ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การขอมีบัตรประจำตัวคนพิการและการออกบัตร

วันที่ลงข่าว: 21/05/13

 

ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ

ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการและการออกบัตร

การกำหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ การขอสละสิทธิของคนพิการ

และอายุบัตรประจำตัวคนพิการ (ฉบับที่ ๒)พ.ศ. ๒๕๕๔

 
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
คนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการและการออกบัตร
การกำหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ การขอสละสิทธิของคนพิการ และอายุบัตรประจำตัวคน
พิการ พ.ศ. ๒๕๕๒ ให้มีความเหมาะสมและประโยชน์ต่อคนพิการยิ่งขึ้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๙ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนา
คุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ
และเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญ
แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ
ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ จึงกำหนดระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
แห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ และการออกบัตร
การกำหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ การขอสละสิทธิของคนพิการ และอายุบัตรประจำตัวคนพิการ
(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๔”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ ๔/๑ และข้อ ๔/๒ แห่งระเบียบคณะกรรมการส่งเสริม
และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตร
ประจำตัวคนพิการและการออกบัตร การกำหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ การขอสละสิทธิของคนพิการ
และอายุบัตรประจำตัวคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒
“ข้อ ๔/๑ บัตรประจำตัวคนพิการมีสองประเภท ดังต่อไปนี้
(๑) บัตรที่ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์
(๒) บัตรที่ไม่ได้ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์
ข้อ ๔/๒ บัตรประจำตัวคนพิการต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อตัว ชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด รูปถ่าย ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในขณะยื่นคำขอ
เลขประจำตัวประชาชน ประเภทและหลักเกณฑ์ความพิการของผู้ถือบัตร
(๒) ชื่อตัว ชื่อสกุล และเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ดูแลคนพิการ เว้นแต่ผู้ถือบัตรไม่มี
ผู้ดูแลคนพิการ
(๓) ลายมือชื่อหรือตราลายมือชื่อของนายทะเบียนที่ออกบัตร และตราประจำกระทรวง
การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันออกบัตร และวันบัตรหมดอายุ
กรณีรายการตาม (๒) ผู้ดูแลคนพิการต้องเป็นผู้ซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันกับคนพิการ
หรือเป็นผู้ดูแลคนพิการซึ่งคนพิการอาศัยอยู่ด้วยตามความเป็นจริง ในกรณีที่มีผู้ดูแลคนพิการทั้งสอง
ประเภทดังกล่าว ให้ระบุรายการของผู้ดูแลคนพิการซึ่งคนพิการอาศัยอยู่ด้วยตามความเป็นจริง
เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้มีหนังสือรับรองจากข้าราชการระดับเทียบเท่าชั้นสัญญาบัตรขึ้นไป กำนัน
หรือผู้ใหญ่บ้าน ว่าเป็นผู้ดูแลคนพิการจริง”
ข้อ ๔ ให้ยกเลิกความในข้อ ๖ ข้อ ๗ และข้อ ๘ แห่งระเบียบคณะกรรมการส่งเสริม
และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นคำขอมีบัตร
ประจำตัวคนพิการและการออกบัตร การกำหนดสิทธิหรือการเปลี่ยนแปลงสิทธิ การขอสละสิทธิ
ของคนพิการ และอายุบัตรประจำตัวคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๒ และใช้ความต่อไปนี้แทน
“ข้อ ๖ การยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ ให้คนพิการหรือบุคคลตามข้อ ๕ ยื่นคำขอ
ตามแบบที่เลขาธิการกำหนดพร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้
(๑) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ สำเนาสูติบัตรสำหรับ
บุคคลอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือหนังสือรับรองการเกิดตามแบบที่กรมการปกครองกำหนด
(๒) สำเนาทะเบียนบ้านของคนพิการ
(๓) รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน ๖ เดือน จำนวน ๒ รูป ในกรณีที่คนพิการ
ไม่ได้มายื่นคำขอด้วยตนเอง
(๔) เอกสารรับรองความพิการซึ่งรับรองโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของสถานพยาบาล
ของรัฐหรือสถานพยาบาลเอกชนที่เลขาธิการประกาศกำหนด เว้นแต่กรณีสภาพความพิการเป็นที่
เห็นได้โดยประจักษ์ตามประกาศสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เรื่อง
แบบและรายละเอียดของสภาพความพิการที่สามารถเห็นได้โดยประจักษ์ ไม่ต้องมีเอกสารรับรอง
ความพิการก็ได้ ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ถ่ายภาพสภาพความพิการไว้เป็นหลักฐาน
ในกรณีคนพิการมีหลักฐานตามทะเบียนบ้านว่า มีสัญชาติไทยและมีเลขประจำตัวประชาชน
แต่ไม่มีเอกสารตาม (๑) ให้เจ้าหน้าที่ออกบัตรประจำตัวคนพิการโดยบันทึกปากคำเจ้าบ้านและพยาน
บุคคลซึ่งเป็นข้าราชการระดับเทียบเท่าชั้นสัญญาบัตรขึ้นไป กำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน ว่าเป็นบุคคล
เดียวกันกับบุคคลที่มีชื่อตามทะเบียนบ้าน
ในกรณีบุคคลตามข้อ ๕ ยื่นคำขอแทนคนพิการ ให้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
หรือสำเนาทะเบียนบ้านของบุคคลนั้น และหลักฐานอื่นที่แสดงให้เห็นว่า ได้รับมอบอำนาจจากคนพิการ
หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนพิการเนื่องจากเป็นผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ดูแลคนพิการ
แล้วแต่กรณี
 
ในกรณีเอกสารหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้แจ้งผู้ยื่นคำขอดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง
ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ยื่นคำขอไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องครบถ้วนภายใน
ระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าไม่ประสงค์จะมีบัตรประจำตัวคนพิการตามคำขอ
เจ้าหน้าที่ออกบัตรตามวรรคสอง หมายความว่า ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงาน
หรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐอื่นซึ่งได้รับแต่งตั้งจากนายทะเบียนให้มีหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ
ในการออกบัตรประจำตัวคนพิการตามระเบียบนี้
ข้อ ๗ ในกรณีระบบงานออกบัตรประจำตัวคนพิการมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับสำนัก
บริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแล้ว ให้เลขาธิการประกาศยกเลิกไม่ต้องมี
เอกสารตามข้อ ๖ (๒)
ข้อ ๘ เมื่อนายทะเบียนหรือเจ้าหน้าที่ออกบัตรเห็นว่า ผู้ยื่นคำขอได้ดำเนินการตามข้อ ๖
ถูกต้องและครบถ้วนแล้ว ให้จัดเก็บข้อมูลของคนพิการไว้ในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อทำบัตร เว้นแต่กรณี
การออกบัตรที่ไม่ได้ออกด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ให้เจ้าหน้าที่ออกบัตรเขียนบันทึกรายการดังกล่าวแทน”
ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๔
 
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี
ประธานกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ

เว็บไซต์ http://ecard.nep.go.th/nep_all/

 ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ สำนักนโยบายและวิชาการ 02-354-3388 ต่อ 128,129,130 
ที่มาของข่าว สำนักงานเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ(พก.)
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก