ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยการช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีแก่คนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒

วันที่ลงข่าว: 11/07/13

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
ว่าด้วยการช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีแก่คนพิการ
พ.ศ. ๒๕๕๒
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๐ (๕) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ
คนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ จึงกำหนดระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยการช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีแก่คนพิการพ.ศ. ๒๕๕๒”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
“ผู้ขอรับการช่วยเหลือ” หมายความว่า คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามมาตรา ๑๙
แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐
“คดี” หมายความว่า คดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง คดีแรงงาน และคดีทรัพย์สินทางปัญญา
“หน่วยบริการในพื้นที่” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เมืองพัทยาหรือ
องค์กรอื่นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนด
“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
แห่งชาติ
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ
และให้หมายความรวมถึงสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
ข้อ ๔ ให้มีคณะอนุกรรมการช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติแต่งตั้งทำหน้าที่กำหนดรายละเอียดในการช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีแก่คนพิการ อัตราวงเงิน รายการให้การช่วยเหลือ มาตรฐานการให้บริการ การฝึกอบรม และการส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถจัดบริการแก่คนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อ ๕ ให้คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัดทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาประสิทธิภาพเกี่ยวกับการช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีแก่คนพิการในจังหวัด
ข้อ ๖ เพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสิทธิตามกฎหมาย ให้คนพิการ
ได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายและการจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(๑) การให้คำปรึกษาหารือทางกฎหมาย
(๒) การให้ความรู้ทางกฎหมาย
(๓) การจัดทำนิติกรรมสัญญา
(๔) การไกล่เกลี่ยหรือการประนีประนอมยอมความ
(๕) การจัดหาทนายความ
(๖) การให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ ในทางคดี
ข้อ ๗ ผู้ขอรับการช่วยเหลือทางกฎหมาย อาจยื่นคำขอเป็นหนังสือ ด้วยวาจา หรือส่งทางไปรษณีย์ เพื่อขอรับการช่วยเหลือทางกฎหมายและการจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดี ดังต่อไปนี้
(๑) ในกรุงเทพมหานคร ให้แจ้งหรือยื่นคำขอต่อกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ หรือ
สถานที่อื่นตามที่อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการประกาศกำหนด
(๒) ในท้องที่จังหวัดอื่นให้แจ้งหรือยื่นคำขอต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดหรือที่หน่วยบริการในพื้นที่ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศกำหนด
ในกรณีที่ผู้ขอรับความช่วยเหลือเป็นผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถหรือคน
ไร้ความสามารถ หรือในกรณีที่คนพิการมีสภาพความพิการถึงขั้นไม่สามารถไปยื่นขอรับบริการด้วยตนเองได้ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาลหรือผู้ดูแลคนพิการ แล้วแต่กรณี อาจยื่นคำขอรับการบริการช่วยเหลือทางกฎหมายและการจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างแทนก็ได้
ข้อ ๘ แบบคำขอต้องใช้ถ้อยคำสุภาพ และต้องมี
(๑) ชื่อ สกุล และที่อยู่ของผู้ขอรับการช่วยเหลือ
(๒) ชื่อ สกุล หรือชื่อหน่วยงานที่เป็นคู่กรณีในข้อพิพาทหรือคดี
(๓) การกระทำทั้งหลายที่เป็นเหตุแห่งการยื่นคำขอรับการช่วยเหลือ พร้อมทั้งข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ตามสมควรเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าว
 (๔) เอกสาร วัสดุอุปกรณ์ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกี่ยวกับการยื่นคำขอรับการช่วยเหลือ และในกรณีที่ตนจะฟ้องคดีหรือถูกฟ้องคดีต้องมีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนั้นด้วย
(๕) การช่วยเหลือที่คนพิการต้องการ
(๖) ลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือหรือแกงไดของผู้ยื่นคำขอ
คำขอรับการช่วยเหลือใดมีรายการไม่ครบ ไม่ชัดเจน หรือไม่อาจเข้าใจได้ ให้หน่วยงาน
ซึ่งรับคำขอตามข้อ ๗ ให้คำแนะนำแก่ผู้ยื่นคำขอ เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้อง หรือ
มาให้ถ้อยคำภายในระยะเวลาที่กำหนด
ในกรณีผู้ขอรับการช่วยเหลือมิได้ดำเนินการตามวรรคสอง ให้ถือว่าผู้นั้นไม่ประสงค์ที่จะรับ
การช่วยเหลือดังกล่าว
ข้อ ๙ เมื่อได้รับคำขอตามข้อ ๗ แล้ว ให้หน่วยงานซึ่งรับคำขอดำเนินการดังต่อไปนี้
(๑) ลงสารบบตามประเภทของการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อสะดวกแก่การควบคุมดูแลและติดตามประเมินผล
(๒) ในกรณีสั่งไม่รับดำเนินการให้การช่วยเหลือ ให้แจ้งคำสั่งดังกล่าวพร้อมทั้งแสดงเหตุผลเป็นหนังสือ ตลอดจนคืนเอกสารหลักฐานให้แก่ผู้ขอรับการช่วยเหลือโดยเร็ว
(๓) ในกรณีเห็นสมควรดำเนินการให้การช่วยเหลือและจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือทางกฎหมายหรือจัดหาทนายความในการว่าต่างแก้ต่างทางคดี ให้ดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจพิจารณาตามระเบียบนี้ต่อไป
ข้อ ๑๐ ให้หน่วยงานซึ่งรับคำขอพิจารณาให้การช่วยเหลือคนพิการ โดยประสานงาน
กับสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด หรือสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนประจำจังหวัด หรือหน่วยงานอื่นที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนดให้เป็นหน่วยงานสำหรับให้บริการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
ศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน กระทรวงยุติธรรมหรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัด
สภาทนายความ หรือหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรภาคเอกชนซึ่งมีภารกิจเกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือ
ทางกฎหมายหรือจัดหาทนายความในการว่าต่างแก้ต่างทางคดีแก่คนพิการก็ได้
ในกรณีหน่วยงานหรือองค์กรตามวรรคหนึ่ง พิจารณาให้การช่วยเหลือและต้องมีค่าใช้จ่าย
ในการดำเนินการช่วยเหลือทางกฎหมายหรือจัดหาทนายความเพื่อว่าต่างแก้ต่างทางคดี ให้หน่วยงานซึ่งรับคำขอตามข้อ ๗ ส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจตามระเบียบนี้พิจารณาสั่งการต่อไป
 
ข้อ ๑๑ ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือทางกฎหมายหรือจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดี ได้แก่
(๑) การวางเงินค่าธรรมเนียมศาล
(๒) ค่าจ้างทนายความเพื่อว่าต่างแก้ต่างในคดี
(๓) การวางเงินเป็นหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราว
(๔) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือทางกฎหมายหรือจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างในคดี ให้เป็นไปตามอัตราที่เลขาธิการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
ค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยอาจให้การช่วยเหลือ
เต็มจำนวนหรือบางส่วนก็ได้
ในกรณีที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอื่นของทางราชการสำหรับการปฏิบัติงานนั้นแล้ว ให้เบิกได้ทางเดียว
ข้อ ๑๒ การพิจารณาให้การช่วยเหลือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามข้อ ๑๑ ให้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) ผู้ขอรับการช่วยเหลือมีความจำเป็น เนื่องจากมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่เลขาธิการประกาศกำหนด หรือเป็นคดีที่คนพิการได้รับความเสียหาย เนื่องจากถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
(๒) ผู้ขอรับการช่วยเหลือจะฟ้องหรือถูกฟ้อง มีโอกาสในการชนะคดีในกรณีคำขอตามข้อ ๑๑ (๑) และ (๒)
(๓) ผู้ขอรับการช่วยเหลือมีความประพฤติดีหรือไม่มีพฤติการณ์ว่าจะหลบหนีในกรณีคำขอตามข้อ ๑๑ (๓)
(๔) ไม่ผิดสัญญาตามข้อ ๑๖
ข้อ ๑๓ ในการพิจารณาให้การช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายตามข้อ ๑๑ ให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ อาจมอบหมายให้ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายพิจารณาให้ความเห็นตามข้อ ๑๒ เพื่อประกอบการพิจารณาในคำขอรายใดโดยได้รับค่าตอบแทนตามอัตราที่เลขาธิการกำหนดก็ได้
ข้อ ๑๔ ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาให้แก่ผู้ขอรับการช่วยเหลือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับการอนุมัติในกรณีที่ไม่รับให้การความช่วยเหลือตามคำขอ ให้แจ้งเหตุผลพร้อมสิทธิในการอุทธรณ์ต่อผู้ออกคำสั่งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รับแจ้งผลการพิจารณา
ข้อ ๑๕ ผู้ขอรับการช่วยเหลือจะต้องทำสัญญาการรับเงินช่วยเหลือจากหน่วยงานซึ่งรับคำขอตามแบบที่เลขาธิการกำหนด
ในกรณีผู้ขอรับการช่วยเหลือไม่ทำสัญญาภายในกำหนดเวลาที่ได้รับแจ้ง โดยไม่แจ้ง
เหตุขัดข้อง ให้ถือว่าผู้นั้นไม่ประสงค์จะขอรับการช่วยเหลือ
ข้อ ๑๖ ผู้ขอรับการช่วยเหลือต้องคืนเงินที่ได้รับการสนับสนุนให้แก่สำนักงาน ในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) เงินค่าธรรมเนียมและค่าทนายความที่ได้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
(๒) เงินหลักประกันในการปล่อยชั่วคราว เมื่อความรับผิดตามสัญญาประกันหมดไป
ข้อ ๑๗ ในกรณีผู้ขอรับการช่วยเหลือไม่ปฏิบัติตามสัญญา ให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ข้อ ๑๘ ให้สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติตั้งงบประมาณ
ประจำปี เพื่อเป็นค่าตอบแทนทนายความหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของคณะอนุกรรมการ สำนักงาน และหน่วยบริการในพื้นที่ตามระเบียบนี้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง
ข้อ ๑๙ ให้เลขาธิการรักษาการตามระเบียบนี้ และมีอำนาจกำหนดวิธีการปฏิบัติ ตลอดจนกำหนดแบบเอกสารต่าง ๆ ตลอดจนจัดทำรายงานประจำปีเสนอคณะกรรมการเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้
 
ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ__

ที่มาของข่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก