ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการร้องขอ และการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการพ.ศ. ๒๕๕๒

วันที่ลงข่าว: 11/07/13

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการร้องขอ และการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำในลักษณะ
ที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ
พ.ศ. ๒๕๕๒
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนา
คุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติจึงกำหนดระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการร้องขอ และการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“การเลือกปฏิบัติ” หมายความว่า การกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการ โครงการ
หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ และให้หมายความรวมถึงการกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดที่กระทบต่อคนพิการแม้จะไม่มีจุดมุ่งหมายเป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการโดยตรง แต่ผลของการกระทำนั้นทำให้คนพิการต้องเสียสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับเพราะเหตุแห่งความพิการด้วย
“คู่กรณี” หมายความว่า คนพิการซึ่งทำการร้องขอและผู้ถูกร้องที่เป็นหน่วยงานของรัฐ
องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติ
“การร้องขอ” หมายความว่า การที่คนพิการซึ่งได้รับหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติได้นำเสนอข้อเท็จจริงโดยทำเป็นคำร้องเพื่อให้คณะกรรมการได้มีคำสั่งเพิกถอนการกระทำหรือห้ามมิให้กระทำการนั้นได้
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ
ความมั่นคงของมนุษย์แต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพ.ศ. ๒๕๕๐
 “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
แห่งชาติ
“คณะอนุกรรมการ” หมายความว่า คณะอนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ต่อคนพิการ
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
แห่งชาติ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
ข้อ ๔ ให้เลขาธิการรักษาการตามระเบียบนี้และมีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติตลอดจนกำหนดแบบเอกสารต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้
หมวด ๑
คณะอนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ
ข้อ ๕ ให้มีคณะอนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ
ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้ง ประกอบด้วย
(๑) ประธานอนุกรรมการ
(๒) ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข เป็นอนุกรรมการ
(๓) อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากบุคคลที่องค์การคนพิการแต่ละประเภทเสนอจำนวนเจ็ดคน
(๔) อนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นซึ่งแต่งตั้งจากบุคคลที่มิได้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของ (๒)และไม่ได้เป็นกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของ (๓) จำนวนเจ็ดคน
การแต่งตั้งอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๓) และ (๔) ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้
ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการงานด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ การศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดินการจัดการความขัดแย้ง สิทธิมนุษยชน การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการด้านอาชีพหรือสวัสดิการสังคมในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นอนุกรรมการให้เลขาธิการเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
 
 
ข้อ ๖ ให้ประธานอนุกรรมการมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นผู้แทนของคณะอนุกรรมการในการติดต่อประสานเพื่อขับเคลื่อนการขจัด
การเลือกปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง
(๒) ศึกษาวิเคราะห์และทำความเห็นเสนอคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการสั่งรับการร้องขอไว้พิจารณาหรือไม่
(๓) ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรวบรวมข้อเท็จจริงและการจัดทำร่างการวินิจฉัยเพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการ
(๔) ศึกษาวิเคราะห์สาเหตุแห่งการร้องขอ แนวนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ วิธีปฏิบัติเพื่อเสนอแนะแนวทางการขจัดการเลือกปฏิบัติเพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการ
(๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการหรือตามที่กฎหมายกำหนด
ข้อ ๗ ในกรณีคณะกรรมการประกาศกำหนดให้ประธานอนุกรรมการต้องปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบนี้และทำงานเต็มเวลา ให้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทน สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม การดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และอัตราค่าตอบแทน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการสรรหาประธานอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประกาศกำหนดให้
สำนักงานจัดให้มีระบบงาน สถานที่ บุคลากร งบประมาณหรือวัสดุอุปกรณ์รองรับการปฏิบัติหน้าที่ของประธานอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง และขอตั้งงบประมาณประจำปีหรือขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นของประธานอนุกรรมการตามวรรคสอง
เมื่อมีการสรรหาและแต่งตั้งประธานอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ประธานอนุกรรมการ
ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามข้อ ๕ (๑) พ้นจากหน้าที่
ข้อ ๘ ให้นำความตามมาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริม
และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาบังคับใช้กับวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และนำความตามมาตรา ๑๐ มาใช้บังคับกับการประชุมของคณะอนุกรรมการ โดยอนุโลม
ข้อ ๙ ให้คณะอนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแนะนโยบาย แนวทางและมาตรการเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติ
(๒) เสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิต่าง ๆ ที่คนพิการพึงได้รับอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไปตามกฎหมาย
(๓) ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทก่อนมีการวินิจฉัยการร้องขอ รวมทั้งไกล่เกลี่ยในกรณีดำเนินการในระดับหน่วยงานหรือจังหวัดแล้วแต่ไม่สำเร็จ และอาจแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ยปฏิบัติหน้าที่แทนก็ได้
(๔) รวบรวมข้อเท็จจริงและจัดทำการวินิจฉัยในกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดกระทำการซึ่งมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติแล้วเสนอการวินิจฉัยนั้นต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยและมีคำสั่งชี้ขาดในกรณีพิพาทนั้น และอาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับผิดชอบสำนวนเพื่อดำเนินการแทนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ได้
(๕) ประกาศกำหนดแบบคำร้องขอ สัญญาประนีประนอม หรือวิธีปฏิบัติอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้
(๖) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
หมวด ๒
การร้องขอ
ข้อ ๑๐ ผู้มีสิทธิร้องขอ ได้แก่
(๑) คนพิการที่ได้รับความเสียหายหรือจะได้รับความเสียหายจากการกระทำที่มีลักษณะการเลือกปฏิบัติ หรือ
(๒) ผู้ดูแลคนพิการในกรณีคนพิการเป็นผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือ
คนไร้ความสามารถหรือในกรณีที่คนพิการมีสภาพความพิการถึงขั้นไม่สามารถไปร้องขอด้วยตนเองได้หรือ
(๓) องค์กรด้านคนพิการหรือบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการให้ดำเนินการร้องขอแทน
ข้อ ๑๑ ให้บุคคลตามข้อ ๑๐ ร้องขอเป็นหนังสือหรือส่งทางไปรษณีย์หรือด้วยวาจา
หรือด้วยวิธีการอื่นใดเพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการวินิจฉัยและมีคำสั่งตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ โดย
(๑) ในกรุงเทพมหานคร ให้ร้องขอต่อสำนักงานหรือหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการประกาศกำหนด หรือหน่วยงานอื่นตามที่เลขาธิการประกาศกำหนด
 (๒) ในจังหวัดอื่นให้ร้องขอต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหรือหน่วยงานอื่นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด
ข้อ ๑๒ เมื่อได้รับการร้องขอตามข้อ ๑๑ แล้ว ให้หน่วยงานซึ่งรับการร้องขอดำเนินการรับเรื่องลงสารบบตามประเภทของข้อพิพาทและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงพร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อหัวหน้าหน่วยงานส่งเรื่องให้จังหวัดเพื่อเสนอคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัดหรือคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำ กรุงเทพมหานครดำ เนินการรวบรวมข้อเท็จจริงภายในสามสิบวัน เพื่อนำ เสนอต่อคณะอนุกรรมการต่อไป
ข้อ ๑๓ ให้คณะอนุกรรมการดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงพร้อมสรุปความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการโดยเร็ว แต่ต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีชี้แจงเป็นหนังสือและแสดงพยานหลักฐานประกอบคำชี้แจงของตนตามควรแก่กรณี เว้นแต่เป็นกรณีที่คณะอนุกรรมการอนุญาตให้ชี้แจงด้วยวาจาต่อหน้าคณะอนุกรรมการ หรือวิธีการอื่นใดการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะอนุกรรมการอาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับผิดชอบสำนวนดำเนินการตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามความเหมาะสมเพื่อเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นต่อคณะอนุกรรมการ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการจะรับฟังพยานหลักฐานอื่นนอกจากข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานของคู่กรณีได้ตามที่เห็นสมควรกรณีบุคคลที่เชิญมาให้ถ้อยคำแต่ไม่ยอมมาโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐บุคคลที่คณะอนุกรรมการเชิญมาให้ข้อเท็จจริงหรือถูกเรียกมาให้ข้อเท็จจริงหรือเป็นผู้ให้
ความเห็นตามข้อนี้ มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายอื่นตามอัตราที่เลขาธิการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
ข้อ ๑๔ ในการรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาการร้องขอ จะต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้แสดงพยานหลักฐานของฝ่ายตนภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าคู่กรณีมิได้ปฏิบัติภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าคู่กรณีที่ไม่ได้แสดงพยานหลักฐานนั้น หรือไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนหรือยอมรับข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วแต่กรณี ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำการวินิจฉัยหรือจะพิจารณารวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไปก็ได้
 
 
ข้อ ๑๕ ในกรณีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำ จังหวัดหรือคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ประจำกรุงเทพมหานคร หรือคณะอนุกรรมการเห็นว่าในระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริง ถ้าจัดให้มีการประนีประนอมกันแล้วจะทำให้ข้อพิพาทระงับโดยเร็ว ให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการไกล่เกลี่ยโดยเร็ว ทั้งนี้ อาจจัดให้มีคณะบุคคลทำการไกล่เกลี่ยก็ได้
หมวด ๓
การวินิจฉัยการร้องขอ
ข้อ ๑๖ การวินิจฉัยและการออกคำสั่งชี้ขาดของคณะกรรมการอย่างน้อยต้องมีรายการ
ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อผู้ร้องขอ
(๒) หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดที่เป็นเหตุแห่งการร้องขอ
(๓) เหตุแห่งการร้องขอ
(๔) ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องที่มีการร้องขอ
(๕) เหตุผลแห่งการวินิจฉัยและการออกคำสั่ง
(๖) การวินิจฉัยและการออกคำสั่งในประเด็นแห่งการร้องขอ
(๗) คำสั่งให้หยุดการกระทำหรือกระทำการให้เหมาะสม (ถ้ามี)
ในกรณีกรรมการคนใดไม่เห็นด้วยกับการวินิจฉัยและการออกคำสั่งให้บันทึกเหตุผล
แนบไปกับการวินิจฉัยและการออกคำสั่งนั้นด้วยคำสั่งของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด
ข้อ ๑๗ ก่อนคณะกรรมการจะมีการวินิจฉัยและการออกคำ สั่งอาจมอบหมาย
ให้คณะอนุกรรมการหรือสำนักงานหรือหน่วยงานของรัฐอื่นหรือบุคคลอื่นใดดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริงหรือไกล่เกลี่ยอีกก็ได้เมื่อคณะกรรมการได้มีการวินิจฉัยและออกคำสั่งแล้ว ให้สำนักงานเสนอการวินิจฉัยและคำสั่งต่อประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติหรือบุคคลที่ประธานกรรมการมอบหมายเพื่อพิจารณาลงนามในการวินิจฉัยและคำสั่งแล้วแจ้งให้คู่กรณีทราบต่อไป
ข้อ ๑๘ ให้สำนักงานมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) รับผิดชอบในงานเลขานุการของคณะอนุกรรมการ
(๒) ดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณาการร้องขอตามหมวด ๒
(๓) ศึกษาและรวบรวมข้อเท็จจริงพร้อมทั้งจัดทำร่างการวินิจฉัยและการออกคำสั่งเพื่อเสนอต่อประธานอนุกรรมการ
 (๔) วิเคราะห์เหตุแห่งการร้องขอเพื่อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงวิธีปฏิบัติราชการของหน่วยงานของรัฐหรือวิธีปฏิบัติขององค์กรเอกชนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
(๕) ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมอบหมาย
 
ประกาศ ณ วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ__

ที่มาของข่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก