ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ศธ.ประกาศหลักเกณฑ์เรียนคนพิการ ๙ ประเภท

วันที่ลงข่าว: 20/05/13

 

...การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สาระ ความบันเทิง การติดต่อสื่อสารระหว่างกันเกิดความรวดเร็ว และไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนทั่วไป!!

 

...ยังมีคนอีกกลุ่มที่ลักษณะทางกายภาพอาจเป็นอุปสรรค แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาเพื่อรองรับการใช้งานจากคนทุกกลุ่ม ไม่เว้นคนพิการที่ใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตได้

 

...ปัญหาที่พบสำหรับการใช้งานเว็บไซต์ในประเทศไทย คือ ยังไม่ได้เตรียมระบบเพื่อรองรับการใช้งานของคนพิการ ดูได้จากเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการกว่าร้อยละ 90 ยังไม่ได้เตรียมระบบซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า หากเป็นผู้พิการทางสายตา จะต้องใช้การฟังเสียงจากโปรแกรมเท่านั้น หากเป็นผู้พิการทางหู เมื่อเป็นภาพเคลื่อนไหวต่างๆ จะต้องมีคำบรรยาย เป็นต้น

 

...สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น จัดโครงการ “พัฒนาเว็บไซต์รองรับผู้พิการ” เพื่อการยกระดับชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งทำเว็บไซต์ของ สสส. www.thaihealth.or.th ภาคีเครือข่าย เพื่อรองรับการใช้งานของผู้พิการได้อย่างแท้จริง

 

...การสร้างเว็บไซต์เพื่อรองรับการใช้งานของคนพิการปัจจุบันไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีการพัฒนาโปรแกรมเพื่อใช้งานจำนวนมาก เพียงแต่ผู้พัฒนาเว็บไซต์ต้องเห็นความสำคัญของการใช้งานจากคนพิการ และนำข้อมูลต่างๆ มาจัดเรียงเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้คนพิการเข้าถึงได้อย่างง่าย

 

...สำหรับการสร้างเว็บไซต์จะมีมาตรฐานสากล ที่เรียกว่า W3C (World Wide Web Consortium) ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่ทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรฐานและข้อกำหนดเว็บไซต์เพื่อรองรับการใช้งานของผู้พิการ โดยจะจัดแบ่งระดับของเว็บไซต์ตามความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล เช่น เว็บไซต์ของ สสส. ผ่านการทดสอบตามแนวทางการพัฒนาตามมาตรฐานกลางที่เรียกว่า WCAG 2.0 (Web Content Accessibility Guideline 2.0) ระดับ AA โดยมาตรฐานนี้จะมี 3 ระดับ คือ A, AA, AAA ซึ่งระดับ AA ก็ถือว่าผู้พิการสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกมากขึ้น การพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ให้เหมาะสมกับผู้พิการ แบ่งเป็น

 

1. กลุ่มผู้พิการทางสายตา เป็นการใส่โปรแกรมช่วยอ่านออกเสียงบนหน้าจอ ซึ่งจะเป็นโปรแกรมสังเคราะห์เสียงสำหรับคนตาบอด ทำให้คอมพิวเตอร์อ่านออกเสียงไปตามเนื้อหาเว็บไซต์ สำหรับโปรแกรมที่ใช้ชื่อว่า JAWS และการอ่านออกเสียงภาษาไทยอาจต้องลงโปรแกรมเสริม ชื่อว่า PPA Tatip และ โปรแกรม Microsoft text to speech version 5.1 ซึ่งปัจจุบันโปรแกรมอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษมีการพัฒนาไปมาก ทำให้เสียงที่ได้ยินจะใกล้เคียงกับเสียงคนจริงๆ ส่วนภาษาไทยปัจจุบันยังมีเสียงคล้ายหุ่นยนต์ ยังต้องรอการพัฒนาโปรแกรมต่อไป

 

2. ผู้พิการทางการได้ยิน จะต้องสร้างเนื้อหาทดแทนเสียงให้กับผู้พิการเพื่อการรับรู้ โดยสร้างคำบรรยายใต้ภาพในวิดีโอ เพื่ออธิบายเพิ่มเติมให้กับมัลติมีเดียนั้น เช่น วิดีโอ ไฟล์เสียง หรือมีเอกสารไฟล์แนบ สำหรับให้ดาวน์โหลดคำอธิบายเพิ่มเติม หรืออ่านคำอธิบายออนไลน์ได้

 

3. ผู้ใช้ที่มีสายตาเลือนรางหรือผู้สูงอายุ ต้องสร้างเมนูเพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับขนาดตัวอักษรการแสดงผลได้ สามารถเปลี่ยนสีตัวอักษร และพื้นหลังให้มีสีที่ตัดกันเพื่อให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น ใช้สีแสงสว่างให้เพียงพอ และเหมาะสม

 

4. ผู้พิการที่ไม่สามารถใช้อุปกรณ์เมาส์ได้ จะมีเครื่องมือพิเศษเพื่อใช้ในปากหรือศีรษะในการบังคับเพื่อเลื่อนหน้าจอได้

 

...โปรแกรมสำหรับเว็บไซต์หาได้ง่าย หรือลงทะเบียนขอรับได้ที่สมาคมคนผู้พิการ

 

...น.ส.ธีรารัตน์ เรืองกิจธนโชติ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาเว็บไซต์ สสส. กล่าวว่า งบประมาณในการจัดทำเว็บเพื่ออำนวยความสะดวกคนพิการไม่ได้มีราคาแพง ซึ่งพบว่าเว็บในไทยยังไม่ค่อยมี ต่างจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอีกหลายประเทศที่เป็นข้อบังคับว่าต้องทำเพื่อคนพิการด้วย

 

...ท.พ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า เว็บไซต์สสส.มีผู้เข้าชมวันละ 15,000 คน ส่วนใหญ่เข้ามาดูข้อมูลด้านสาระสุขภาพ และข่าวที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพในมิติต่างๆ เชื่อว่าการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับคนทุกกลุ่ม หากมีการปรับและพัฒนาโครงสร้างเว็บไซต์เพื่อรองรับการใช้งานจากผู้พิการด้วยก็จะเป็นเรื่องดี

 

... “สสส.เริ่มต้นจัดอบรมการพัฒนาเว็บไซต์ให้รองรับการใช้งานของผู้พิการ และทุพพลภาพให้แก่ภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นต้นแบบให้หน่วยงานต่างๆ ซึ่งโปรแกรมพื้นฐานสำหรับใช้เพื่อคนพิการมีอยู่แล้ว เพียงแต่ผู้พัฒนาเว็บต้องจัดเรียงข้อมูลเพื่อให้ใช้งานได้จริงเท่านั้น” ท.พ.กฤษดา กล่าว

 

...นายธมนิฏฐ์ ชาญจรัสพงศ์ หนึ่งในผู้พิการทางสายตา กล่าวว่า เพิ่งตาบอดได้ 4-5 ปีที่ผ่านมา และเพิ่งเริ่มหันมาใช้คอมพิวเตอร์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา อยากให้เว็บไซต์ไทยปรับปรุงเพื่อรองรับคนพิการด้วยให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้

 

...นายจรัญ จ้อยรุ่ง ผู้พิการสายตา กล่าวว่า การเข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้โลกกว้างขึ้นกว่าเดิม ได้รับความสะดวก ได้รับข้อมูลมากมาย

 

...น.ส.อิศวรา ศิริรุ่งเรือง อาจารย์สอนที่วิทยาลัยราชดุสา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เคยเป็นคนสายตาดีใช้คอมพิวเตอร์ได้ปกติ แต่เมื่อมีปัญหาการมองเห็นก็ไม่สามารถอ่านหนังสือ ดูเว็บไซต์ได้อีก เมื่อเรียนรู้ที่จะใช้งานเว็บไซต์อีกครั้งโดยอาศัยโปรแกรมสำหรับผู้พิการ ก็พบปัญหาเว็บไซต์ไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับคนพิการ หากมีการปรับโครงสร้างเว็บไซต์จะทำให้ใช้ง่ายสะดวกมากขึ้น

 

..ความพิการไม่สามารถปิดกั้นใครได้ โลกกว้างเป็นของทุกคนอย่างเท่าเทียม

 

โดย...เมธาวี มัชฌันติกะ

 

ที่มาจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555

^ กลับสู่เนื้อหาหลัก