ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยบริการล่ามภาษามือพ.ศ. ๒๕๕๒

วันที่ลงข่าว: 11/07/13

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
ว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ
พ.ศ. ๒๕๕๒
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ (๗) และมาตรา ๑๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติ
ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ จึงกำหนดระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยบริการล่ามภาษามือ พ.ศ. ๒๕๕๒”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“คนพิการทางการได้ยิน” หมายความว่า คนพิการที่มีบัตรประจำตัวประเภทความพิการ
ทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย
“ล่ามภาษามือ” หมายความว่า ผู้ซึ่งจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือเพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นล่ามภาษามือตามระเบียบนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
แห่งชาติ
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
แห่งชาติ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
และให้หมายความรวมถึงสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
“หน่วยบริการในพื้นที่” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เมืองพัทยาหรือ
องค์กรอื่นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด
ข้อ ๔ ให้เลขาธิการรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจกำหนดแบบคำขอและวิธีการปฏิบัติ รวมทั้งวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งในการปฏิบัติตามระเบียบนี้
 
 
หมวด ๑
คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ
ข้อ ๕ ให้มีคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้ง
ประกอบด้วย
(๑) เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เป็นประธานอนุกรรมการ
(๒) ผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผู้แทนวิทยาลัยราชสุดามหาวิทยาลัยมหิดล
และผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตเป็นอนุกรรมการ
(๓) ผู้แทนสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทยและผู้แทนมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์เป็นอนุกรรมการ
(๔) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งบุคคลตาม (๑) (๒) และ (๓) เสนอจำนวนไม่เกินสี่คน โดยในจำนวนนี้ต้องมีคนพิการทางการได้ยินอย่างน้อยสองคนเป็นอนุกรรมการให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ ๖ อนุกรรมการตามข้อ ๕ (๒) (๓) และ (๔) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะ
ต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) มีสัญชาติไทย
(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์
(๓) มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ด้านล่ามภาษามือ
(๔) ไม่วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๕) ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
(๖) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
 (๗) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจข้อ ๗ อนุกรรมการตามข้อ ๕ (๓) และ (๔) มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ในกรณีอนุกรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ ในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งอนุกรรมการใหม่
ให้อนุกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าจะได้แต่งตั้ง
อนุกรรมการใหม่
ข้อ ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อนุกรรมการตามข้อ ๕ (๓) และ (๔)
พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๖
ข้อ ๙ ในกรณีอนุกรรมการตามข้อ ๕ (๓) และ (๔) พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ
ให้แต่งตั้งผู้อื่นแทนตำแหน่งที่ว่าง และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของอนุกรรมการซึ่งตนแทน เว้นแต่วาระของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่แต่งตั้งอนุกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างก็ได้
ในกรณีที่อนุกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนา
ล่ามภาษามือประกอบด้วยอนุกรรมการทั้งหมดที่มีอยู่จนกว่าจะมีการแต่งตั้งอนุกรรมการตามความในวรรคหนึ่ง
ข้อ ๑๐ การประชุมของคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอนุกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุมในการประชุมคราวใด ถ้าประธานอนุกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อนุกรรมการที่มาประชุมเลือกอนุกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก อนุกรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
ข้อ ๑๑ ให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการล่ามภาษามือ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่เป็นล่ามภาษามือ
 (๒) ส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือให้สามารถจัดบริการแก่คนพิการทางการได้ยิน
ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง
(๓) รับจดแจ้ง หรือเพิกถอนการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือตามระเบียบนี้
(๔) ดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
 
 
 
หมวด ๒
การจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือ
ข้อ ๑๒ บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อ ๑๑ (๑) อาจยื่นคำขอจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือต่อสำนักงานได้
ข้อ ๑๓ ให้สำนักงานตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอตามข้อ ๑๒ แล้วเสนอความเห็นต่อคณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ เพื่อพิจารณารับจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือ ทั้งนี้ ให้สำนักงานเผยแพร่รายชื่อพร้อมภาพถ่ายและสถานที่ติดต่อของล่ามภาษามือแก่หน่วยงานซึ่งเป็นสถานที่รับคำขอและองค์กรที่เกี่ยวข้องทางเว็บไซต์และช่องทางอื่น ๆ ต่อไป
ข้อ ๑๔ ในกรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้คณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ พิจารณา
คัดชื่อบุคคลดังกล่าวออกจากการจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือ
(๑) ประพฤติผิดจรรยาบรรณล่ามภาษามือตามที่กำหนดโดยสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทยซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงของการเป็นล่ามภาษามือ
(๒) ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้มาตรฐานตามระเบียบนี้
(๓) ไม่มาปฏิบัติหน้าที่สามครั้งขึ้นไปภายในหนึ่งปีโดยไม่มีเหตุอันสมควร
หมวด ๓
การให้บริการล่ามภาษามือ
ข้อ ๑๕ คนพิการทางการได้ยิน หรือผู้ดูแลคนพิการทางการได้ยิน มีสิทธิยื่นคำขอเพื่อขอรับบริการล่ามภาษามือในกรณี ดังต่อไปนี้
(๑) การใช้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข
(๒) การสมัครงานหรือการติดต่อประสานงานด้านการประกอบอาชีพ
 (๓) การร้องทุกข์ การกล่าวโทษ หรือเป็นพยานในชั้นพนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น
(๔) การเข้าร่วมประชุม สัมมนา หรือฝึกอบรม รวมทั้งเป็นผู้บรรยายโดยหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรภาคเอกชนเป็นผู้จัดซึ่งมีคนพิการทางการได้ยินเข้าร่วมด้วย
(๕) บริการอื่นใดตามที่คณะอนุกรรมการตามข้อ ๕ ประกาศกำหนด
ข้อ ๑๖ การยื่นคำขอตามข้อ ๑๕ ให้ยื่นต่อหน่วยงาน ดังต่อไปนี้
(๑) ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำขอต่อกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือสถานที่อื่นตามที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการประกาศกำหนด
(๒) ในท้องที่จังหวัดอื่น ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหรือที่หน่วยบริการในพื้นที่
ข้อ ๑๗ เมื่อหน่วยงานตามข้อ ๑๖ ได้รับคำขอแล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้อง ในกรณี
คำขอไม่ถูกต้องให้แจ้งผู้ยื่นคำขอดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ยื่นคำขอไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าไม่ประสงค์จะขอล่ามภาษามือตามคำขอเมื่อคำขอถูกต้องแล้ว ให้พิจารณาคำขอโดยเร็ว และแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันพิจารณาคำขอเสร็จ
ข้อ ๑๘ ในกรณีล่ามภาษามือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แจ้งเหตุขัดข้องต่อหน่วยงานที่รับคำขอและผู้ยื่นคำขอทราบก่อนถึงวันปฏิบัติหน้าที่เป็นล่ามภาษามือไม่น้อยกว่าเจ็ดวันและให้หน่วยงานที่รับคำขอดำเนินการจัดหาล่ามภาษามือให้ผู้ยื่นคำขอใหม่โดยเร็ว
ข้อ ๑๙ ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องใช้บริการล่ามภาษามือตามข้อ ๑๕ (๑) หรือ(๓) ให้หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีหน้าที่ให้บริการคนพิการดังกล่าวให้การรับรองล่ามภาษามือได้
ข้อ ๒๐ เมื่อล่ามภาษามือได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นล่ามภาษามือแล้ว ให้ล่ามภาษามือรายงานผลต่อหน่วยงานสถานที่รับคำขอ พร้อมหนังสือรับรองจากหน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบริการล่ามภาษามือดังกล่าว ทั้งนี้ ตามแบบที่เลขาธิการกำหนด
ข้อ ๒๑ ให้ล่ามภาษามือตามข้อ ๒๐ ได้รับค่าตอบแทนตามอัตราที่เลขาธิการประกาศ
กำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการในกรณีล่ามภาษามือมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอื่นของทางราชการสำหรับการปฏิบัติงานนั้นแล้วให้เบิกได้ทางเดียว
ข้อ ๒๒ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายอื่นให้แก่ล่ามภาษามือได้ทันภายในปีงบประมาณให้สามารถนำไปเบิกจ่ายในปีงบประมาณถัดไปได้
ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ

ที่มาของข่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก