ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยการกำหนดมาตรฐาน การรับรองและเพิกถอนการรับรององค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการพ.ศ. ๒๕๕๒

วันที่ลงข่าว: 11/07/13

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐาน การรับรองและเพิกถอนการรับรอง
องค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการ
พ.ศ. ๒๕๕๒
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ (๑๐) และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและ
พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับ
การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ จึงกำหนดระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐาน การรับรองและเพิกถอนการรับรององค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปเว้นแต่การยื่นคำขอรับรองตามหมวด ๕ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“มาตรฐาน” หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์และ
ต้องการให้เกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักในการส่งเสริม สนับสนุน รับรอง ติดตามประเมินผลและประกันคุณภาพในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการขององค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
“การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” หมายความว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
การจัดสวัสดิการ การส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิ การสนับสนุนให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป มีส่วนร่วมทางสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพภายใต้สภาพแวดล้อมที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
“องค์กรด้านคนพิการ” หมายความว่า องค์กรของคนพิการ และองค์กรเพื่อคนพิการ
“องค์กรของคนพิการ” หมายความว่า องค์กรที่มีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการเป็นสมาชิก
และเป็นกรรมการบริหารองค์กรไม่น้อยกว่าสองในสามของกรรมการทั้งหมด ตลอดจนมีอำนาจตัดสินใจในการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของคนพิการด้วย
“องค์กรเพื่อคนพิการ” หมายความว่า องค์กรที่มีวัตถุประสงค์หรือกิจการหลักเกี่ยวกับ
การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการและมิใช่หน่วยงานภาครัฐ
“องค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการ” หมายความว่า หน่วยงานของรัฐ องค์กรภาคเอกชน
หรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการตามที่คณะกรรมการกำหนด
“การให้บริการแก่คนพิการ” หมายความว่า การจัดบริการใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริม
และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
“การรับรองมาตรฐาน” หมายความว่า ผลการดำเนินงานขององค์กรด้านคนพิการ
หรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการซึ่งได้รับเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการตามระเบียบนี้
“เครื่องหมาย” หมายความว่า เครื่องหมายยืนยันระดับคุณภาพขององค์กรด้านคนพิการ
หรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการซึ่งได้รับการรับรองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ และมีอายุสามปีนับแต่วันได้รับเครื่องหมายรับรอง
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
แห่งชาติ
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
แห่งชาติ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
ข้อ ๔ ให้เลขาธิการรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจกำหนดแบบฟอร์มและแนวทางในการปฏิบัติตามระเบียบนี้รวมทั้งมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีที่มีปัญหาหรือข้อขัดแย้งในการปฏิบัติตามระเบียบนี้
หมวด ๑
การส่งเสริมและพัฒนามาตรฐาน
ข้อ ๕ ให้มีคณะอนุกรรมการเพื่อกำหนดมาตรฐาน รับรองและเพิกถอนการรับรององค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการ จำนวนสองคณะ ได้แก่
(๑) คณะอนุกรรมการพัฒนามาตรฐานองค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการ ประกอบด้วยเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติเป็นประธาน อนุกรรมการ รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติเป็นรองประธานอนุกรรมการ ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการและผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติเป็นอนุกรรมการ และอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากผู้แทนสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยผู้แทนมูลนิธิช่วยคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ผู้แทนมูลนิธิธรรมมิกชนเพื่อคนตาบอดในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้แทนสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) ผู้แทนสมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต ผู้แทนมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ผู้แทนสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยและผู้แทนมูลนิธิอนุเคราะห์
คนหูหนวกในพระราชินูปถัมภ์เป็นอนุกรรมการ โดยให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และมอบหมายให้ข้าราชการในสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
(๒) คณะอนุกรรมการรับรองมาตรฐานองค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการ ประกอบด้วยรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะอนุกรรมการตาม (๑) เสนอให้คณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้มีความรู้และประสบการณ์รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญในสาขากฎหมายการเงินการบัญชี การบริหารองค์การ การพัฒนามาตรฐานองค์การ การวิจัยและประเมินผล และการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการแพทย์ การศึกษาการส่งเสริมอาชีพ การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะ การจัดบริการสวัสดิการสังคม ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับคนพิการ ในจำนวนนี้ต้องมีผู้ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการอย่างน้อยหนึ่งคน และมีผู้แทนจากภาคเอกชนอย่างน้อยสองคนเป็นอนุกรรมการและให้เลขาธิการเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานจำนวนสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๖ ให้นำความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๑ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาบังคับใช้กับวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ ๕ (๑) และ (๒) โดยอนุโลม และนำความมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการโดยอนุโลม
ข้อ ๗ ให้คณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ (๑) มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดมาตรฐานรวมทั้งกำหนดเครื่องหมายเพื่อเสนอต่อ
คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ
(๒) ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรต่าง ๆ ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานตามระเบียบนี้
(๓) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ข้อ ๘ ให้คณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ (๒) มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑) กำหนดเครื่องมือ แบบเอกสาร ขั้นตอนและวิธีการตลอดจนเกณฑ์การให้คะแนนในการยื่นคำขอรับรองมาตรฐานตามระเบียบนี้
(๒) กำหนดแนวทางและให้การรับรองหรือเพิกถอนการรับรององค์กรด้านคนพิการ
และองค์กรอื่นที่ให้บริการแก่คนพิการตามระเบียบนี้
(๓) ให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการแต่งตั้งบุคคลหรือองค์กรเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจ
ประเมินผลหรือแต่งตั้งผู้ที่ทำหน้าที่ทบทวนผลการประเมิน
(๔) ให้คำแนะนำแก่องค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐานและจะกำหนดเงื่อนไขอื่นเพื่อให้องค์กรที่ยื่นคำขอรับรองมาตรฐานได้ปรับปรุงเพื่อให้ผ่านมาตรฐานตามที่กำหนดก็ได้
(๕) ติดตามประเมินผลการให้การรับรองเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้
(๖) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ข้อ ๙ ให้สำนักงานทำหน้าที่ศึกษา เสนอความเห็นเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐาน
การส่งเสริม และพัฒนามาตรฐานให้แก่องค์กรด้านคนพิการหรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการรวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรต่าง ๆ ได้เข้ารับการรับรองมาตรฐานตลอดจนกำกับดูแลให้องค์กรที่ได้รับการรับรองรักษามาตรฐานตามที่กำหนด
ข้อ ๑๐ ให้สำนักงานขอตั้งงบประมาณประจำปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการ
ตามระเบียบนี้
หมวด ๒
มาตรฐานองค์กรของคนพิการ
ข้อ ๑๑ ให้องค์กรของคนพิการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยคำนึงถึงหลักคุณธรรม การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส ความรับผิดชอบและคุ้มค่า
ข้อ ๑๒ ในการกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติขององค์กรต้องไม่มีลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ
ข้อ ๑๓ ให้องค์กรของคนพิการ ต้องมีการบริหารงาน การให้บริการ และคุณภาพของการให้บริการแก่คนพิการ ดังต่อไปนี้
(๑) การบริหารงาน ต้องมีคณะกรรมการบริหาร มีกฎระเบียบหรือข้อบังคับชัดเจนและสามารถบังคับใช้ และมีการบริหารจัดการซึ่งต้องมีการบริหารงบประมาณ ระบบการเงินการบัญชีการพัฒนาบุคลากร มีการรับสมัครสมาชิกใหม่และเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วม มีการแจ้งข้อมูลข่าวสาร มีการร่วมงานกับเครือข่ายอื่น ๆ มีการประชาสัมพันธ์ และมีความสามารถในการระดมทุนและทรัพยากร
(๒) การให้บริการ ต้องมีการให้บริการแก่คนพิการ มีระบบการรับเข้า และการลงทะเบียนผู้รับบริการและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวก มีการติดตามและประเมินผล และมีบุคลากรหรืออาสาสมัครหรือที่ปรึกษาในการให้บริการ
(๓) คุณภาพการให้บริการ ต้องมีการให้บริการที่มีคุณภาพโดยได้รับการยอมรับจากสมาชิกหรือเป็นประโยชน์ต่อสังคม มีผู้นำที่มีความสามารถในการนำองค์กร มีกิจกรรมเพื่อคุ้มครองสิทธิคนพิการ ไม่เก็บค่าบริการหรือเก็บในอัตราที่สมเหตุสมผล มีระบบการประสานงานและส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หมวด ๓
มาตรฐานองค์กรเพื่อคนพิการ
ข้อ ๑๔ องค์กรเพื่อคนพิการ ต้องมีลักษณะการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามข้อ ๑๑ และข้อ ๑๒
ข้อ ๑๕ ให้องค์กรเพื่อคนพิการ ต้องมีการบริหารงาน การให้บริการ และคุณภาพ
การให้บริการแก่คนพิการ ดังต่อไปนี้
 (๑) การบริหารงาน ต้องมีคณะกรรมการบริหาร มีกฎระเบียบหรือข้อบังคับชัดเจน
และสามารถบังคับใช้ และมีการบริหารจัดการซึ่งต้องมีการบริหารงบประมาณ ระบบการเงินการบัญชีการพัฒนาบุคลากร มีการเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการมีส่วนร่วม มีการแจ้งข้อมูลข่าวสาร มีการร่วมงานกับเครือข่ายอื่น ๆ มีการประชาสัมพันธ์ และมีความสามารถในการระดมทุนและทรัพยากร
(๒) การให้บริการ ต้องมีการให้บริการแก่คนพิการ มีระบบการรับเข้าและการลงทะเบียนผู้รับบริการและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวก มีการติดตามและประเมินผล และมีบุคลากรที่ให้บริการ
(๓) คุณภาพการให้บริการ ต้องมีการให้บริการที่มีคุณภาพโดยได้รับการยอมรับจาก
ผู้รับบริการหรือเป็นประโยชน์ต่อสังคม มีผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ประกอบวิชาชีพที่มีทักษะการบริการการคุ้มครองสิทธิผู้รับบริการ ไม่เก็บค่าบริการหรือเก็บในอัตราที่สมเหตุสมผล มีระบบ
การประสานงานและส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หมวด ๔
มาตรฐานขององค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการ
ข้อ ๑๖ องค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการ ต้องลักษณะการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามข้อ ๑๑ และข้อ ๑๒
ข้อ ๑๗ ให้องค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการ ต้องมีการบริหารงาน การให้บริการ
และคุณภาพการให้บริการ ดังต่อไปนี้
(๑) การบริหารงาน ต้องมีการกำหนดโครงสร้างและการบริหารจัดการ ยุทธศาสตร์
แผนงานโครงการ บุคลากร หรืองบประมาณด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการไว้เป็นการเฉพาะ รวมทั้งมีข้อมูลสารสนเทศและการประชาสัมพันธ์ อาคารสถานที่ เครื่องมืออุปกรณ์หรือได้มีการจัดสภาพแวดล้อมที่คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
(๒) การให้บริการ ต้องมีการกำหนดรูปแบบและวิธีการในการให้บริการแก่คนพิการ
มีวิธีการให้บริการที่ชัดเจน มีการติดตามประเมินผลการให้บริการ รวมทั้งมีกิจกรรมด้านการส่งเสริมและสนับสนุนคนพิการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
(๓) คุณภาพการให้บริการ ต้องมีการให้บริการที่มีคุณภาพ รวดเร็ว ต่อเนื่องและ
ทันสถานการณ์ ตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของคนพิการ และมีความพึงพอใจจากผู้รับบริการ
หมวด ๕
การยื่นคำขอรับรอง
ข้อ ๑๘ องค์กรของคนพิการ องค์กรเพื่อคนพิการ หรือองค์กรอื่นใดที่ให้บริการแก่คนพิการที่ปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้กำ หนดไว้ในระเบียบนี้ อาจยื่นคำ ขอรับรอง
ต่อคณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ (๒) ได้
ข้อ ๑๙ การยื่นคำขอรับรองตามข้อ ๑๘ ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครให้ยื่นคำขอ
ที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ในเขตท้องที่จังหวัดอื่นให้ยื่นคำขอที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดแห่งท้องที่ที่องค์กรนั้นตั้งอยู่
ให้สำนักงานที่รับคำขอตามวรรคหนึ่ง ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติงานขององค์กรและตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารแล้วส่งคำขอพร้อมความเห็นให้คณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ (๒)ภายในสามสิบวัน
 
ข้อ ๒๐ ให้เลขาธิการเสนอคณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ (๒) เพื่อแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ภายในสำนักงานหรือบุคคลหรือองค์กรภายนอก หรือสถาบันการศึกษาตลอดจนหน่วยงานอื่นซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการตรวจประเมินองค์กรที่ได้ยื่นคำขอรับรองรวมทั้งเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ (๒)
การปฏิบัติหน้าที่ของบุคคล องค์กร สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานตามวรรคหนึ่ง
อาจได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบของทางราชการ หรือค่าตอบแทนอื่นตามที่เลขาธิการกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
ข้อ ๒๑ ในกรณีองค์กรที่ยื่นคำขอรับรองมาตรฐานตามระเบียบนี้เคยได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม หรือตามกฎหมายอื่น มาแล้วไม่เกินหนึ่งปี ให้สำนักงานเป็นผู้ตรวจประเมินเฉพาะเอกสารแล้วเสนอให้คณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ (๒)พิจารณาให้การรับรองมาตรฐานก็ได้
ข้อ ๒๒ เมื่อองค์กรใดได้รับการรับรองมาตรฐานจากคณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ (๒)
แล้วให้เลขาธิการออกเครื่องหมายรับรองมาตรฐานให้แก่องค์กรนั้น และให้สำนักงานเผยแพร่
ต่อสาธารณชนต่อไปองค์กรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิได้รับการส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการ การพัฒนาบุคลากร การยกย่องเชิดชูเกียรติ และการสนับสนุนอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
ข้อ ๒๓ กรณีองค์กรที่ยื่นคำขอรับรองมาตรฐานตามระเบียบนี้แล้วแต่คณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ (๒) พิจารณาแล้วเห็นว่าผลงานขององค์กรยังไม่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดให้คณะอนุกรรมการดังกล่าวอาจจัดทำข้อเสนอแนะเป็นหนังสือแก่องค์กรนั้นเพื่อนำไปปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดก่อนพิจารณาให้การรับรองใหม่ก็ได้
ข้อ ๒๔ กรณีการรับรองมาตรฐานขององค์กรใดหมดอายุ หรือกรณีไม่ได้รับการรับรองหรือถูกเพิกถอนการรับรองตามระเบียบนี้ ให้องค์กรนั้นยื่นคำขอรับรองใหม่ตามระเบียบนี้ได้
หมวด ๖
การเพิกถอนการรับรอง
ข้อ ๒๕ กรณีปรากฏข้อเท็จจริงว่าองค์กรใดซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานในข้อหนึ่งข้อใดหรือหลายข้อตามที่ได้รับการรับรอง ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลเสียหายต่อคนพิการหรือจะส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการลดลง และเลขาธิการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายได้ให้คำแนะนำและตักเตือนเป็นหนังสือเพื่อให้ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว หากองค์กรนั้นยังไม่แก้ไขโดยไม่มีเหตุอันควร ให้เลขาธิการเสนอคณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ (๒) พิจารณาเพิกถอนการรับรองมาตรฐานขององค์กรนั้นได้
ข้อ ๒๖ ให้เลขาธิการแจ้งผลการเพิกถอนการรับรองมาตรฐานขององค์กรเป็นหนังสือแก่หน่วยงานที่รับคำขอรับรองเพื่อแจ้งให้องค์กรและผู้เกี่ยวข้องทราบต่อไป
ข้อ ๒๗ กรณีองค์กรแห่งใดถูกเพิกถอนการรับรองตามระเบียบนี้ ห้ามมิให้ยื่นคำขอรับรองมาตรฐานภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอนการรับรอง ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิที่จะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนามาตรฐานโดยสำนักงานตามระเบียบนี้ต่อไปได้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ__

ที่มาของข่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก