ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ และการออกบัตรการกำหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ การขอสละสิทธิของคนพิการ และอายุบัตรประจำตัวคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒

วันที่ลงข่าว: 11/07/13

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ และการออกบัตร
การกำหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ การขอสละสิทธิของคนพิการ และอายุบัตรประจำตัวคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒
 
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๙ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนา
คุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำ ได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ จึงกำหนดระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการและการออกบัตรการกำหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ การขอสละสิทธิของคนพิการ และอายุบัตรประจำตัวคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติและให้หมายความรวมถึงสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัด
ข้อ ๔ คนพิการซึ่งมีสัญชาติไทยไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดอื่น อาจยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการต่อสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือหน่วยงานภาครัฐอื่นตามที่เลขาธิการหรือผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด แล้วแต่กรณีให้บัตรประจำตัวคนพิการมีอายุหกปีนับแต่วันที่ออกบัตร
ข้อ ๕ ในกรณีที่คนพิการเป็นผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือคนไร้ความสามารถหรือในกรณีที่คนพิการมีสภาพความพิการถึงขั้นไม่สามารถไปยื่นคำขอด้วยตนเองได้ ผู้ปกครองผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ดูแลคนพิการแล้วแต่กรณี ยื่นคำขอแทนได้
ข้อ ๖ การยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ ให้คนพิการหรือบุคคลตามข้อ ๕ ยื่นคำขอตามแบบที่เลขาธิการกำหนดพร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้
(๑) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาสูติบัตรของคนพิการ
(๒) สำเนาทะเบียนบ้านของคนพิการ
(๓) รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน ๖ เดือน จำนวน ๒ รูป
(๔)ใบรับรองความพิการรับรองโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของสถานพยาบาลของรัฐหรือสถานพยาบาลเอกชนที่เลขาธิการประกาศกำหนด เว้นแต่กรณีสภาพความพิการที่สามารถเห็นได้โดยประจักษ์ไม่ต้องมีใบรับรองความพิการก็ได้ทั้งนี้ ตามแบบและรายละเอียดที่เลขาธิการประกาศกำหนดในกรณีบุคคลตามข้อ ๕ ยื่นคำขอแทนคนพิการ ให้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลนั้น และหลักฐานอื่นที่แสดงให้เห็นว่าได้รับมอบอำนาจจากคนพิการหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนพิการเนื่องจากเป็นผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ดูแลคนพิการแล้วแต่กรณี
ข้อ ๗ให้สำนักงานหรือหน่วยงานภาครัฐที่รับคำขอดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของเอกสารหลักฐานของผู้ยื่นคำขอ ในกรณีเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้แจ้งผู้ยื่นคำขอดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ยื่นคำขอไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าไม่ประสงค์จะมีบัตรประจำตัวคนพิการตามคำขอเมื่อเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนแล้วให้เสนอความเห็นต่อนายทะเบียนเพื่อพิจารณาออกบัตรประจำตัวคนพิการตามคำขอโดยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการไว้ด้วย
ข้อ ๘ เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอตามข้อ ๗ แล้ว ให้พิจารณาออกบัตรประจำตัว
คนพิการตามคำขอโดยเร็ว และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันพิจารณาคำขอเสร็จในกรณีนายทะเบียนออกบัตรประจำตัวคนพิการตามคำขอ ให้แจ้งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติและสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดซึ่งคนพิการนั้นมีภูมิลำเนาอยู่เพื่อรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลกลางและฐานข้อมูลคนพิการประจำจังหวัดนั้น
ข้อ ๙ ในกรณีบัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ ชำรุด สูญหาย หรือมีการเปลี่ยนแปลง
ในสาระสำคัญเกี่ยวกับคนพิการ ให้คนพิการหรือบุคคลตามข้อ ๕ ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนเพื่อขอมีบัตรประจำตัวคนพิการใหม่ได้ ทั้งนี้ ให้นำเอกสารหลักฐานตามข้อ ๖ (๑) (๒) และ (๓) ไปประกอบการพิจารณาด้วยในกรณีบัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ ให้คนพิการหรือบุคคลตามข้อ ๕ ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการใหม่ก่อนวันที่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ
ข้อ ๑๐ ในกรณีนายทะเบียนไม่ออกบัตรประจำตัวคนพิการที่ยื่นตามข้อ ๖ หรือตามข้อ๙ให้ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัดซึ่งรับคำขอนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งดังกล่าวให้นายทะเบียนตามวรรคหนึ่งพิจารณาคำอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ดังกล่าว แล้วให้แจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์พร้อมเหตุผลเป็นหนังสือต่อผู้อุทธรณ์ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พิจารณาอุทธรณ์เสร็จคำวินิจฉัยของนายทะเบียนตามวรรคสอง ให้เป็นที่สุด
ข้อ ๑๑ ในกรณีคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการถึงแก่ความตายหรือได้รับการฟื้นฟูจนไม่มีสภาพความพิการ หรือมีความประสงค์จะยกเลิกการมีบัตรประจำตัวคนพิการ ให้ผู้มีบัตรประจำตัวคนพิการหรือบุคคลตามข้อ ๕ แจ้งต่อนายทะเบียนเพื่อจำหน่ายออกจากทะเบียนบัตรประจำตัวคนพิการต่อไป
ข้อ ๑๒ คนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามระเบียบนี้ มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐตามมาตรา ๒๐ หรือตามกฎหมายอื่นกำหนด
ข้อ ๑๓ เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิทธิตามข้อ ๑๒ ให้สำนักงานจัดทำคู่มือการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิทธิดังกล่าว ทั้งนี้ คนพิการหรือบุคคลตามข้อ ๕ อาจยื่นคำขอให้มีการกำหนดสิทธิหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิต่อหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๒๐หรือตามกฎหมายอื่นกำหนด หรือตามที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติกำหนดก็ได้
ข้อ ๑๔ ในกรณีที่มีการกำหนดสิทธิหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิตามคำขอตามข้อ ๑๒ แล้ว
ถ้าประสงค์จะขอสละสิทธินั้น ให้คนพิการหรือบุคคลตามข้อ ๕ แล้วแต่กรณี แจ้งความประสงค์สละสิทธินั้นเป็นหนังสือต่อหน่วยงานของรัฐซึ่งกำหนดสิทธิหรือเปลี่ยนแปลงสิทธินั้น
ข้อ ๑๕ ให้เลขาธิการรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจกำหนดแบบบัตรประจำตัว
คนพิการ ตลอดจนแบบเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้ รวมทั้งมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติอื่นใดเพื่อพัฒนารูปแบบและวิธีการจัดทำบัตรประจำตัวคนพิการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ__

ที่มาของข่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก