ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการพ.ศ. ๒๕๕๒

วันที่ลงข่าว: 11/07/13

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ
พ.ศ. ๒๕๕๒
 
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ และมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนา
คุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติจึงกำหนดระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒ ”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“การให้สัมปทาน” หมายความว่า การให้สิทธิแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการครอบครอง
หรือใช้ประโยชน์จากทรัพยากรหรือทรัพย์สินใด ๆ เพื่อให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ
“การจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ” หมายความว่า การจัดสถานที่บริเวณองค์กรหรือ
ภายนอกองค์กรเพื่อให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ
“การจัดจ้างเหมาช่วงงาน” หมายความว่า การให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้ทำสัญญา
กับหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ โดยรับจะดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของงานใดในความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นเพื่อประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นและหมายความรวมถึงการให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการทำสัญญากับผู้รับเหมาช่วงงานของหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ เพื่อรับช่วงงานในความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการด้วย
“การฝึกงาน” หมายความว่า กระบวนการเพิ่มความรู้ ทักษะและประสบการณ์ที่เป็น
ประโยชน์แก่การประกอบอาชีพ
 “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น
และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
แห่งชาติ
“คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมการส่งเสริมอาชีพคนพิการซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้ง
ข้อ ๔ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำ งานตามมาตรา ๓๓
แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา ๓๓ และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนตามมาตรา ๓๔ ให้แจ้งความจำนงต่อปลัดกระทรวงแรงงานหรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงแรงงานหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อจัดให้มีการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการตามระเบียบนี้
ข้อ ๕ การให้สัมปทานต้องมีระยะเวลาดำเนินงานไม่น้อยกว่าหนึ่งปี โดยดำเนินการได้ดังต่อไปนี้
(๑) การให้ครอบครองทรัพย์สินของหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถาน
ประกอบการเพื่อให้คนพิการได้ใช้เป็นสถานที่ในการประกอบอาชีพหรือจำหน่ายสินค้าหรือบริการเช่น การติดตั้งเครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติ เครื่องจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องถ่ายเอกสาร
(๒) ให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการจำหน่ายสินค้าหรือบริการซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ
(๓) มอบวัสดุอุปกรณ์ที่หน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมิได้ใช้ประโยชน์เพื่อให้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้หาประโยชน์จากวัสดุอุปกรณ์นั้น
(๔) การจัดสรรคลื่นความถี่ หรือเวลาออกอากาศของสถานีวิทยุ หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์ซึ่งอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่ประชาชนสามารถรับฟังหรือรับชมได้อย่างแพร่หลายเพื่อหาประโยชน์ต่อไป
(๕) การให้สัมปทานในเรื่องอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
มูลค่าตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่น้อยกว่าปีละอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่นั้น คูณด้วยสามร้อยหกสิบห้าต่อคนพิการหนึ่งคนที่ต้องรับเข้าทำงานการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ในกรณีมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ให้ดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ข้อ ๖ การจัดให้มีสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) สถานที่ตั้งให้อยู่ในสถานที่เห็นได้ง่าย สะดวกต่อการซื้อสินค้าหรือบริการ
(๒) มีสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกที่คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
(๓) สถานที่ต้องมั่นคงแข็งแรง ปลอดภัย
(๔) ได้รับการยกเว้นค่าเช่าพื้นที่
(๕) มีระยะเวลาดำเนินงานไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
มูลค่าตามวรรคหนึ่ง ให้คำนวณจากอัตราค่าเช่าพื้นที่รวมกับค่าใช้จ่ายตามที่คณะอนุกรรมการ
กำหนด และต้องไม่น้อยกว่าปีละอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในท้องที่นั้นคูณด้วยสามร้อยหกสิบห้าต่อคนพิการหนึ่งคนที่ต้องรับเข้าทำงาน
ข้อ ๗ การจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือให้การช่วยเหลืออื่นใด โดยจัดให้มีการทำสัญญาเพื่อให้คนพิการได้มีอาชีพและมีระยะเวลาดำเนินงานไม่น้อยกว่าหกเดือน และให้หมายความรวมถึงการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
(ก) หน่วยงานของรัฐ
(๑) สั่งซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากคนพิการโดยวิธีกรณีพิเศษ
(๒) ขายสินค้า หรือจัดจ้างเหมาบริการให้คนพิการโดยวิธีกรณีพิเศษ
(๓) ให้วัสดุอุปกรณ์ที่หมดความจำเป็นแก่คนพิการตามความจำเป็น
ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมาย ระเบียบของทางราชการว่าด้วยการนั้น
(ข) นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ
(๑) สั่งซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากคนพิการ
(๒) ขายสินค้า หรือจัดจ้างเหมาบริการที่ได้มาตรฐานตามที่คณะอนุกรรมการกำหนด
(๓) อนุญาตให้ใช้สิทธิเครื่องหมายการค้า วัสดุอุปกรณ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาตาม
ระยะเวลาที่คณะอนุกรรมการกำหนดมูลค่าการจัดจ้างเหมาช่วงงานตาม (ก) และ (ข) ต้องไม่น้อยกว่าห้าเท่าของอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในท้องที่นั้นคูณด้วยสามร้อยหกสิบห้าต่อคนพิการหนึ่งคนที่ต้องรับเข้าทำงาน
ข้อ ๘ การฝึกงานแก่คนพิการ มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ต้องมีการถ่ายทอดวิทยาการ เทคโนโลยี กระบวนการผลิต หรือองค์ความรู้ขององค์กรให้แก่คนพิการ
(๒) หลักสูตรในการฝึกงานต้องเสนอต่อปลัดกระทรวงแรงงานหรือผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงแรงงานหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ
 (๓) ต้องรับผิดชอบในการจัดสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ เอกสาร วิทยากร เบี้ยเลี้ยงคนพิการที่ฝึกงานให้เป็นไปตามอัตราที่คณะอนุกรรมการกำหนด โดยมิให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ จากคนพิการ
(๔) มีระยะเวลาฝึกงานไม่น้อยกว่าหกเดือน
มูลค่าการฝึกงานตามวรรคหนึ่ง ต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่าปีละอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในท้องที่นั้นคูณ
ด้วยสามร้อยหกสิบห้าต่อคนพิการที่ต้องรับเข้าทำงาน
ข้อ ๙ ให้คณะอนุกรรมการ ประกอบด้วย
(๑) ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานอนุกรรมการ
(๒) ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ผู้แทนกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นอนุกรรมการ
(๓) ผู้แทนองค์การคนพิการแต่ละประเภท จำนวนเจ็ดคน ซึ่งสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยเสนอเป็นอนุกรรมการ
(๔) ผู้แทนสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทยผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นอนุกรรมการ
(๕) ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านการส่งเสริมอาชีพคนพิการ จำนวนสองคนเป็นอนุกรรมการอธิบดีกรมการจัดหางาน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เป็นอนุกรรมการ
และผู้ช่วยเลขานุการอธิบดีกรมการจัดหางานแต่งตั้งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๑๐ ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๗ มาตรา ๘ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๑ วรรคสาม
แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการตามข้อ ๙ (๓) (๔) และ (๕) และให้นำความมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการ โดยอนุโลม
ข้อ ๑๑ ให้คณะอนุกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑) ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการเพิ่มเติมจากที่กำหนดในระเบียบนี้
 (๒) กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐและนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการปฏิบัติตามระเบียบที่ออกตามความในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐
(๓) ส่งเสริมให้มีการกระจายความช่วยเหลือคนพิการและผู้ดูแลคนพิการซึ่งหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเป็นผู้ให้การสนับสนุนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
(๔) พิจารณาถึงความเหมาะสมของความช่วยเหลือตามระเบียบนี้
(๕) จัดทำรายงานประจำปีการให้ความช่วยเหลือคนพิการทางด้านอาชีพ หรือความช่วยเหลือคนพิการและผู้ดูแลคนพิการซึ่งหน่วยงานของรัฐและนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการเป็นผู้สนับสนุน
(๖) ขอให้หน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นต่อคณะอนุกรรมการ หรือส่งเอกสารพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณา
(๗) พิจารณาเสนอคณะกรรมการเพื่อให้ประกาศเกียรติคุณ หรือสนับสนุน สินเชื่อ รางวัลเสนอขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใด ให้แก่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ให้ความช่วยเหลือคนพิการทางด้านอาชีพ
(๘) รายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการทราบปีละครั้ง
(๙) ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรของคนพิการและองค์กรเพื่อคนพิการตลอดจนหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติการตามระเบียบนี้
(๑๐) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
ข้อ ๑๒ ให้ปลัดกระทรวงแรงงาน หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมาย
จากปลัดกระทรวงแรงงานหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณีทำหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รับขึ้นทะเบียนคนพิการที่ขอรับการส่งเสริมอาชีพ
(๒) รับขึ้นทะเบียนหน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ประสงค์จะดำเนินการตามระเบียบนี้
(๓) ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมูลค่าของการให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าและบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่หน่วยงานของรัฐ หรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการแห่งนั้นต้องรับผิดชอบ
(๔) แจ้งให้องค์การของคนพิการหรือองค์การอื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการเข้ารับความช่วยเหลือทราบ
ข้อ ๑๓ ให้คนพิการที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือตามระเบียบนี้ ยื่นความประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐตามข้อ ๑๒ ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิที่จะขอรับความช่วยเหลือโดยตรงจากหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการการขอรับความช่วยเหลือตามวรรคหนึ่ง ให้คนพิการดำเนินการยื่นคำขอด้วยตนเอง
ในกรณีที่คนพิการเป็นผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือคนไร้ความสามารถ หรือใน
กรณีที่คนพิการมีสภาพความพิการถึงขั้นไม่สามารถไปยื่นคำขอด้วยตนเองได้ ให้ผู้ดูแลคนพิการยื่นคำขอเพื่อขอรับความช่วยเหลือแทนคนพิการได้ แต่ต้องนำหลักฐานว่าเป็นผู้ดูแลคนพิการไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วยการยื่นคำขอรับความช่วยเหลือตามวรรคหนึ่ง คนพิการอาจดำเนินการในรูปแบบการรวมกลุ่มประกอบอาชีพตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะอนุกรรมการประกาศกำหนดก็ได้
ข้อ ๑๔ เมื่อหน่วยงานของรัฐหรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ได้ดำเนินการช่วยเหลือคนพิการตามระเบียบนี้แล้ว ให้ส่งเอกสารผลการดำเนินงาน หรือสัญญาที่เกี่ยวข้องตามแบบที่ปลัดกระทรวงแรงงานกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตามข้อ ๑๒ ภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อแจ้งให้กองทุนได้ทราบและหักออกจากจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการแห่งนั้นค้างหนี้กองทุนที่ต้องชำระเนื่องจากไม่รับคนพิการเข้าทำงานต่อไป
ข้อ ๑๕ ให้ปลัดกระทรวงแรงงานและปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง
ของมนุษย์รักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติตลอดจนกำหนดแบบเอกสารต่าง ๆในส่วนที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงนั้น เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้
กรณีมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งในการปฏิบัติการตามระเบียบนี้ ให้ผู้รักษาการตามวรรคหนึ่ง
เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในส่วนที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวงนั้น
ประกาศ ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ__

ที่มาของข่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก