าร่วมบริหารจัดการหรือให้คำปรึกษาในการดำเนินงานกรณีเป็นหน่วยงานภาครัฐต้องเป็นแผนงานหรือโครงการที่ริเริ่มใหม่ หรือเป็นโครงการที่ไม่สามารถขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณปกติได้ หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอกรณีเป็นองค์กรภาคเอกชนต้องเป็นแผนงานหรือโครงการที่ดำเนินงานมาแล้วโดยมีทุนหรือเงินสมทบอยู่บางส่วน หรือเป็นแผนงานหรือโครงการใหม่และต้องไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนราชการและแหล่งทุนอื่น ๆ หรือได้รับการสนับสนุนแต่ไม่เพียงพอความในวรรคหนึ่ง ไม่ใช้บังคับกับแผนงานหรือโครงการที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรภาคเอกชนดำเนินการเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์ต่อคนพิการและประชาชน
ข้อ ๗ รายการค่าใช้จ่ายที่กองทุนให้การสนับสนุน มีดังต่อไปนี้
(๑) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการสังคม การส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิ การสนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระ มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
(๒) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเสริมสร้างสมรรถภาพหรือความสามารถของคนพิการให้มีสภาพที่ดีขึ้น หรือดำรงสมรรถภาพหรือความสามารถที่มีอยู่เดิมไว้ โดยอาศัยกระบวนการทางการแพทย์ การศาสนา การศึกษา สังคม อาชีพหรือกระบวนการอื่นใด เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสทำงานหรือดำรงชีวิตในสังคมอย่างเต็มศักยภาพ
(๓) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนพิการ เช่น
ค่าใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนเกี่ยวกับจัดการศึกษาและการฝึกอาชีพ การมีงานทำ การส่งเสริม
การประกอบอาชีพ บริการสื่อหรือสิ่งอำนวยความสะดวก เทคโนโลยีหรือความช่วยเหลืออื่นใดเพื่อให้คนพิการสามารถประกอบอาชีพทั้งในส่วนอาชีพอิสระหรือทำ งานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานภาครัฐ
(๔) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง การดำเนินงาน การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรด้านคนพิการทั้งในส่วนองค์กรของคนพิการ หรือองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานเพื่อคนพิการ การเสริมสร้างเครือข่ายในทุกระดับเพื่อให้องค์กรต่าง ๆ สามารถทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง
 (๕) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๗
(๖) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุน เช่น การบริหารจัดการกองทุน การจัดหาผลประโยชน์ การติดตามประเมินผลและตรวจสอบการดำเนินงานของกองทุน
(๗) ค่าใช้จ่ายในเรื่องอื่นที่เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนเห็นสมควร
อัตราวงเงินและรายการค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการบริหาร
กองทุนประกาศกำหนด ในกรณีที่ยังมิได้ประกาศกำหนดอัตราวงเงินและรายการค่าใช้จ่ายในเรื่องใดให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ
ข้อ ๘ ในกรณีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนเห็นสมควรกำหนด
ยุทธศาสตร์การดำเนินงานกองทุนในเชิงรุก อาจกำหนดวงเงินและรายการค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนให้คณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๑ จัดทำแผนงานหรือโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเสนอต่อคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนก็ได้
หมวด ๒
การกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ
ข้อ ๙ ผู้ขอกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพเป็นรายบุคคลต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(ก) กรณีเป็นคนพิการ
(๑) มีบัตรประจำตัวคนพิการ
(๒) มีความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ
ในท้องที่ที่ยื่นคำขอ
(๓) มีความสามารถในการประกอบอาชีพในเรื่องที่ขอรับการสนับสนุน
(๔) บรรลุนิติภาวะ เว้นแต่คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนจะเห็นเป็นอย่างอื่น
(๕) มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือมีถิ่นที่อยู่ถาวรในท้องที่ที่ยื่นคำขอกู้ไม่น้อยกว่า
เก้าสิบวัน
(๖) ไม่มีประวัติเสียหายในการกู้เงินจากกองทุน เว้นแต่ได้ดำเนินการแก้ไข
มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเป็นกรณีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนจะเห็นเป็นอย่างอื่น
 (๗) กรณีมีหนี้สินอยู่กับกองทุนต้องได้ชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ
หกสิบของวงเงินกู้ยืมทั้งหมดและเมื่อได้การอนุมัติแล้วต้องชำระหนี้สินที่มีอยู่เดิมทั้งหมด
(๘) มีความสามารถชำ ระคืนเงินกู้ยืมได้และมีบุคคลที่น่าเชื่อถือได้
เป็นผู้ค้ำประกัน
(ข) กรณีเป็นผู้ดูแลคนพิการ
(๑) มีคุณสมบัติตาม (ก) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) และ (๘)
(๒) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
(๓) ได้รับการรับรองเป็นหนังสือจากผู้แทนองค์กรด้านคนพิการ กำนัน
ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนา ข้าราชการระดับ ๓ หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือมีหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการซึ่งมิได้มีหนี้สินจากกองทุน
ข้อ ๑๐ ผู้ขอกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพเป็นรายกลุ่มนอกจากมีคุณสมบัติตามข้อ ๙ แล้วต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นกลุ่มคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่รวมตัวกันโดยมีผลประโยชน์และวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนกัน หรือทำกิจกรรมอันชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมร่วมกันหรือดำเนินการอื่นอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีระบบบริหารจัดการและการแสดงเจตนาแทนกลุ่มได้ ทั้งนี้ ต้องมีสมาชิกกลุ่มไม่น้อยกว่าสองคน
(๒) มีหลักฐานจากสถาบันการเงินเกี่ยวกับการออมเงินของกลุ่มอย่างสม่ำเสมอมาแล้วไม่น้อยกว่าหกเดือน
(๓) ดำเนินกิจการของกลุ่มในท้องที่จังหวัดที่ยื่นคำขอต่อเนื่องจนถึงวันยื่นคำขอแล้ว
ไม่น้อยกว่าหกเดือน
(๔) ได้รับการรับรองเป็นหนังสือรับรองจากองค์กรด้านคนพิการที่เป็นนิติบุคคลหรือ
หน่วยงานภาครัฐว่าเป็นกลุ่มที่มีผลงานน่าเชื่อถือจริง
(๕) มีแผนงานหรือโครงการของกลุ่มที่จะดำเนินการต่อไปอย่างชัดเจน
ข้อ ๑๑ วงเงินให้กู้ยืมและกำหนดการชำระคืน
(๑) การกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพเป็นรายบุคคล ไม่เกินรายละสี่หมื่นบาท ผ่อนชำระภายในห้าปีโดยไม่มีดอกเบี้ย
 (๒) การกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพเป็นรายกลุ่ม ไม่เกินหนึ่งล้านบาท ผ่อนชำระภายในห้าปีโดยไม่มีดอกเบี้ย ทั้งนี้ วงเงินเฉลี่ยต่อบุคคลไม่เกินวงเงินตาม (๑)
การชำระคืนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการบริหาร
กองทุนให้ความเห็นชอบ โดยคำนึงถึงประเภทอาชีพที่ยื่นขอกู้ยืมเงินของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มแล้วแต่กรณี
หมวด ๓
การพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินสนับสนุนแผนงานหรือโครงการและการกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ
ข้อ ๑๒ การยื่นคำขอรับการสนับสนุนแผนงานหรือโครงการ และการกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ ในเขตกรุงเทพมหานครให้ยื่นต่อสำนักงานหรือหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการที่ได้รับมอบหมาย สำหรับในส่วนภูมิภาคให้ยื่นต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดให้สำนักงานหรือหน่วยงานหรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตามวรรคหนึ่ง ทำหน้าที่ตรวจสอบและวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของแต่ละแผนงานหรือโครงการหรือคำขอกู้ยืมเงินทุนเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม พร้อมทั้งเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๑ ก่อนเสนอคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพิจารณาอนุมัติต่อไป
ในกรณีกลุ่มเป้าหมายตามแผนงานหรือโครงการมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่มากกว่าหนึ่งจังหวัด
หรือมิได้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในจังหวัดที่ยื่นคำขอรับการสนับสนุนนั้น ให้นำเสนอต่อสำนักงานพิจารณาก่อนเสนอคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพิจารณาอนุมัติต่อไป
ข้อ ๑๓ เมื่อคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๑ ได้รับคำขอตามข้อ ๑๒ แล้ว ให้พิจารณา
แผนงานหรือโครงการ หรือคำ ขอกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า แล้วเสนอต่อ
คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนเพื่อพิจารณาอนุมัติ
ให้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนประชุมพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินกองทุนอย่างน้อย
เดือนละครั้ง เว้นแต่ไม่มีการเสนอเรื่องเพื่อขอรับการสนับสนุน
ในกรณีกรรมการหรืออนุกรรมการบริหารกองทุนเป็นกรรมการบริหารหรือเจ้าหน้าที่ของ
หน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรภาคเอกชนที่เสนอแผนงานหรือโครงการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนหรือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการขอกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ ห้ามมิให้เข้าร่วมพิจารณาแผนงานหรือโครงการหรือคำขอกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพนั้น
ข้อ ๑๔ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินสนับสนุนแผนงานหรือโครงการหรือการกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ คณะอนุกรรมการบริหารกองทุน หรือคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องหรือสำนักงานหรือหน่วยงานหรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแล้วแต่กรณีอาจให้ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรภาคเอกชนที่ขอรับการสนับสนุนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียดหรือแสดงหลักฐานเพิ่มเติม หรือจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงยังสถานที่ดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน กลุ่มบุคคล หรือบุคคลที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนก็ได้
ข้อ ๑๕ ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินให้ผู้ขอรับการสนับสนุนแผนงานหรือโครงการ หรือผู้ขอกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ แล้วแต่กรณี ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพิจารณาเสร็จ
ข้อ ๑๖ ให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับอนุมัติ
เงินจากกองทุนทำสัญญารับเงินกองทุนตามแบบที่เลขาธิการกำหนด
ข้อ ๑๗ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับเงินจากกองทุนจะต้องยินยอมให้สำนักงานและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามที่ได้รับเงินจากกองทุน หรือให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจเอกสารเกี่ยวกับบัญชีทะเบียนและหลักฐานอื่น ตลอดจนสอบถามหรือสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง
ข้อ ๑๘ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับเงินจากกองทุนต้องรายงานผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายเงินที่ได้รับจากกองทุนตามแบบที่เลขาธิการกำหนดในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของแผนงานหรือโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้เสนอคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนอนุมัติก่อนดำเนินการ
ในกรณีที่หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับเงินจากกองทุน
มิได้ดำเนินการหรือดำเนินการไม่เป็นไปตามแผนการใช้จ่ายเงินที่ได้รับการอนุมัติ ให้ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายระงับการจ่ายเงินงวดต่อไปไว้ก่อนแล้วดำเนินการตรวจสอบและรายงานผลต่อคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนเพื่อพิจารณาต่อไป
ข้อ ๑๙ ให้สำนักงานและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
ดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) จัดทำทะเบียนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับเงินจากกองทุนเพื่อควบคุมกำกับดูแลและติดตามประเมินผลการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินของกองทุน
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของแผนงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติ
(๓) ส่งเสริม เร่งรัด ติดตาม และดำเนินการอื่นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ
(๔) ดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนมอบหมาย
ข้อ ๒๐ ให้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนประกาศกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติ
และเกณฑ์ชี้วัดเพื่อให้เป็นไปตามหมวด ๑ หมวด ๒ และหมวด ๓
หมวด ๔
การจัดทำรายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุน
ข้อ ๒๑ ให้สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดจัดทำรายงานการรับจ่ายเงินเป็นประจำทุกเดือนส่งให้สำนักงานภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป และให้นำส่งเงินรายได้ทุกประเภทเข้าบัญชีกองทุนทุกสิ้นเดือน
ข้อ ๒๒ ให้สำนักงานจัดทำรายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุนเป็นประจำทุกเดือนและเสนอต่อคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนทุกครั้งที่มีการประชุม
ข้อ ๒๓ ให้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนรายงานสถานะการเงินและการบริหารกองทุนต่อคณะกรรมการอย่างน้อยปีละสามครั้ง
ข้อ ๒๔ วิธีการปฏิบัติอื่นใดที่ไม่ได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ ให้นำระเบียบของทางราชการว่าด้วยการนั้น มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
ประกาศ ณ วันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ__

ที่มาของข่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก