ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอายัดทรัพย์สินของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ พ.ศ. ๒๕๕๒

วันที่ลงข่าว: 11/07/13

ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอายัดทรัพย์สินของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ
ที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามพระราชบัญญัติ
ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐
พ.ศ. ๒๕๕๒
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๖ วรรคสาม และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริม
และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับ
การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓
ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติ
แห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงกำหนดระเบียบ
ปฏิบัติไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอายัดทรัพย์สินของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงิน
เข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
คนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ พ.ศ. ๒๕๕๒”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“การอายัด” หมายความว่า การสั่งให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงิน
เข้ากองทุนและหรือบุคคลภายนอกมิให้จำหน่าย จ่าย โอน หรือทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน
หรือสิทธิเรียกร้องที่ได้สั่งอายัดไว้ รวมตลอดถึงการสั่งให้บุคคลภายนอกมิให้นำส่งทรัพย์สิน หรือชำระหนี้
แก่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุน
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติส่งเสริม
และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐
ข้อ ๔ ให้เลขาธิการรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาและกำหนด
แบบเอกสารตลอดจนวิธีปฏิบัติเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
หมวด ๑
การตรวจสอบทรัพย์สิน
ข้อ ๕ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวน
ที่กำหนดตามมาตรา ๓๓ และไม่ได้ส่งเงินเข้ากองทุน หรือนำส่งเงินล่าช้า หรือส่งเงินไม่ครบถ้วน
ตามมาตรา ๓๔ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดมูลหนี้ที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการต้องชำระ
และเป็นหนี้ที่ยังไม่ขาดอายุความ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอความเห็นต่อเลขาธิการเพื่อส่งคำเตือน
พร้อมเหตุผลเป็นหนังสือโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้นายจ้างหรือเจ้าของสถาน
ประกอบการนำเงินส่งเข้ากองทุนภายในเวลากำหนดแต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน นับแต่วันที่นายจ้าง
หรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนได้รับหนังสือดังกล่าว
ข้อ ๖ เมื่อนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่ส่งเงินตามข้อ ๕ ให้พนักงาน
เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน รวมทั้งสิทธิเรียกร้องของนายจ้างหรือเจ้าของสถาน
ประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนและทรัพย์สินซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นของนายจ้างหรือเจ้าของ
สถานประกอบการไม่ส่งเงินเข้ากองทุน ได้แก่ ทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครองอำนาจสั่งการหรือ
สั่งจำหน่ายในทางการค้าหรือธุรกิจของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุน
เมื่อดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เสนอความเห็นเกี่ยวกับรายการ
ทรัพย์สินที่สมควรอายัดต่อเลขาธิการเพื่อพิจารณาออกคำสั่งเป็นหนังสือให้อายัดทรัพย์สิน
ข้อ ๗ ในกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่สมควรมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายจ้างหรือ
เจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนให้บันทึกข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ทั้งปวง พร้อมทั้ง
ความเห็นเสนอเลขาธิการเพื่อพิจารณาต่อไป
หมวด ๒
การอายัดทรัพย์สิน
ข้อ ๘ ทรัพย์สินของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ให้อายัด ได้แก่
(๑) สังหาริมทรัพย์อันมีรูปร่างและต้องไม่เป็นสิ่งของที่เน่าเสียง่าย
(๒) อสังหาริมทรัพย์
 (๓) สิทธิทั้งปวงอันมีอยู่ในทรัพย์สิน
(๔) เงินที่บุคคลภายนอกจะต้องชำระให้แก่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงิน
เข้ากองทุน
ข้อ ๙ ทรัพย์สินของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการตามมาตรา ๒๘๕
แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่อยู่ในบังคับแห่งระเบียบนี้
ข้อ ๑๐ เมื่อเลขาธิการมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ
ที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนหรือผู้ใดแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายดำเนินการอายัดทรัพย์สิน
ดังกล่าวโดยไม่ชักช้า แล้วดำเนินการออกประกาศอายัดทรัพย์สินนั้นแล้วมีหนังสือแจ้งแก่ผู้เกี่ยวข้อง
ได้ทราบ
ข้อ ๑๑ ในกรณีการพิจารณาสั่งอายัด ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องขอให้ชำระเงิน หรือให้ส่งมอบ
สิ่งของนอกจากพันธบัตรหลักทรัพย์ที่เป็นประกัน และตราสารที่เปลี่ยนมือซึ่งได้แก่ พันธบัตร ใบรับ
ของคลังสินค้า ใบประทวนสินค้า ใบหุ้น ตั๋วเงิน เป็นต้น ให้ผู้มีอำนาจออกคำสั่งอายัดทรัพย์สิน
สั่งอายัดได้ไม่ว่าหนี้กองทุนค้างจะมีข้อโต้แย้ง หรือข้อจำกัด หรือมีเงื่อนไข หรือกำหนดจำนวน
แน่นอนหรือไม่ก็ตามโดยคำสั่งอายัดนั้นต้องระบุข้อห้าม ดังนี้
(๑) ห้ามนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนจำหน่ายสิทธิเรียกร้อง
ตั้งแต่เวลาที่ได้ส่งคำสั่งนั้นให้และให้ชำระหรือส่งมอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ เวลาหรือภายใน
กำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง
(๒) ห้ามบุคคลภายนอกชำระเงิน หรือส่งมอบสิ่งของให้แก่นายจ้างหรือเจ้าของสถาน
ประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนแต่ให้ชำระหรือส่งมอบให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ เวลา
หรือภายในกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง
ข้อ ๑๒ คำสั่งแจ้งการอายัดทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามที่แบบเลขาธิการกำหนดท้ายระเบียบนี้
ข้อ ๑๓ วิธีการส่งคำสั่งการอายัด ให้แก่ผู้รับคำสั่งอายัดและนายจ้างหรือเจ้าของสถาน
ประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนให้ปฏิบัติ ดังนี้
(๑) ให้ส่ง ณ ภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของผู้รับ ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและ
พระอาทิตย์ตก
(๒) ถ้าไม่พบนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุน หรือบุคคลที่ระบุ
ในคำสั่งอายัด ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลนั้น ๆ ให้ส่งแก่บุคคลใด ๆ ที่อายุเกินยี่สิบปี
ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือน หรือที่สำนักทำการงานที่ปรากฏว่าเป็นของนายจ้างหรือเจ้าของสถาน
ประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนหรือบุคคลที่ระบุไว้ในคำสั่งเมื่อบุคคลนั้นเต็มใจรับแทน
 (๓) ถ้านายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุน หรือผู้ที่ระบุไว้ในคำสั่ง
อายัดปฏิเสธไม่ยอมรับคำสั่งอายัดโดยปราศจากเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ส่ง
คำสั่งอายัดขอความร่วมมือพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือตำรวจไปด้วยเพื่อเป็นพยาน ถ้าผู้นั้น
ยังปฏิเสธไม่ยอมรับก็ให้วางคำสั่งอายัดไว้ ณ ที่นั้นต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือ
เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าว
(๔) ถ้าเลขาธิการให้ส่งคำสั่งอายัดทางไปรษณีย์ก็ให้จัดการส่งถึงนายจ้างหรือเจ้าของสถาน
ประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนหรือผู้รับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ
(๕) ถ้าเลขาธิการสั่งให้ปิดคำสั่งอายัดทรัพย์สิน ให้จัดการปิดคำสั่งอายัดไว้ ณ ภูมิลำเนา
หรือสำนักทำการงานที่ระบุไว้ในคำสั่งอายัดนั้น แต่ต้องปิดไว้ในที่เปิดเผยให้เห็นได้โดยง่าย เว้นแต่
ผู้มีอำนาจออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินจะสั่งเป็นอย่างอื่น
(๖) กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ถ้าเลขาธิการสั่งให้ส่งคำสั่งอายัด โดยวิธีอื่นใดให้ปฏิบัติตาม
คำสั่งนั้น
(๗) การส่งคำสั่งอายัดให้แก่นิติบุคคล ให้นำส่งแก่ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่น ๆ ณ ภูมิลำเนา
หรือสำนักทำการงานของนิติบุคคลนั้น
(๘) ในการส่งคำสั่งอายัดต้อง ให้ผู้รับลงลายมือชื่อในใบรับไว้เป็นสำคัญและให้พนักงาน
เจ้าหน้าที่ผู้ส่งลงวันเดือนปี เวลาที่ส่ง ลงลายมือชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ส่งไว้ด้วย ถ้าบุคคลที่ระบุไว้ใน
คำสั่งอายัดไม่ได้เป็นผู้รับด้วยตนเอง ให้ทำรายงานว่าผู้รับแทนนั้นเป็นใคร อายุเท่าใด เกี่ยวข้องกัน
อย่างไร พร้อมทั้งใบรับ
(๙) ถ้าส่งคำสั่งอายัดไม่ได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้นำส่งทำรายงานแสดงเหตุผลที่ส่งไม่ได้
โดยละเอียดเสนอต่อผู้มีอำนาจออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินพิจารณาดำเนินการตามควรแก่กรณีต่อไป
(๑๐) การส่งคำสั่งอายัด หรือหนังสือแจ้งการอายัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้นำส่งทำรายงาน
ผลการส่งต่อเลขาธิการในวันส่งหรือในวันแรกที่เปิดทำการตามปกติ
ข้อ ๑๔ พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการอายัดทรัพย์สินในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้น
และพระอาทิตย์ตกในวันทำงานปกติของผู้ถูกอายัด
ข้อ ๑๕ ในการปฏิบัติตามหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามระเบียบนี้ ถ้ามีผู้ขัดขวางหรือมี
พฤติการณ์ว่าจะมีผู้ขัดขวาง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้
การปฏิบัติการตามหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการต่อไปได้
ข้อ ๑๖ ผลของการอายัด
(๑) การอายัดทรัพย์สินมีผลทำให้การที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงิน
เข้ากองทุนได้ก่อให้เกิด โอน หรือเปลี่ยนแปลงซึ่งสิทธิเรียกร้องที่ได้ถูกอายัดภายหลังที่ได้ทำการอายัด
ไว้แล้วนั้น หาอาจใช้ยันแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ไม่ ถึงแม้ว่าราคาแห่งสิทธิเรียกร้องนั้นจะเกินกว่า
จำนวนหนี้ที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุน และนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุน
ได้จำหน่ายสิทธิเรียกร้องนั้นเพียงส่วนที่เกินจำนวนนั้นก็ตาม
(๒) ผลการอายัดสิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน
(ก) สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงิน การอายัดสิทธิเรียกร้องแห่งรายได้เป็นคราว ๆ ซึ่งรวมถึง
จำนวนเงินที่ถึงกำหนดชำระภายหลังการอายัดนั้นด้วย แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาว่าคำสั่งอายัดนั้นรวมถึง
เงินที่ต้องชำระภายหลังการอายัดด้วยหรือไม่
(ข) สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงินแต่มีจำนองเป็นประกัน ถ้ามีสิทธิเรียกร้องของนายจ้าง
หรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนซึ่งมีต่อบุคคลภายนอก ในอันที่จะเรียกให้ชำระเงิน
จำนวนหนึ่งนั้นมีจำนองเป็นประกัน การอายัดสิทธิเรียกร้องให้รวมถึงการจำนองด้วย แต่ทั้งนี้พนักงาน
เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งคำสั่งอายัดไปยังเจ้าพนักงานผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้เจ้าพนักงานดังกล่าว
เพื่อให้จดแจ้งไว้ในทะเบียนสิทธิด้วย
ข้อ ๑๗ เมื่อได้ออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่ง
เงินเข้ากองทุนแล้ว ให้สำนักงานส่งเรื่องให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้นั้นเพื่อใช้สิทธิเรียกร้อง
ในมูลหนี้นั้นภายในเก้าสิบวัน เว้นแต่เลขาธิการจะเห็นสมควรให้ขยายเวลาได้เป็นรายกรณีไป
ข้อ ๑๘ ข้อจำกัดในการอายัดทรัพย์สิน
(๑) ให้อายัดทรัพย์สินของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุน
ได้ไม่เกินกว่าหนี้ที่ไม่ได้ส่งเข้ากองทุน โดยให้คำนวณหนี้ที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนรวมถึงดอกเบี้ยจนถึง
วันชำระ เว้นแต่ทรัพย์สินที่อายัดนั้นไม่อาจแบ่งแยกได้
(๒) การออกสั่งอายัดทรัพย์สินของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงิน
เข้ากองทุน จะกระทำก็ต่อเมื่อผู้มีอำนาจในการออกคำสั่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้ามีการฟ้องคดีต่อศาล
แล้วจะสามารถบังคับเอากับทรัพย์สินของนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุน
ได้และคุ้มค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี
 (๓) เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึด หรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของนายจ้างหรือเจ้าของ
สถานประกอบการที่ไม่ส่งเงินเข้ากองทุนไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามไม่ให้อายัดทรัพย์สิน
นั้นอีก แต่ให้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น
เพื่อขอเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นโดยดำเนินการตามขั้นตอน
และวิธีการที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
หมวด ๓
การคัดค้านคำสั่งอายัดทรัพย์สิน
ข้อ ๑๙ ในกรณีที่มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้องอื่นอันมิใช่ตัวเงิน ถ้าผู้ที่จะต้อง
ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดทรัพย์สินจะปฏิเสธไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่อายัดหรือต้องการโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้อง
เอาแก่ตน ให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อเลขาธิการตามแบบคำร้องท้ายระเบียบนี้ ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่
ได้รับคำสั่งการอายัดทรัพย์สินหรือก่อนกำหนดการส่งมอบทรัพย์สินแล้วแต่กรณี
ข้อ ๒๐ ในกรณีที่มีคำสั่งอายัดเงิน ผู้ที่จะต้องส่งเงินตามคำสั่งอายัดจะปฏิเสธไม่ส่งมอบเงิน
หรือต้องการโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้องเอาแก่ตน ให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อเลขาธิการตามแบบคำร้อง
ท้ายระเบียบนี้ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนั้น
ข้อ ๒๑ เมื่อมีการยื่นคำร้องตามข้อ ๑๙ หรือข้อ ๒๐ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ
ตรวจสอบพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว และเสนอความเห็นต่อเลขาธิการเพื่อมีคำสั่ง
วินิจฉัยชี้ขาด
ข้อ ๒๒ ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการตามข้อ ๒๑ ได้ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเสนอให้
เลขาธิการมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อทำให้เรื่องเสร็จเด็ดขาดตามที่เห็นสมควร
ข้อ ๒๓ เมื่อเลขาธิการได้รับความเห็นที่เสนอตามข้อ ๒๑ หรือข้อ ๒๒ แล้ว ให้ดำเนินการ
อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าเห็นว่าคำร้องที่ยื่นมานั้นรับฟังไม่ได้หรือประวิงให้ชักช้า ให้ยกคำร้องของผู้นั้นเสีย
(๒) ถ้าเห็นว่าคำร้องที่ยื่นมานั้นรับฟังได้ ให้มีคำสั่งถอนการอายัดทรัพย์สินนั้น
(๓) ถ้าเห็นว่าคำร้องที่ยื่นมานั้นรับฟังได้เฉพาะบางส่วน ให้มีคำสั่งถอนการอายัดทรัพย์สิน
เฉพาะในส่วนที่รับฟังได้ และให้นายจ้างหรือผู้นั้นปฏิบัติตามคำสั่งอายัดทรัพย์สินในส่วนที่มิได้มีคำสั่ง
เพิกถอนต่อไป
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้วให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำร้องทราบโดยให้นำ
ความในข้อ ๑๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ทั้งนี้ ให้แจ้งนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบว่า
อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่งดังกล่าวได้ ภายในระยะเวลาสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
คำสั่งหรือคำวินิจฉัยดังกล่าว
ข้อ ๒๔ ถ้าบุคคลภายนอกที่ได้รับคำสั่งอายัดทรัพย์สินปฏิเสธ หรือโต้แย้งหนี้ที่เรียกร้อง
เอาแก่ตน เลขาธิการอาจทำการสอบสวนและ
(๑) ถ้าเลขาธิการเห็นว่าหนี้ที่เรียกร้องนั้นมีอยู่จริง ให้มีคำสั่งให้บุคคลภายนอกปฏิบัติตาม
คำสั่งอายัด หรือ
(๒) ถ้าเลขาธิการเห็นว่าเรื่องจะทำให้เสร็จเด็ดขาดไม่ได้โดยวิธีสอบสวน ให้มีคำสั่งอย่างอื่นใด
ในอันที่จะให้เรื่องเสร็จเด็ดขาดไปตามที่เห็นสมควร
ทั้งนี้ ให้แจ้งให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบว่า
อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำวินิจฉัยหรือคำสั่งดังกล่าวได้ ภายในระยะเวลาสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
คำสั่งหรือคำวินิจฉัยดังกล่าว
ถ้าคำสั่งอายัดทรัพย์สินนั้นไม่มีการคัดค้านหรือในกรณีที่เลขาธิการมีคำสั่งตามข้อ ๒๑ หรือ
ข้อ ๒๒ แล้ว และบุคคลภายนอกมิได้ปฏิบัติตามพนักงานเจ้าหน้าที่อาจขอให้เลขาธิการออกคำสั่ง
บังคับแก่บุคคลภายนอกผู้นั้น และดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าบุคคลนั้นเป็นนายจ้างหรือเจ้าของ
สถานประกอบการ
ถ้าทรัพย์สินหรือค่าแห่งสิทธิเรียกร้อง ซึ่งอายัดไว้ต้องเสื่อมเสียไปเพราะความผิด
ของบุคคลภายนอกเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเลขาธิการไม่ว่าด้วยประการใด ๆ บุคคลภายนอกเช่นว่านั้น
ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่สำนักงานเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นแก่สำนักงาน
หมวด ๔
การถอนการอายัดทรัพย์สิน
ข้อ ๒๕ เลขาธิการอาจมีคำสั่งให้ถอนการอายัดทรัพย์สินในกรณี ต่อไปนี้
(๑) เมื่อนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว หรือไม่มีหน้าที่ต้อง
ชำระหนี้ต่อไป
 (๒) เมื่อมีกรณีตามข้อ ๒๓ (๒) หรือ (๓)
(๓) เมื่อภาระแห่งหนี้ลดลง เป็นผลให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการต้องรับผิดชำระ
หนี้เพียงบางส่วน และถ้าได้ถอนการอายัดทรัพย์สินไปบางรายการแล้ว ทรัพย์สินที่เหลือยังคง
พอคุ้มหนี้ที่ยังค้างชำระ
(๔) เมื่อมีเหตุอื่น ๆ ซึ่งเลขาธิการพิจารณาเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ข้อ ๒๖ เมื่อเลขาธิการมีคำสั่งตามข้อ ๒๕ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกประกาศถอนการ
อายัดทรัพย์สินตามแบบแนบท้ายระเบียบนี้ และจัดส่งสำเนาคำสั่งและประกาศถอนการอายัดทรัพย์สิน
แก่ผู้ถูกอายัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยไม่ชักช้า
ให้นำความในข้อ ๑๓ มาใช้บังคับแก่การส่งเอกสารต่าง ๆ ตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม
ข้อ ๒๗ เมื่อเลขาธิการมีคำสั่งถอนการอายัดทรัพย์สินแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ถูก
อายัดมารับทรัพย์สิน หนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์สิน หรือเอกสารทั้งปวงคืนไป หรือพนักงาน
เจ้าหน้าที่จัดส่งให้ก็ได้ แล้วแต่จะพิจารณาเห็นสมควรให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำหลักฐานการคืน
ทรัพย์สินไว้เป็นหนังสือ
ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒
อิสสระ สมชัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
 
 
 
 
 

ที่มาของข่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก