ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

คำแปลอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 01/05/13

 

แปลอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ

อารัมภบท

 

รัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้

                (เอ) ระลึกถึงหลักการที่ประกาศไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งยอมรับในศักดิ์ศรีและคุณค่าที่มีมาแต่กำเนิด และสิทธิที่เท่าเทียมกันและไม่อาจเพิกถอนได้ของสมาชิกทั้งปวงของมวลมนุษยชาตินั้น เป็นรากฐานของเสรีภาพ ความยุติธรรม และสันติภาพในโลก

                (บี) ยอมรับว่าสหประชาชาติได้ประกาศ และตกลงในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพทั้งปวงที่กำหนดไว้ โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใดๆ

                (ซี) ยืนยันถึงความเป็นสากล ความแบ่งแยกไม่ได้ ความเกื้อกูลซึ่งกันและกันและความเชื่อมโยงกันของสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวง และความต้องการจำเป็นที่คนพิการจะได้รับหลักประกันว่าจะได้อุปโภคสิทธิของตนอย่างเต็มที่โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ

                (ดี) ระลึกถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานผู้โยกย้ายถิ่นฐานทั้งปวงและสมาชิกในครอบครัว

                (อี) ยอมรับว่าความพิการเป็นแนวคิดที่มีพัฒนาการอยู่ตลอด และความพิการเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีความบกพร่องใดๆ กับอุปสรรคทางเจตคติและสภาพแวดล้อมซึ่งทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

                (เอฟ) ยอมรับถึงความสำคัญของหลักการและแนวนโยบายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการระดับโลกเกี่ยวกับคนพิการ และข้อกำหนดมาตรฐานว่าด้วยการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันแก่คนพิการที่ส่งผลต่อการส่งเสริม จัดทำและประเมินผลนโยบาย แผน โปรแกรมและการปฏิบัติการในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับคนพิการ

                (จี) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการประเด็นความพิการให้อยู่ในกระแสหลักของยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาที่ยั่งยืน

                (เอช) ยอมรับด้วยว่าการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลใดๆ บนพื้นฐานของความพิการเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีและคุณค่าที่มีมาแต่กำเนิดของมนุษย์

                (ไอ) ยอมรับต่อไปถึงความหลากหลายของคนพิการ

                (เจ) ยอมรับถึงความต้องการจำเป็นที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนพิการทุกคน รวมทั้งผู้ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษเพิ่มขึ้น

                (เค) มีความห่วงใยว่าแม้จะมีตราสารหรือการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้แล้ว คนพิการยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการมีส่วนร่วมในฐานะสมาชิกที่เท่าเทียมกันในสังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของตนในทุกหนแห่งในโลก

                (แอล) ยอมรับถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนพิการในทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

                (เอ็ม) ยอมรับถึงการมีส่วนช่วยอันทรงคุณค่าของคนพิการที่มีอยู่และอาจมีขึ้นในความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมและความหลากหลายของชุมชน และยอมรับว่าการส่งเสริมให้คนพิการได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของตนและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของที่เพิ่มขึ้น และความก้าวหน้าที่สำคัญในการพัฒนาสังคมด้านมนุษย์ สังคม และเศรษฐกิจ และการขจัดความยากจน

                (เอ็น) ยอมรับถึงความสำคัญที่คนพิการจะอยู่ได้ด้วยตนเองและเป็นอิสระ รวมทั้งเสรีภาพในการเลือกแนวทางของตนเอง

                (โอ) พิจารณาว่าคนพิการควรมีโอกาสได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายและโครงการต่างๆ รวมถึงนโยบายและโปรแกรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับตน

                (พี) มีความห่วงใยเกี่ยวกับสภาพความยากลำบากที่เผชิญอยู่โดยคนพิการ ซึ่งตกอยู่ภายใต้การเลือกปฏิบัติอย่างทวีคูณในรูปแบบที่หลากหลาย หรือมีความรุนแรงบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรืออื่นๆ ชาติกำเนิด ชาติพันธุ์ ความเป็นชนพื้นเมืองหรือสังคมดั้งเดิม ทรัพย์สิน การเกิด อายุหรือสถานภาพอื่น

                (คิว) ยอมรับว่าสตรีและเด็กหญิงพิการมักมีความเสี่ยงมากกว่าทั้งในและนอกเคหสถาน ที่จะถูกกระทำความรุนแรง ทำร้ายหรือข่มเหง ทอดทิ้ง หรือปฏิบัติอย่างละเลย ปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

                (อาร์) ยอมรับว่าเด็กพิการควรได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงอย่างเต็มที่ บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันกับเด็กอื่นๆ และระลึกถึงการดำเนินการตามพันธกรณีในเรื่องนี้ของรัฐภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

                (เอส) เน้นย้ำถึงความต้องการจำเป็นที่จะรวมมุมมองทางเพศสภาพไว้ในความพยายามทั้งปวงที่จะส่งเสริมให้คนพิการได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่

                (ที) เน้นข้อเท็จจริงที่ว่าคนพิการส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจน และในการนี้จึงยอมรับถึงความต้องการจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการแก้ไขผลกระทบเชิงลบของความยากจนที่มีต่อคนพิการ

                (ยู) คำนึงว่าเงื่อนไขของสันติภาพและความมั่นคงซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพต่อความมุ่งประสงค์และหลักการในกฎบัตรสหประชาชาติ และการปฏิบัติตามตราสารต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการคุ้มครองคนพิการอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในท่ามกลางความขัดแย้งทางอาวุธและการยึดครองของต่างชาติ

                (วี) ยอมรับถึงความสำคัญของความสามารถในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม สาธารณสุข และการศึกษา และสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะทำให้คนพิการได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงได้อย่างเต็มที่

                (ดับเบิลยู) ตระหนักว่าปัจเจกชนผู้มีหน้าที่ต่อปัจเจกชนอื่นและต่อชุมชนของตนมีความรับผิดชอบที่จะเพียรพยายามในการส่งเสริมและการปฏิบัติตามสิทธิที่ได้รับการรับรองไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

                (เอกซ์) เชื่อมั่นว่าครอบครัวเป็นหน่วยรวมของสังคมซึ่งเป็นพื้นฐานและเป็นธรรมชาติและมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากสังคมและรัฐ และคนพิการรวมทั้งสมาชิกในครอบครัวควรได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือที่จำเป็นเพื่อให้ครอบครัวมีส่วนช่วยให้คนพิการได้อุปโภคสิทธิอย่างเต็มที่และเท่าเทียม

                (วาย) เชื่อมั่นว่าอนุสัญญาระหว่างประเทศที่มีเนื้อหาที่ครอบคลุมและครบถ้วนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและศักดิ์ศรีของคนพิการจะมีส่วนช่วยอย่างสำคัญในการแก้ไขความเสียเปรียบอย่างยิ่งทางสังคมของคนพิการ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนพิการด้านความเป็นพลเมือง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ด้วยโอกาสที่เท่าเทียม ทั้งในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว

 

                ได้ตกลงกัน ดังนี้

 


ข้อ 1

ความมุ่งประสงค์

                อนุสัญญานี้มีความมุ่งประสงค์เพื่อส่งเสริม คุ้มครองและประกันให้คนพิการทั้งปวง ได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน และส่งเสริมการเคารพในศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิด

                คนพิการ หมายความรวมถึง บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา หรือทางประสาทสัมผัสในระยะยาว ซึ่งเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับอุปสรรคนานัปการ จะกีดขวางการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

 

ข้อ 2

นิยาม

 

เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้

                 “การสื่อสาร” หมายความรวมถึงการสื่อสารด้วยภาษา การแสดงข้อความ อักษรเบรลล์ การสื่อสารด้วยการสัมผัส ตัวพิมพ์ขนาดใหญ่ สื่อผสมที่สามารถเข้าถึงได้ ตลอดจนสื่อที่เป็นลายลักษณ์อักษร สื่อเสียง ภาษาที่เข้าใจง่าย ผู้อ่าน และช่องทาง วิธีการ และรูปแบบการสื่อสารทางเลือกและการสื่อสารเสริม รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงได้

                 “ภาษา” หมายความรวมถึงภาษาพูด ภาษามือ และรูปแบบอื่นๆ ของภาษาที่ไม่ใช้เสียงพูด

                 “การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการ” หมายถึง ความแตกต่าง การกีดกัน หรือการจำกัดบนพื้นฐานของความพิการซึ่งมีความมุ่งประสงค์หรือส่งผลให้เป็นการเสื่อมเสียหรือทำให้ไร้ผลซึ่งการยอมรับ การอุปโภคหรือการใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความเป็นพลเมืองหรือด้านอื่น รวมถึงการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ รวมทั้งการปฏิเสธการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล

                 “การช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล” หมายถึง การเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงที่จำเป็นและเหมาะสมโดยไม่ก่อให้เกิดภาระอันเกินควรหรือเกินสัดส่วน เฉพาะในกรณีที่จำเป็น เพื่อประกันว่าคนพิการได้อุปโภคและใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

                 “การออกแบบที่เป็นสากล” หมายถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ สภาพแวดล้อม โปรแกรม และบริการที่ทุกคนสามารถใช้ได้ ในขอบเขตมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยไม่จำเป็นต้องดัดแปลง หรือออกแบบเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความต้องการจำเป็น “การออกแบบที่เป็นสากล” จะต้องไม่ถูกกันออกไปซึ่งอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการเฉพาะกลุ่ม

 

ข้อ 3

หลักการทั่วไป

 

หลักการของอนุสัญญานี้ มีดังนี้

                (เอ) การเคารพในศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิด การอยู่ได้ด้วยตนเอง รวมถึงเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง และความเป็นอิสระของบุคคล

                (บี) การไม่เลือกปฏิบัติ

                (ซี) การเข้ามีส่วนร่วมและเข้าร่วมได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลในสังคม

                (ดี) การเคารพความแตกต่างและการยอมรับว่าคนพิการเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายของมนุษย์และมนุษยชาติ

                (อี) ความเท่าเทียมกันของโอกาส

                (เอฟ) ความสามารถในการเข้าถึง

                (จี) ความเท่าเทียมกันระหว่างชายกับหญิง

                (เอช) การเคารพขีดความสามารถของเด็กพิการที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและการเคารพสิทธิของเด็กพิการเพื่อสงวนรักษาอัตลักษณ์แห่งตน

ข้อ 4

พันธกรณีทั่วไป

 

1. รัฐภาคีรับที่จะประกันและส่งเสริมในการทำให้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนพิการทั้งปวงกลายเป็นจริงอย่างเต็มที่ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติในรูปแบบใดๆ บนพื้นฐานจากความพิการ เพื่อการนี้ รัฐภาคีรับที่จะดำเนินการ

                (เอ) ออกมาตรการทางกฎหมาย ทางปกครองและมาตรการอื่นๆ ที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อให้มีการปฏิบัติตามสิทธิที่รับรองไว้ในอนุสัญญานี้

                (บี) ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง รวมทั้งการออกกฎหมาย เพื่อแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย กฎระเบียบ จารีตประเพณีและทางปฏิบัติที่มีอยู่ซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ

                (ซี) คำนึงถึงการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของคนพิการในนโยบายและแผนงานทั้งปวง

                (ดี) ละเว้นไม่เข้าร่วมในการกระทำหรือทางปฏิบัติใดๆ อันไม่สอดคล้องกับอนุสัญญานี้ และประกันว่าหน่วยงานและสถาบันของรัฐจะกระทำการโดยสอดคล้องกับอนุสัญญานี้

                (อี) ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการโดยบุคคล องค์การหรือวิสาหกิจใดๆ

                (เอฟ) รับที่จะดำเนินการหรือส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสินค้า บริการ เครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ออกแบบอย่างเป็นสากล ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ของอนุสัญญานี้ โดยควรให้มีการดัดแปลงน้อยที่สุดและค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้ตรงกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการ เพื่อส่งเสริมการจัดให้มีและใช้ประโยชน์ และเพื่อส่งเสริมการออกแบบที่เป็นสากลในการพัฒนามาตรฐานและแนวทาง

                (จี) รับที่จะดำเนินการหรือส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนา และส่งเสริมการจัดให้มีและการใช้เทคโนโลยีใหม่รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เครื่องช่วยในการเคลื่อนไหว อุปกรณ์และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมต่อคนพิการ ทั้งนี้ ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับเทคโนโลยี ในราคาที่คนพิการสามารถจ่ายได้

                (เอช) จัดให้มีสารสนเทศที่สามารถเข้าถึงได้แก่คนพิการเกี่ยวกับเครื่องช่วยในการเคลื่อนไหว เครื่องมือ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ ตลอดจนความช่วยเหลือ บริการสนับสนุนและสิ่งอำนวยความสะดวกในรูปแบบอื่น

                (ไอ) ส่งเสริมการฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพและบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับคนพิการให้ทราบถึงสิทธิที่รับรองไว้ในอนุสัญญานี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือและบริการตามที่ประกันไว้โดยสิทธิเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น

 

2. รัฐภาคีแต่ละรัฐรับที่จะดำเนินมาตรการ เกี่ยวกับสิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมโดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ของตน และหากจำเป็น ภายใต้กรอบของความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลในการทำให้สิทธิเหล่านี้กลายเป็นจริงอย่างเต็มที่โดยลำดับโดยไม่กระทบต่อพันธกรณีที่ระบุไว้ในอนุสัญญานี้ซึ่งมีผลใช้บังคับทันทีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

3. ในการพัฒนาและปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายเพื่อปฏิบัติตามอนุสัญญานี้และในกระบวนการตัดสินใจอื่นที่เกี่ยวกับประเด็นคนพิการ ให้รัฐภาคีหารือกับคนพิการอย่างใกล้ชิด และให้คนพิการ รวมทั้งให้เด็กพิการได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันผ่านทางองค์การที่เป็นผู้แทนของตน

4. อนุสัญญานี้จะไม่มีผลกระทบต่อบทบัญญัติใดๆ ที่เป็นประโยชน์ยิ่งกว่าในการทำให้สิทธิของคนพิการกลายเป็นจริง และที่ได้ระบุไว้ในกฎหมายของรัฐภาคีหรือกฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้ต่อรัฐนั้น ทั้งนี้ จะห้ามจำกัดหรือลิดรอนสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานใดๆ ที่ได้รับการยอมรับหรือที่มีอยู่แล้วในรัฐภาคีของอนุสัญญานี้ตามกฎหมาย อนุสัญญา กฎระเบียบหรือจารีตประเพณี โดยอ้างว่าอนุสัญญานี้ไม่รับรองสิทธิหรือเสรีภาพดังกล่าวหรือรับรองสิทธิหรือเสรีภาพนั้นในขอบเขตที่ด้อยกว่า

5. ให้บทบัญญัติของอนุสัญญานี้ครอบคลุมถึงทุกส่วนของสหพันธรัฐ โดยปราศจากข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นใดๆ

 

 

 

ข้อ 5

ความเท่าเทียมกันและการไม่เลือกปฏิบัติ

 

1. รัฐภาคียอมรับว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันเบื้องหน้าและภายใต้กฎหมาย และมีสิทธิ ที่จะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกันตามกฎหมายโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ

2. ให้รัฐภาคีห้ามการเลือกปฏิบัติทั้งปวงเพราะเหตุแห่งความพิการ และประกันให้คนพิการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิผลจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุทั้งปวง

3. เพื่อเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมกันและขจัดการเลือกปฏิบัติ ให้รัฐภาคีดำเนินขั้นตอนที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อประกันว่าจะจัดให้มีการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล

4. มาตรการเฉพาะซึ่งจำเป็นในการเร่งหรือเพื่อให้บรรลุถึงความเท่าเทียมกันในทางปฏิบัติแก่คนพิการต้องไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติภายใต้เงื่อนไขของอนุสัญญานี้

 

ข้อ 6

สตรีพิการ

 

1. รัฐภาคียอมรับว่าสตรีและเด็กหญิงพิการนั้นตกอยู่ภายใต้การเลือกปฏิบัติอย่างทวีคูณ และในการนี้ รัฐภาคีต้องดำเนินมาตรการเพื่อประกันว่าสตรีและเด็กหญิงพิการจะได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงอย่างเต็มที่และโดยเท่าเทียมกัน

2. ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อประกันให้เกิดการพัฒนา ความก้าวหน้าและการเสริมสร้างพลังอำนาจแก่สตรีอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นหลักประกันว่าบุคคลเหล่านี้จะสามารถใช้และอุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญานี้

 

ข้อ 7

เด็กพิการ

 

1. ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งปวงเพื่อประกันว่า เด็กพิการได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงอย่างเต็มที่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับเด็กอื่น

2. ในการดำเนินการทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็กพิการ ผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก

3. ให้รัฐภาคีประกันว่าเด็กพิการมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีในทุกเรื่องที่มีผลกระทบต่อตน ทั้งนี้ความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะได้รับการพิจารณาตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็กนั้น บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับเด็กอื่น และได้รับความช่วยเหลือ ที่เหมาะสมกับวัยและความพิการ เพื่อให้ดำเนินการให้ใช้สิทธิดังกล่าวบังเกิดผล

 

ข้อ 8

การสร้างความตระหนัก

 

1. ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิผล เหมาะสม และมีผลทันที เพื่อ

                (เอ) สร้างความตระหนักเกี่ยวกับคนพิการให้มีขึ้นในสังคม รวมทั้งในระดับครอบครัว และเสริมสร้างการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีของคนพิการ

                (บี) ต่อสู้กับเจตคติแบบเก่า อคติและการปฏิบัติที่เป็นภัยต่อคนพิการซึ่งรวมถึงเจตคติ อคติและการปฏิบัติบนพื้นฐานของเพศและวัยในทุกด้านของการดำเนินชีวิต

                (ซี) ส่งเสริมการตระหนักถึงความสามารถและการมีส่วนสนับสนุนของคนพิการต่อสังคม

 

2. มาตรการเพื่อการนี้รวมถึง

 

                (เอ) ริเริ่มและคงไว้ซึ่งการรณรงค์สร้างความตระหนักแก่สาธารณะที่มีประสิทธิผล เพื่อ

                                (1) ปลูกฝังการยอมรับในสิทธิของคนพิการ

                                (2) ส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกและเพิ่มความตระหนักทางสังคมต่อคนพิการ

                                (3) ส่งเสริมการยอมรับทักษะ ข้อดีและความสามารถของคนพิการ และการยอมรับการมีส่วนสนับสนุนของคนพิการต่อสถานที่ทำงานและตลาดแรงงาน

                (บี) เสริมสร้างเจตคติในการเคารพสิทธิของคนพิการในทุกระดับการศึกษา รวมทั้งในเด็กตั้งแต่วัยเยาว์

                (ซี) สนับสนุนให้องค์กรสื่อทั้งปวงเสนอภาพลักษณ์ของคนพิการในลักษณะที่สอดคล้องกับความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้

                (ดี) ส่งเสริมโปรแกรมการฝึกอบรมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับคนพิการและสิทธิของคนพิการ

 

ข้อ 9

ความสามารถในการเข้าถึง

 

1. เพื่อให้คนพิการดำรงชีวิตอยู่ได้โดยอิสระและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกด้านของการดำเนินชีวิต รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมที่จะให้คนพิการสามารถเข้าถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ การขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศและการสื่อสาร และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงบริการอื่นที่เปิดหรือที่จัดให้แก่สาธารณะ ทั้งในเมืองและในชนบท ทั้งนี้บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น มาตรการเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงการบ่งชี้ และการขจัดอุปสรรคและข้อกีดกันต่อความสามารถในการเข้าถึง ซึ่งจะใช้บังคับกับ

                (เอ) อาคาร ถนน การขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ รวมถึงโรงเรียน บ้าน สถานบริการทางการแพทย์ และสถานที่ทำงาน

                (บี) บริการสารสนเทศ การสื่อสาร และบริการอื่นๆ รวมถึงบริการอิเล็กทรอนิกส์และบริการในกรณีฉุกเฉิน

 

2. ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมดังนี้

                (เอ) พัฒนา ประกาศใช้ และตรวจสอบติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐานและแนวปฏิบัติขั้นต่ำเพื่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่เปิดหรือที่จัดให้แก่สาธารณะ

                (บี) ประกันว่าองค์กรภาคเอกชนซึ่งจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่เปิดหรือจัดหาแก่สาธารณะจะคำนึงถึงแง่มุมทุกด้านของการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสำหรับคนพิการ

                (ซี) จัดการฝึกอบรมสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงที่คนพิการเผชิญอยู่

                (ดี) จัดให้มี สัญลักษณ์ที่เป็นอักษรเบรลล์ และในรูปแบบที่อ่านและเข้าใจได้ง่ายไว้ในอาคารและสถานที่ที่เปิดให้แก่สาธารณะ

                (อี) จัดให้มีรูปแบบความช่วยเหลือที่เป็นสิ่งมีชีวิต และเป็นสื่อกลาง รวมถึงคนนำทาง ผู้อ่านและล่ามภาษามืออาชีพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงอาคารและสถานที่ที่เปิดให้แก่สาธารณะ

                (เอฟ) ส่งเสริมรูปแบบที่เหมาะสมอื่นๆ ของความช่วยเหลือและการสนับสนุนแก่คนพิการเพื่อประกันให้คนพิการเข้าถึงสารสนเทศ

                (จี) ส่งเสริมให้คนพิการเข้าถึงเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศและการสื่อสารใหม่ๆ รวมถึงอินเตอร์เน็ต

                (เอช) ส่งเสริมการออกแบบ การพัฒนา การผลิตและการจำหน่ายเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศและการสื่อสารที่สามารถเข้าถึงได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เพื่อให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีและระบบดังกล่าวด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำสุด

 

 

ข้อ 10

สิทธิในชีวิต

 

                รัฐภาคียืนยันว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่มีมาแต่กำเนิดในการมีชีวิต และจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งปวงเพื่อให้คนพิการสามารถอุปโภคสิทธิดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิผลบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

 

ข้อ 11

สถานการณ์ที่มีความเสี่ยงและสถานการณ์ฉุกเฉินทางมนุษยธรรม

               

                รัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งปวงเพื่อประกันการคุ้มครองและความปลอดภัยของคนพิการในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง รวมทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธ สถานการณ์ฉุกเฉินทางมนุษยธรรมและการเกิดขึ้นของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งนี้ ตามพันธกรณีของรัฐภาคีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมทั้งกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

ข้อ 12

การยอมรับอย่างเท่าเทียมกันเบื้องหน้ากฎหมาย

 

1. รัฐภาคียืนยันว่าคนพิการมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลเบื้องหน้ากฎหมายในทุกแห่งหน

2. ให้รัฐภาคียอมรับว่าคนพิการอุปโภคความสามารถทางกฎหมายในทุกด้านของการดำเนินชีวิต บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

3. ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมในการจัดให้คนพิการเข้าถึงการสนับสนุนที่ตนต้องการในการใช้ความสามารถทางกฎหมาย

4. ให้รัฐภาคีประกันว่ามาตรการทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความสามารถทางกฎหมายจะให้การปกป้องที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลเพื่อป้องกันการใช้ความสามารถนั้นไปในทางที่ผิด ทั้งนี้โดยสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มาตรการปกป้องดังกล่าวจะต้องประกันให้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความสามารถทางกฎหมายนั้นเคารพสิทธิ เจตนารมณ์ และความประสงค์ของบุคคลนั้น ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และอิทธิพลที่เกินควร อีกทั้งต้องได้สัดส่วนและเหมาะสมกับสภาวการณ์ของบุคคล โดยจะบังคับใช้ในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และจะต้องมีการทบทวนเป็นระยะโดยหน่วยงานที่มีอำนาจซึ่งมีความเป็นอิสระและเป็นกลางหรือองค์กรทางตุลาการ มาตรการปกป้องดังกล่าวจะต้องได้สัดส่วนกับระดับที่มาตรการกระทบต่อสิทธิและส่วนได้เสียของบุคคลนั้น

5. ภายใต้บทบัญญัติของข้อนี้ ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการทั้งปวงที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลเพื่อประกันสิทธิที่เท่าเทียมกันของคนพิการในการเป็นเจ้าของหรือรับทรัพย์มรดก การควบคุมเรื่องการเงินของตนเอง และการเข้าถึงเงินกู้ธนาคาร การจำนอง และสินเชื่อทางการเงินในรูปแบบอื่น อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งต้องประกันว่าคนพิการจะไม่ถูกลิดรอนทรัพย์สินตามอำเภอใจ

 

ข้อ 13

การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

 

1. ให้รัฐภาคีประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิผลสำหรับคนพิการบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือในเรื่องกระบวนวิธีพิจารณาและความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามวัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการแสดงบทบาทของคนพิการในฐานะผู้มีส่วนร่วมโดยตรงและโดยทางอ้อม รวมทั้งในฐานะเป็นพยาน ในกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายทั้งปวง รวมทั้งในขั้นตอนการสอบสวนและกระบวนการเบื้องต้นอื่นๆ

2. เพื่อประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างมีประสิทธิผลสำหรับคนพิการ ให้รัฐภาคีส่งเสริมการฝึกอบรมที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ทำงานในด้านกระบวนการยุติธรรม รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์

 

ข้อ 14

เสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล

 

1. ให้รัฐภาคีประกันให้คนพิการ บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

                (เอ) อุปโภคสิทธิในเสรีภาพและความมั่นคงของบุคคล

                (บี) ไม่ถูกลิดรอนเสรีภาพของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือตามอำเภอใจ และการลิดรอนเสรีภาพใดๆ จะต้องสอดคล้องกับกฎหมาย และไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ความพิการที่มีอยู่ย่อมไม่เป็นเหตุแห่งการลิดรอนเสรีภาพ

 

2. ให้รัฐภาคีประกันว่า หากคนพิการถูกลิดรอนเสรีภาพโดยกระบวนการใดๆ พวกเขาจะมีสิทธิได้รับหลักประกันที่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น และจะได้รับการปฏิบัติโดยสอดคล้องกับความมุ่งประสงค์และหลักการของอนุสัญญานี้ รวมทั้งการได้รับการช่วยเหลือที่สมเหตุสมผล

 

ข้อ 15

เสรีภาพจากการถูกทรมาน หรือการลงโทษ หรือการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

 

1. บุคคลจะถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลจะถูกใช้ในการทดลองทางการแพทย์หรือทางวิทยาศาสตร์ โดยปราศจากความยินยอมอย่างเสรีของบุคคลนั้นมิได้

2. ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการทั้งปวงทางกฎหมาย ทางปกครอง ทางศาลหรือมาตรการอื่นๆ ที่มีประสิทธิผลเพื่อป้องกันคนพิการจากการเป็นเหยื่อของการกระทำทรมาน ปฏิบัติหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

 

ข้อ 16

เสรีภาพจากการถูกแสวงประโยชน์ การใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิด

 

1. ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการทั้งปวงทางกฎหมาย ทางปกครอง สังคม การศึกษา และมาตรการอื่นที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อคุ้มครองคนพิการทั้งภายในและนอกเคหสถาน จากการถูกแสวงประโยชน์ การใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิดในทุกรูปแบบ รวมถึงการกระทำ เช่นว่าบนพื้นฐานของเพศสภาพ

2. ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อป้องกันการถูกแสวงประโยชน์ การใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิด ด้วยการประกันให้มีรูปแบบความช่วยเหลือและการสนับสนุนที่เหมาะสมและคำนึงถึงเพศและวัยแก่คนพิการและครอบครัวและผู้ดูแล รวมทั้งการจัดทำข้อมูลสารสนเทศและการศึกษาว่าด้วยการหลีกเลี่ยง ตระหนักและรายงานเหตุการณ์การถูกแสวงประโยชน์ การใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิด ให้รัฐภาคีประกันว่าการบริการให้ความคุ้มครองจะคำนึงถึงวัย เพศสภาพและความพิการของบุคคล

3. เพื่อป้องกันมิให้เกิดการถูกแสวงประโยชน์ การใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิด ให้รัฐภาคีประกันว่าสิ่งอำนวยความสะดวกและโปรแกรมที่ออกแบบเพื่อให้บริการคนพิการ จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิผลจากหน่วยงานอิสระ

4. ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงในการส่งเสริมการฟื้นคืน การฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย ทางจิตใจ และการรับรู้ และการคืนสู่สังคมของคนพิการซึ่งตกเป็นเหยื่อของการถูกแสวงประโยชน์ การใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิด ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ รวมถึงโดยการจัดให้มีบริการการคุ้มครองการฟื้นคืนและการคืนสู่สังคมเช่นว่านั้นจะต้องเกิดขึ้นได้ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี การเคารพตนเอง ศักดิ์ศรีและการอยู่ได้ด้วยตนเองของบุคคล และคำนึงถึงความต้องการจำเป็นเฉพาะตามเพศสภาพและวัยของบุคคลด้วย

5. ให้รัฐภาคีจัดทำกฎหมายและนโยบายที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงกฎหมายและนโยบายสำหรับสตรีและเด็กเป็นการเฉพาะ เพื่อประกันว่าการถูกแสวงประโยชน์ การใช้ความรุนแรงและการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้น จะได้รับการพิสูจน์ทราบ สอบสวนและ ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไปได้ในกรณีที่เหมาะสม

 

ข้อ 17

การคุ้มครองบูรณภาพของบุคคล

 

                คนพิการทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการเคารพในบูรณภาพทางร่างกายและจิตใจของตนบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

 

ข้อ 18

เสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐานและการถือสัญชาติ

 

1. ให้รัฐภาคียอมรับสิทธิของคนพิการที่จะมีเสรีภาพในการโยกย้ายถิ่นฐาน เสรีภาพในการเลือกที่อยู่อาศัยของตนเอง และการถือสัญชาติ บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น รวมทั้งโดยการประกันให้คนพิการ :

                (เอ) มีสิทธิในการได้และเปลี่ยนแปลงสัญชาติ และจะต้องไม่ถูกถอนสัญชาติตามอำเภอใจหรือเพราะเหตุแห่งความพิการ

                (บี) ไม่ถูกลิดรอนจากการมีสิทธิที่จะได้รับ ครอบครองและใช้เอกสารสัญชาติของตนหรือเอกสารอื่นเกี่ยวกับบัตรประจำตัว หรือดำเนินขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองที่จำเป็นในการโยกย้ายถิ่นฐานได้ ทั้งนี้ เพราะเหตุแห่งความพิการ

                (ซี) ย่อมออกจากประเทศใดๆ รวมทั้งประเทศของตนได้โดยเสรี

                (ดี) ไม่ถูกลิดรอนสิทธิในการเดินทางเข้าประเทศของตนตามอำเภอใจหรือเพราะเหตุแห่งความพิการ

 

2. เด็กพิการจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังจากเกิด และจะมีสิทธิตั้งแต่เกิดในการมีชื่อ มีสิทธิที่จะได้มาซึ่งสัญชาติ และในขอบเขตที่เป็นไปได้ที่สุด สิทธิที่จะรู้จักและได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน

 

ข้อ 19

การอยู่ได้โดยอิสระและการเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน

 

                รัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้ ยอมรับสิทธิเท่าเทียมกันของคนพิการทั้งหลายในการอยู่อาศัยในชุมชน โดยสามารถเลือกได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่นและจะดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิผลและเหมาะสมที่เอื้อให้คนพิการได้อุปโภคสิทธินี้ได้อย่างเต็มที่ และการเป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในชุมชน รวมทั้งประกันว่า

                (เอ) คนพิการมีโอกาสเลือกสถานที่อยู่อาศัย ทั้งสถานที่ตั้งและบุคคลที่ตนต้องการอาศัยอยู่ด้วยบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น และไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในที่อาศัยที่มีการจัดเตรียมให้เฉพาะเท่านั้น

                (บี) คนพิการจะสามารถเข้าถึงบริการในระดับต่างๆ ทั้งบริการภายในเคหสถาน บริการที่พักอาศัยและบริการสนับสนุนอื่นๆ ในชุมชน รวมถึงความช่วยเหลือส่วนบุคคลที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน และการป้องกันการถูกทำให้โดดเดี่ยวหรือแบ่งแยกออกจากชุมชน

                (ซี) บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกของชุมชนที่จัดไว้สำหรับประชาชนทั่วไปจะต้องจัดไว้ให้สำหรับคนพิการบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันและตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของคนพิการ

 

 

 

ข้อ 20

การเคลื่อนไหวส่วนบุคคล

 

                ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิผลเพื่อประกันการเคลื่อนไหวส่วนบุคคลสำหรับคนพิการ อย่างเป็นอิสระที่เป็นไปได้สูงสุด รวมทั้ง

                (เอ) การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนไหวส่วนบุคคลของคนพิการในลักษณะและเวลาที่คนพิการเลือก และในราคาที่คนพิการสามารถจ่ายได้

                (บี) การอำนวยความสะดวกให้คนพิการเข้าถึงเครื่องช่วยการเคลื่อนไหว เครื่องมือ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก และรูปแบบความช่วยเหลือที่เป็นสิ่งมีชีวิตและสื่อกลาง รวมทั้งทำให้สิ่งดังกล่าวอยู่ในราคาที่คนพิการสามารถจ่ายได้

                (ซี) การจัดการฝึกอบรมด้านทักษะการเคลื่อนไหวให้แก่คนพิการและแก่เจ้าหน้าที่เฉพาะทางที่ทำงานกับคนพิการ

                (ดี) การสนับสนุนให้องค์กรที่ผลิตเครื่องช่วยในการเคลื่อนไหว เครื่องมือ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ คำนึงถึงทุกแง่มุมของการเคลื่อนไหวสำหรับคนพิการ

 

ข้อ 21

เสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงสารสนเทศ

 

                ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อประกันให้คนพิการสามารถใช้สิทธิในการมีเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น รวมถึงเสรีภาพในการแสวงหา ได้รับและเผยแพร่สารสนเทศและความคิดบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น และโดยผ่านรูปแบบการสื่อสารทั้งปวงที่คนพิการเลือก ตามที่ได้นิยามไว้ในข้อ 2 ของอนุสัญญานี้ โดยรวมถึง

                (เอ) การจัดให้มีสารสนเทศที่มีไว้สำหรับประชาชนทั่วไปแก่คนพิการในรูปแบบและเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้และเหมาะสมต่อความพิการในรูปแบบต่างๆ ภายในเวลาที่เหมาะสมและไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

                (บี) การยอมรับและอำนวยความสะดวกการใช้ภาษามือ อักษรเบรลล์ การสื่อสารทางเลือกและการสื่อสารเสริม และช่องทาง วิธีการและรูปแบบการสื่อสารทั้งปวงที่สามารถเข้าถึงได้ ที่คนพิการเลือกในการมีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐ

                (ซี) การเร่งรัดองค์กรภาคเอกชนซึ่งให้บริการประชาชนโดยทั่วไป รวมถึงบริการผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อให้สารสนเทศและบริการในรูปแบบที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

                (ดี) การสนับสนุนให้สื่อมวลชน รวมทั้งผู้ให้สารสนเทศทางอินเตอร์เน็ต จัดทำบริการของตนให้คนพิการสามารถเข้าถึงได้

                (อี) การยอมรับและส่งเสริมการใช้ภาษามือ

 

ข้อ 22

การเคารพความเป็นส่วนตัว

 

1. คนพิการไม่ว่าจะมีสถานที่อยู่อาศัยหรือการจัดที่อยู่อาศัยลักษณะใดจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน หรือการติดต่อทางจดหมายหรือการสื่อสารชนิดอื่นโดยพลการหรือโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกลบหลู่เกียรติยศและชื่อเสียงโดยมิชอบด้วยกฎหมายมิได้ คนพิการมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายจากการถูกแทรกแซงหรือถูกลบหลู่ดังกล่าว

2. ให้รัฐภาคีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพและการฟื้นฟูสมรรถภาพของคนพิการ บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

 

 

 

ข้อ 23

การเคารพในการสร้างครอบครัวและสถาบันครอบครัว

 

1. ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิผลและเหมาะสมเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการในทุกด้านที่เกี่ยวกับการสมรส ครอบครัว ความเป็นบิดามารดา และความสัมพันธ์ต่างๆ บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น โดยประกันว่า

                (เอ) สิทธิของคนพิการทั้งปวงที่ถึงวัยสมรสให้สามารถสมรสและสร้างครอบครัวได้บนพื้นฐานของความยินยอมพร้อมใจและโดยอิสระของผู้เจตนาจะสมรสกัน

                (บี) สิทธิของคนพิการในการตัดสินใจได้อย่างอิสระและอย่างมีความรับผิดชอบในการกำหนดจำนวนบุตรและการเว้นระยะการมีบุตร และให้เข้าถึงสารสนเทศที่เหมาะสมกับวัย การให้ความรู้เกี่ยวกับการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว ย่อมได้รับการยอมรับ และจัดให้มีวิธีการที่ช่วยให้คนพิการสามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้

                (ซี) คนพิการรวมทั้งเด็กพิการ คงไว้ซึ่งความสามารถในการเจริญพันธุ์บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

 

2. ให้รัฐภาคีประกันสิทธิและความรับผิดชอบของคนพิการในเรื่องการปกครองบุตร การปกป้องบุตร การได้รับมอบหมายให้ดูแลบุตร และการรับบุตรบุญธรรม หรือรูปแบบใดๆ ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ปรากฏในกฎหมายภายใน ในทุกกรณีประโยชน์สูงสุดของเด็กจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ให้รัฐภาคีให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมแก่คนพิการในการทำหน้าที่รับผิดชอบเลี้ยงดูบุตร

3. ให้รัฐภาคีประกันว่าเด็กพิการมีสิทธิเท่าเทียมกับบุคคลอื่นในด้านชีวิตครอบครัว และเพื่อให้สามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้จริงและเพื่อป้องกันการปกปิด ทอดทิ้ง ละเลย และพรากเด็กพิการจากครอบครัว รัฐภาคีจะดำเนินการเพื่อจัดให้มีสารสนเทศ การบริการและการสนับสนุนที่ครอบคลุมและตั้งแต่แรกเริ่มแก่เด็กพิการและครอบครัว

4. ให้รัฐภาคีประกันว่าเด็กจะไม่ถูกแยกจากบิดามารดาโดยขัดต่อความประสงค์ของบิดามารดา เว้นแต่จะกำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจว่าการแยกเช่นนี้จำเป็นเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก โดยสอดคล้องกับกฎหมายและวิธีพิจารณาที่ใช้บังคับอยู่ ทั้งนี้ การกำหนด เช่นว่าอาจถูกทบทวนได้โดยทางศาล ในทุกกรณีเด็กย่อมไม่ถูกแยกจากบิดามารดาเพราะเหตุแห่งความพิการไม่ว่าของเด็ก หรือของบิดา หรือของมารดาหรือของทั้งบิดาและมารดา

5. ในกรณีที่ครอบครัวใกล้ชิดไม่สามารถดูแลเด็กพิการได้ ให้รัฐภาคีดำเนินความพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้เด็กพิการได้รับการดูแลทางเลือกภายในครอบครัวขยายของเด็กนั้น แต่หากยังไม่อาจเป็นไปได้ ก็ให้ได้รับการดูแลแบบครอบครัวภายในชุมชนที่เด็กพิการดังกล่าวอาศัยอยู่

 

ข้อ 24

การศึกษา

 

1. รัฐภาคียอมรับสิทธิของคนพิการด้านการศึกษา และเพื่อให้สามารถใช้สิทธิเหล่านี้ได้จริงโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติและบนพื้นฐานของโอกาสที่เท่าเทียมกัน ให้รัฐภาคีประกันการมีระบบการศึกษาแบบเรียนร่วมในทุกระดับและการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยมุ่งเพื่อ

                (เอ) การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์และการสำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าของตนอย่างเต็มที่ และการเสริมสร้างการเคารพในสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐานและความหลากหลายของมนุษย์

                (บี) การให้คนพิการได้พัฒนาบุคลิกภาพ พรสวรรค์ และความคิดสร้างสรรค์ของตน รวมทั้งความสามารถด้านจิตใจและร่างกาย ให้ถึงศักยภาพสูงสุด

                (ซี) การให้คนพิการสามารถเข้ามีส่วนร่วมในสังคมเสรีได้อย่างมีประสิทธิผล

 

2. เพื่อให้สามารถใช้สิทธินี้ได้จริง ให้รัฐภาคีประกันว่า

                (เอ) คนพิการจะไม่ถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาทั่วไป เพราะเหตุแห่งความพิการ และเด็กพิการนั้นจะไม่ถูกกีดกันจากการศึกษาภาคบังคับระดับประถมศึกษาและโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือการศึกษาระดับมัธยมศึกษา เพราะเหตุแห่งความพิการ

                (บี) คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแบบเรียนร่วมที่มีคุณภาพและโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นในชุมชนที่ตนอาศัยอยู่

                (ซี) คนพิการจะได้รับความช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลกับความต้องการของแต่ละบุคคล

                (ดี) คนพิการได้รับการสนับสนุนตามที่ต้องการในระบบการศึกษาทั่วไปเพื่ออำนวยความสะดวกในการศึกษาอย่างมีประสิทธิผลแก่คนพิการนั้น

                (อี) มีการจัดมาตรการสนับสนุนเฉพาะบุคคลที่มีประสิทธิผลแก่คนพิการในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาการและการพัฒนาทางสังคมอย่างสูงสุด และสอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างเต็มที่

 

3. ให้รัฐภาคีดำเนินการให้คนพิการสามารถเรียนรู้ทักษะในการพัฒนาชีวิตและทักษะทางสังคมเพื่อให้สามารถเข้าร่วมในการศึกษาได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมและในฐานะเป็นสมาชิกของชุมชน เพื่อการนี้ ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสม อันรวมถึง

                (เอ) การส่งเสริมการเรียนอักษรเบรลล์ ตัวอักษรทางเลือกอื่น ช่องทาง วิธีการและรูปแบบการสื่อสารทางเลือกและการสื่อสารเสริม และทักษะการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและเคลื่อนไหว และการส่งเสริมการสนับสนุนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน และระบบพี่เลี้ยง

                (บี) การส่งเสริมให้มีการเรียนภาษามือและการสนับสนุนเอกลักษณ์ทางภาษาของชุมชนคนหูหนวก

                (ซี) การประกันว่าการให้การศึกษาแก่บุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กตาบอด หูหนวก หรือตาบอดหูหนวกจะมีภาษาและวิธีสื่อสารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละบุคคล และในสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางวิชาการและการพัฒนาทางสังคมได้อย่างสูงสุด

 

4. เพื่อเป็นการช่วยประกันการใช้สิทธินี้ได้จริงในประการดังกล่าว ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อจ้างครู รวมทั้งครูพิการที่มีความชำนาญในการใช้ภาษามือและ/หรืออักษรเบรลล์ และจะฝึกอบรมผู้ประกอบวิชาชีพและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในทุกระดับการศึกษา การฝึกอบรมดังกล่าวจะบรรจุการตระหนักเรื่องความพิการไว้และการใช้ ช่องทาง วิธีการ และรูปแบบการสื่อสารทางเลือกและการสื่อสารเสริมที่เหมาะสม เทคนิคสื่อและวิธีการเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนคนพิการ

 

5. ให้รัฐภาคีประกันว่าคนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาทั่วไปในระดับอุดมศึกษา การฝึกอบรมวิชาชีพ การศึกษาผู้ใหญ่และการเรียนรู้ตลอดชีวิตปราศจากการเลือกปฏิบัติและบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น เพื่อการนี้ ให้รัฐภาคีประกันว่าจะจัดให้มีความช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลแก่คนพิการ

 

ข้อ 25

สุขภาพ

 

รัฐภาคียอมรับว่าคนพิการมีสิทธิในการอุปโภคมาตรฐานสาธารณสุขที่สูงสุดเท่าที่จะหาได้โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุแห่งความพิการ ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อประกันให้คนพิการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขโดยคำนึงถึงเพศสภาพ รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้รัฐภาคี

                (เอ) จัดให้มีบริการด้านสุขภาพโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือที่สามารถจ่ายได้สำหรับคนพิการ ในระดับคุณภาพและมาตรฐานเช่นเดียวกับการที่จัดให้บุคคลอื่นรวมถึงบริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ และโปรแกรมสาธารณสุขที่มีให้กับประชาชนทั่วไป

                (บี) จัดให้มีบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นสำหรับคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับความพิการ รวมทั้งการบ่งชี้และช่วยเหลือในระยะแรกเริ่มอย่างเหมาะสม และการบริการที่จัดให้เพื่อจำกัดระดับความพิการให้น้อยที่สุดและป้องกันไม่ให้เกิดความพิการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รวมทั้งในเด็กและผู้สูงอายุ

                (ซี) จัดให้มีบริการด้านสุขภาพเหล่านี้ ให้อยู่ใกล้เคียงมากที่สุดกับชุมชนที่คนพิการอาศัยอยู่เท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งในพื้นที่ชนบท

                (ดี) กำหนดให้ บุคลากรทางการแพทย์ให้การดูแลคนพิการด้วยคุณภาพเดียวกันกับที่ให้แก่คนอื่นๆ รวมถึงบนพื้นฐานของความยินยอมโดยสมัครใจและโดยได้รับข้อมูลข่าวสาร ด้วยการสร้างความตระหนักด้านสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรี การอยู่ได้ด้วยตนเอง และความต้องการจำเป็นของคนพิการโดยวิธีฝึกอบรมและประกาศใช้มาตรฐานจรรยาบรรณสำหรับการดูแลสุขภาพโดยภาครัฐและเอกชน

                (อี) ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการในการประกันสุขภาพและการประกันชีวิต ซึ่งต้องจัดให้มีอย่างยุติธรรมและสมเหตุสมผล และในกรณีการประกันชีวิต ให้เป็นไปตามกฎหมายภายในของรัฐนั้นที่กำหนดให้มีการประกันชีวิตได้

                (เอฟ) ป้องกันการปฏิเสธการดูแลด้านสุขภาพหรือการบริการด้านสุขภาพหรืออาหารและสารเหลวโดยเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความพิการ

 

ข้อ 26

การส่งเสริมสมรรถภาพและการฟื้นฟูสมรรถภาพ

 

1. ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล รวมถึงการสนับสนุนแบบเพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อให้คนพิการสามารถบรรลุและรักษาความเป็นอิสระไว้อย่างสูงสุด เต็มความสามารถทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคมและการอาชีพ และการรวมเป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกด้านของชีวิต เพื่อการนี้ ให้รัฐภาคีจัดบริการและโปรแกรมด้านการส่งเสริมสมรรถภาพและการฟื้นฟูสมรรถภาพที่ครอบคลุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพ การว่าจ้างงาน การศึกษาและบริการสังคม ในลักษณะที่บริการและโปรแกรมเหล่านี้

                (เอ) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ในระยะแรกสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และบนพื้นฐานการประเมินความต้องการจำเป็นและจุดแข็งของแต่ละบุคคลโดยหลักสหวิชาชีพ

                (บี) สนับสนุนการมีส่วนร่วมในชุมชนและการเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนและทุกด้านของสังคม โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของคนพิการ และจัดไว้ให้ใกล้เคียงกับชุมชนที่คนพิการอาศัยอยู่เท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งในพื้นที่ชนบท

2. ให้รัฐภาคีส่งเสริมการพัฒนาการฝึกอบรมขั้นต้นและต่อเนื่องสำหรับนักวิชาชีพและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านบริการส่งเสริมสมรรถภาพและฟื้นฟูสมรรถภาพของคนพิการ

3. ให้รัฐภาคีส่งเสริมการจัดให้มีไว้ การให้ความรู้ และการใช้ อุปกรณ์และเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ออกแบบสำหรับคนพิการซึ่งต่างล้วนเกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมสมรรถภาพและการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ

 

ข้อ 27

งานและการจ้างงาน

 

1. รัฐภาคียอมรับสิทธิของคนพิการในการทำงานบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น ทั้งนี้ รวมถึงสิทธิในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพโดยการทำงานที่ตนเป็นผู้ตัดสินใจเลือกโดยอิสระและได้รับการยอมรับในตลาดแรงงาน และทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปิดกว้างการทำงานร่วมกัน และที่คนพิการสามารถเข้าถึงได้ ให้รัฐภาคีปกป้องและส่งเสริมให้การใช้สิทธิในการทำงานดังกล่าวเป็นจริง รวมถึงสำหรับผู้ซึ่งได้รับความพิการในระหว่างการจ้างงาน โดยการดำเนินขั้นตอนที่เหมาะสม รวมถึงการตรากฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

                (เอ) ห้ามการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการในทุกด้านที่เกี่ยวกับการจ้างงาน รวมถึงเงื่อนไขในการคัดเลือกบุคคล การว่าจ้าง และการจ้างงาน การจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และสภาพการทำงานที่ถูกสุขอนามัยและปลอดภัย

                (บี) คุ้มครองสิทธิของคนพิการ บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น ในการมีเงื่อนไขการทำงานที่เป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อคนพิการ รวมทั้งโอกาสที่เท่าเทียมกันและค่าตอบแทนการทำงานที่เท่ากันสำหรับเนื้องานที่เท่ากัน ความปลอดภัยและเงื่อนไขการทำงานที่ถูกสุขสุขอนามัย รวมถึงการคุ้มครองจากการถูกคุกคาม และการจัดการแก้ไขข้อร้องเรียน

                (ซี) ประกันว่าให้คนพิการสามารถใช้สิทธิด้านแรงงานและสหภาพแรงงานบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

                (ดี) ทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงโปรแกรมแนะแนวอาชีพ และแนะแนวทั่วไป บริการจัดหางานและการฝึกอาชีพอย่างต่อเนื่อง อย่างมีประสิทธิผล

                (อี) ส่งเสริมโอกาสการจ้างงานและความก้าวหน้าในอาชีพสำหรับคนพิการในตลาดแรงงาน รวมทั้งความช่วยเหลือในการหางาน ได้งานและคงสภาพการจ้างงานรวมทั้งการกลับเข้าทำงาน

                (เอฟ) ส่งเสริมโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ การเป็นผู้ประกอบการและการพัฒนาสหกรณ์ และการเริ่มธุรกิจของตนเอง

                (จี) ว่าจ้างคนพิการเข้าทำงานในหน่วยงานภาครัฐ

                (เอช) ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาคเอกชนด้วยนโยบายและมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งอาจรวมถึงโปรแกรมที่เป็นมาตรการเชิงบวกสิ่งจูงใจและมาตรการอื่นๆ

                (ไอ) ประกันว่ามีการจัดให้มีความช่วยเหลือที่สมเหตุสมผลแก่คนพิการในสถานที่ทำงาน

                (เจ) ส่งเสริมให้คนพิการได้รับประสบการณ์ทำงานในตลาดแรงงานเปิด

                (เค) ส่งเสริมให้มีโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพและวิชาชีพ การรักษาตำแหน่งงานและการกลับเข้าทำงานสำหรับคนพิการ

 

2. ให้รัฐภาคีประกันว่าคนพิการย่อมไม่ถูกนำลงไปเป็นทาสหรือไม่ตกอยู่ในภาวะเยี่ยงทาส และจะได้รับการคุ้มครอง บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น จากแรงงานที่ถูกเกณฑ์หรือถูกบังคับ

 

ข้อ 28

มาตรฐานความเป็นอยู่และความคุ้มครองทางสังคมอย่างเพียงพอ

 

1. รัฐภาคียอมรับถึงสิทธิของคนพิการในการมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่เพียงพอสำหรับตนและครอบครัว รวมถึง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ และสภาพการครองชีพที่ดีอย่างต่อเนื่อง และให้รัฐภาคีดำเนินขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อปกป้องและส่งเสริมให้สิทธินี้เกิดขึ้นได้จริงโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการ

2. รัฐภาคียอมรับถึงสิทธิของคนพิการในการได้รับความคุ้มครองทางสังคม และการอุปโภคสิทธินั้น โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุแห่งความพิการ และให้รัฐภาคีดำเนินขั้นตอนเพื่อปกป้องและส่งเสริมให้สิทธินี้เกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้รวมถึงมาตรการดังนี้

                (เอ) ประกันการเข้าถึงบริการน้ำสะอาดโดยคนพิการอย่างเท่าเทียม และประกันการเข้าถึงบริการอุปกรณ์ต่างๆ และความช่วยเหลืออื่นสำหรับความต้องการจำเป็นอันเกี่ยวเนื่องกับความพิการที่เหมาะสมและที่สามารถจ่ายได้

                (บี) ประกันการเข้าถึงโปรแกรมการคุ้มครองทางสังคม และโปรแกรมลดความยากจนโดยคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีและเด็กหญิงพิการและผู้สูงอายุที่พิการ

                (ซี) ประกันการเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐในเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับความพิการรวมถึงการฝึกอบรมที่เพียงพอ การให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือทางการเงิน และการให้ความดูแลชั่วคราว โดยคนพิการและครอบครัวของคนพิการที่มีสภาพความเป็นอยู่ยากจน

                (ดี) ประกันการเข้าถึงโปรแกรมสวัสดิการที่อยู่อาศัยของรัฐโดยคนพิการ

                (อี) ประกันการเข้าถึงโปรแกรมและสิทธิประโยชน์หลังการเกษียณอายุโดยคนพิการอย่างเท่าเทียม

 

ข้อ 29

การมีส่วนร่วมทางการเมืองและเรื่องสาธารณะ

 

                ให้รัฐภาคีประกันสิทธิทางการเมืองของคนพิการและการอุปโภคสิทธิดังกล่าว บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น และให้ดำเนินการ

(เอ) ประกันว่าคนพิการสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองและเรื่องสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิผล และเต็มที่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น ทั้งโดยทางตรงหรือโดยผ่านผู้แทนที่ได้รับเลือกอย่างอิสระ รวมถึงสิทธิและโอกาสของคนพิการในการออกเสียงและได้รับเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

                (1) ประกันให้กระบวนการออกเสียง สิ่งอำนวยความสะดวกและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการออกเสียงเหมาะสม เข้าถึงได้ เข้าใจและใช้งานได้ง่าย

                (2) คุ้มครองสิทธิของคนพิการในการออกเสียงด้วยการลงคะแนนลับในการเลือกตั้งและการลงประชามติ โดยปราศจากการคุกคาม และสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งทุกตำแหน่งและในทุกระดับของภาครัฐ จัดให้มีการอำนวยความสะดวกในการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเครื่องช่วยความพิการใหม่ๆ ตามความเหมาะสม

                (3) รับรองให้คนพิการมีเสรีภาพในการแสดงเจตนารมณ์ในฐานะเป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และเพื่อการนี้ อนุญาตให้บุคคลที่คนพิการเลือกเองช่วยเหลือในการลงคะแนนเสียง หากจำเป็นและตามที่คนพิการร้องขอ

(บี) ส่งเสริมอย่างแข็งขันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่คนพิการสามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิผลและอย่างเต็มที่ โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น และกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในสาธารณกิจ อันรวมถึง

                (1) การมีส่วนร่วมในองค์กรพัฒนาเอกชน และสมาคมที่ทำงานด้านสาธารณะและด้านการเมืองของประเทศ รวมทั้งในกิจกรรมและการบริหารของพรรคการเมือง

                (2) ก่อตั้งและร่วมกับองค์กรคนพิการ ในการเป็นผู้แทนของคนพิการในระดับนานาประเทศ ระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น

 

ข้อ 30

การมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม นันทนาการ การผ่อนคลายยามว่าง และกีฬา

 

1. รัฐภาคียอมรับในสิทธิของคนพิการในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกับบุคคลอื่น ทั้งนี้ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวงเพื่อประกันว่าคนพิการ

                (เอ) เข้าถึงสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้

                (บี) การเข้าถึงรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ละคร และกิจกรรมอื่นๆ ทางวัฒนธรรมในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้

                (ซี) เข้าถึงสถานที่ที่จัดแสดงวัฒนธรรมหรือบริการ อาทิ โรงละคร พิพิธภัณฑ์ โรงภาพยนตร์ ห้องสมุดและบริการด้านท่องเที่ยว และทั้งนี้ ในขอบเขตที่จะทำได้ สามารถเข้าถึงอนุสรณ์สถาน และสถานที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมของชาติ

 

2. ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้คนพิการมีโอกาสได้พัฒนาและใช้ศักยภาพของตนทางด้านการสร้างสรรค์งาน ด้านศิลปะและสติปัญญา ไม่เพียงแต่เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองเท่านั้น แต่ยังเพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่สังคมอีกด้วย

3. ให้รัฐภาคีดำเนินขั้นตอนที่เหมาะสมทั้งปวงโดยสอดคล้องหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อประกันว่ากฎหมายต่างๆ ที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไม่เป็นการกีดกั้นที่ไม่สมเหตุสมผลหรือเลือกปฏิบัติต่อการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมโดยคนพิการ

4. ให้คนพิการมีสิทธิได้รับการยอมรับและส่งเสริมอัตลักษณ์เฉพาะด้านวัฒนธรรมและภาษา รวมถึงภาษามือและวัฒนธรรมของคนหูหนวก ทั้งนี้ บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

5. เพื่อให้คนพิการได้มีส่วนร่วมบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นในกิจกรรมด้านนันทนาการ การผ่อนคลายยามว่างและกีฬา ให้รัฐภาคีดำเนินมาตรการที่เหมาะสมดังนี้

                (เอ) กระตุ้นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนพิการเท่าที่จะเป็นไปได้มากที่สุดกิจกรรมกีฬาทั่วไปทุกระดับ

                (บี) ประกันให้คนพิการมีโอกาสจัด พัฒนาและมีส่วนร่วมในกิจกรรมกีฬาและนันทนาการเฉพาะของคนพิการแต่ละประเภท ได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะความพิการ และเพื่อการนี้ ส่งเสริมการจัดให้มี การสอน การฝึกอบรมและทรัพยากรที่เหมาะสมบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่น

                (ซี) ประกันให้คนพิการสามารถเข้าถึงสถานที่จัดกีฬา นันทนาการและท่องเที่ยว

                (ดี) ประกันให้เด็กพิการสามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกับเด็กอื่นในกิจกรรมการเล่น นันทนาการ และการผ่อนคลายยามว่างและกีฬา โดยรวมถึงกิจกรรมเหล่านั้นในระบบโรงเรียน

                (อี) ประกันให้คนพิการเข้าถึงบริการจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมนันทนาการ การท่องเที่ยว การผ่อนคลายยามว่างและกีฬา

 

ข้อ 31

สถิติและการเก็บรวบรวมข้อมูล

 

1. รัฐภาคีจะดำเนินการเก็บรวบรวมสารสนเทศที่เหมาะสม รวมถึงข้อมูลทางสถิติและวิจัย เพื่อให้สามารถจัดทำและดำเนินการตามนโยบายเพื่อทำให้อนุสัญญานี้เกิดผล กระบวนการรวบรวมและเก็บรักษาสารสนเทศนี้ต้อง

                (เอ) สอดคล้องกับมาตรการปกป้องทางกฎหมาย รวมถึงกฎหมายคุ้มครองข้อมูล เพื่อประกันการรักษาความลับและการเคารพในความเป็นส่วนตัวของคนพิการ

                (บี) สอดคล้องกับปทัสถานที่ยอมรับกันในทางระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานและหลักจรรยาบรรณในการรวบรวมและใช้สถิติ

2. สารสนเทศที่เก็บรวบรวมตามข้อนี้จะได้รับการจำแนกอย่างเหมาะสม และใช้เพื่อช่วยประเมินผลการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐภาคีภายใต้อนุสัญญานี้ และใช้เพื่อบ่งชี้และแก้ไขข้อกีดกั้นที่คนพิการเผชิญอยู่ในการใช้สิทธิของตน

3. ให้รัฐภาคีรับผิดชอบในการเผยแพร่สถิติเหล่านี้ และประกันว่าคนพิการและบุคคลอื่นๆ สามารถเข้าถึงสถิติได้

 

ข้อ 32

ความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

1. รัฐภาคียอมรับถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศและการส่งเสริมความร่วมมือเช่นว่านั้น เพื่อสนับสนุนให้ความพยายามระดับประเทศบรรลุความมุ่งประสงค์และวัตถุประสงค์ของอนุสัญญานี้ได้จริง และจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมและมีประสิทธิผลในเรื่องนี้ ระหว่างและในหมู่รัฐ และหากเหมาะสม ในลักษณะเป็นหุ้นส่วนกับองค์การระหว่างประเทศและภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคมและ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การของคนพิการ มาตรการเช่นว่านี้อาจรวมถึง

                (เอ) การประกันว่าความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงโปรแกรมพัฒนาระหว่างประเทศ ที่ครอบคลุมคนพิการ และคนพิการสามารถเข้าถึงได้

                (บี) การอำนวยความสะดวกและการสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพ รวมถึงการแลกเปลี่ยนและการแบ่งปันสารสนเทศ ประสบการณ์ โปรแกรมการฝึกอบรมและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ

                (ซี) การอำนวยความสะดวกในความร่วมมือในการวิจัยและการเข้าถึงความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค

                (ดี) การจัดความช่วยเหลือด้านวิชาการและเศรษฐกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงและแบ่งปันเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้ และโดยการถ่ายโอนเทคโนโลยี ทั้งนี้ หากเหมาะสม

 

2. บทบัญญัติของข้อนี้ไม่มีผลกระทบต่อพันธกรณีของรัฐในการปฏิบัติตามพันธกรณีของตนภายใต้อนุสัญญานี้

 

 

 

 

 

ข้อ 33

การอนุวัติและการตรวจสอบติดตามระดับประเทศ

 

1. ภายใต้ระบบการจัดองค์กรของตน ให้รัฐภาคีกำหนดหน่วยประสานงานหลักหนึ่งหน่วยงาน หรือมากกว่าหนึ่งหน่วยงานภายในภาครัฐ เพื่อกิจการที่เกี่ยวกับการอนุวัติตามอนุสัญญานี้ และจะต้องให้ความสำคัญในการจัดตั้งหรือแต่งตั้งกลไกการประสานงานภายในรัฐบาลเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ และในระดับต่างๆ

2. ภายใต้ระบบกฎหมายและระบบการปกครองของตน ให้รัฐภาคีรักษา เสริมสร้างให้เกิดความเข้มแข็ง แต่งตั้งหรือจัดตั้งโครงสร้างภายในประเทศ รวมถึงกลไกอิสระหนึ่งหน่วยงานหรือมากกว่าหากเหมาะสม เพื่อส่งเสริม คุ้มครองและติดตามการอนุวัติตามอนุสัญญาในการแต่งตั้งหรือจัดตั้งกลไกดังกล่าว ให้รัฐภาคีคำนึงถึงหลักการที่เกี่ยวกับสถานะและหน้าที่ของสถาบันระดับประเทศที่เกี่ยวกับการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

3. ภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพิการและองค์การผู้แทนของคนพิการ จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกระบวนการตรวจสอบติดตามการดำเนินงาน

 

ข้อ 34

คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการ

 

1. ให้จัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการขึ้นคณะหนึ่ง(ซึ่งต่อไปนี้ เรียกว่า “คณะกรรมการ”) ซึ่งจะปฏิบัติตามหน้าที่ที่ระบุไว้

2. เมื่ออนุสัญญานี้เริ่มมีผลบังคับใช้ คณะกรรมการจะประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ สิบสองคน ภายหลังที่มีการยื่นสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารเพิ่มอีกหกสิบประเทศ องค์ประกอบของคณะกรรมการจะเพิ่มขึ้นได้อีก หกคน ทำให้คณะกรรมการมีจำนวนได้มากสุดถึงสิบแปดคน

3. สมาชิกของคณะกรรมการจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเฉพาะตัวและต้องเป็นผู้มีศีลธรรมสูงมีความสามารถและประสบการณ์ที่เป็นที่ยอมรับในสาขาภายใต้อนุสัญญานี้ เมื่อมีการเสนอชื่อผู้เข้ารับการเลือกตั้ง ให้รัฐภาคีคำนึงถึงบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในข้อ 4 วรรค 3 ของอนุสัญญานี้

4. สมาชิกของคณะกรรมการจะได้รับการเลือกตั้งจากรัฐภาคี โดยพิจารณาถึงการกระจายตามเขตภูมิศาสตร์อย่างเป็นธรรม และการตั้งผู้แทนตามอารยธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละรูปแบบ ตลอดจนระบบกฎหมายหลัก การเป็นตัวแทนเพศสภาพที่สมดุล และการมีส่วนร่วมของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความพิการ

5. สมาชิกของคณะกรรมการจะได้รับการเลือกตั้งโดยการลงคะแนนลับจากบัญชีรายชื่อบุคคลที่เสนอชื่อโดยรัฐภาคี รัฐภาคีแต่ละรัฐอาจเสนอชื่อบุคคลหนึ่งคนจากบรรดาคนชาติของตนเอง ในการประชุมของที่ประชุมรัฐภาคีในการประชุมดังกล่าวซึ่งองค์ประชุมจะต้องประกอบด้วยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้จำนวนสองในสาม บุคคลซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการจะต้องเป็นผู้ได้รับคะแนนเสียงจำนวนสูงที่สุดและเป็นเสียงข้างมากโดยเด็ดขาดของคะแนนเสียงจากผู้แทนรัฐภาคีที่เข้าประชุมและออกเสียง

6. การเลือกตั้งครั้งแรกจะกระทำขึ้นภายในไม่เกินหกเดือนหลังจากที่อนุสัญญานี้เริ่มมีผลบังคับใช้ อย่างน้อยที่สุดสี่เดือนก่อนวันเลือกตั้งของแต่ละครั้ง เลขาธิการสหประชาชาติจะจัดทำบัญชีรายชื่อของบุคคลทั้งปวง ตามที่ได้รับการเสนอชื่อนั้นเรียงตามลำดับอักษร โดยระบุถึงรัฐภาคีซึ่งได้เสนอชื่อบุคคลเหล่านั้นและจะเสนอบัญชีนั้นต่อรัฐภาคี

7. สมาชิกของคณะกรรมการจะทำการเลือกตั้งขึ้นเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลาสี่ปี โดยมีสิทธิได้รับเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในทันทีที่หมดวาระ อย่างไรก็ดี ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งสำหรับสมาชิกทั้งหกคน ที่เลือกตั้งขึ้นคราวแรกให้สิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากการเลือกตั้งในคราวแรกนั้น โดยรายชื่อของสมาชิกทั้งหกคนดังกล่าวจะทำการคัดเลือกด้วยการจับสลากโดยประธานที่ประชุมตามอ้างอิงถึงในวรรค 5 ของข้อนี้

8. การเลือกตั้งสมาชิกใหม่ในคณะกรรมการ เพิ่มจำนวนหกคน ให้จัดให้มีขึ้นในวาระการเลือกตั้งปกติโดยเป็นไปตามบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องซึ่งระบุไว้ในข้อนี้

9. หากสมาชิกคนใดคนหนึ่งของคณะกรรมการ ตายหรือลาออกหรือแจ้งว่าตนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ดี รัฐภาคีซึ่งเป็นผู้เสนอชื่อสมาชิกผู้นั้น จะแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นซึ่งมีคุณสมบัติพร้อมตามบทบัญญัติอันระบุไว้ในข้อนี้เพื่อให้ดำรงตำแหน่งแทนในระยะเวลาที่เหลือ

10. คณะกรรมการ จะกำหนดระเบียบข้อบังคับการประชุมของตนเอง

11. เลขาธิการสหประชาชาติจะจัดเจ้าหน้าที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลของคณะกรรมการภายใต้อนุสัญญานี้ และให้เรียกประชุมคณะกรรมการเป็นครั้งแรก

12. โดยความเห็นชอบของสมัชชาสหประชาชาติ กรรมการของคณะกรรมการนี้จะได้รับค่าตอบแทนจากแหล่งการเงินของสหประชาชาติตามข้อกำหนด และเงื่อนไขซึ่งสมัชชาสหประชาชาติพิจารณากำหนดโดยคำนึงถึงความสำคัญของภาระรับผิดชอบของคณะกรรมการ

13. สมาชิกของคณะกรรมการ มีสิทธิได้รับการอำนวยความสะดวก เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่ให้สำหรับผู้เชี่ยวชาญ ที่ปฏิบัติภารกิจเพื่อสหประชาชาติตามที่กำหนดในหมวดที่เกี่ยวข้องของอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสหประชาชาติ

 

ข้อ 35

การจัดทำรายงานของรัฐภาคี

 

1. ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐส่งรายงานฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับมาตรการในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญานี้และความคืบหน้าในส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อคณะกรรมการ ผ่านเลขาธิการสหประชาชาติ ภายในระยะเวลาสองปีหลังจากที่อนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้กับรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง

2. หลังจากนั้น ให้รัฐภาคีส่งรายงานฉบับต่อ ไปอย่างน้อยทุกๆ สี่ปี และเมื่อใดก็ตามที่คณะกรรมการร้องขอ

3. ให้คณะกรรมการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับเนื้อหาของรายงาน

4. รัฐภาคีซึ่งส่งรายงานฉบับเริ่มแรกที่สมบูรณ์ไปยังคณะกรรมการแล้ว ไม่จำเป็นต้องรายงานข้อมูลที่ได้กล่าวไปแล้วซ้ำในรายงานฉบับต่อๆไป เมื่อมีการจัดเตรียมรายงานต่อคณะกรรมการ รัฐภาคีจะพิจารณาจัดเตรียมรายงานโดยกระบวนการที่เปิดกว้างและโปร่งใส และให้คำนึงถึงข้อบัญญัติที่กำหนดไว้ใน ข้อ 4 วรรค 3 ของอนุสัญญานี้

5. รายงานอาจระบุปัจจัยและความยากลำบากซึ่งกระทบต่อระดับความสำเร็จที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณี ภายใต้อนุสัญญานี้

 

ข้อ 36

การพิจารณารายงาน

 

1. รายงานแต่ละฉบับจะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการ ซึ่งจะให้ข้อเสนอแนะและข้อแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับรายงานตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรและจะส่งต่อไปยังรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง รัฐภาคีอาจตอบข้อมูลใดที่ตนเลือกไปยังคณะกรรมการ คณะกรรมการอาจร้องขอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตามอนุสัญญานี้เพิ่มเติมจากรัฐภาคี

2. ถ้ารัฐภาคีส่งรายงานช้ากว่ากำหนด คณะกรรมการอาจแจ้งต่อรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องถึงความจำเป็นในการตรวจสอบการปฏิบัติตามอนุสัญญานี้บนพื้นฐานของข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่คณะกรรมการมีอยู่ ถ้ารัฐภาคีนั้นไม่ส่งรายงานที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาสามเดือนหลังจากการที่ได้รับแจ้งให้คณะกรรมการเชิญรัฐภาคีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการตรวจสอบนี้ด้วย ถ้ารัฐภาคีส่งรายงานที่เกี่ยวข้อง บทบัญญัติของวรรคหนึ่งของข้อนี้จะนำมาใช้บังคับ

3. เลขาธิการสหประชาชาติจะเปิดโอกาสให้รัฐภาคีทุกประเทศ สามารถเข้าถึงรายงาน

4. ให้รัฐภาคีเปิดโอกาสให้สาธารณชนในประเทศของตนสามารถเข้าถึงรายงานและเปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อเสนอแนะและข้อแนะนำทั่วไปที่เกี่ยวกับรายงานเหล่านี้

5. หากพิจารณาว่าเหมาะสม ให้คณะกรรมการนำส่งรายงานของรัฐภาคีไปยังทบวงการชำนัญพิเศษ กองทุน และโปรแกรมต่างๆของสหประชาชาติ และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งคำร้องหรือข้อระบุความต้องการคำแนะนำทางวิชาการหรือความช่วยเหลือที่ระบุในรายงาน พร้อมข้อสังเกตและข้อแนะนำของคณะกรรมการ(ถ้ามี) เกี่ยวกับคำร้องหรือข้อระบุความต้องการเหล่านี้

 

ข้อ 37

ความร่วมมือระหว่างรัฐภาคีและคณะกรรมการ

 

1. ให้รัฐภาคีแต่ละรัฐร่วมมือกับคณะกรรมการ และช่วยเหลือสมาชิกของคณะกรรมการในการดำเนินการตามอาณัติให้บรรลุผลสำเร็จ

2. ในความสัมพันธ์กับรัฐภาคี คณะกรรมการจะคำนึงถึงหนทางและวิธีการเพิ่มประสิทธิผลของประเทศในการปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ซึ่งรวมถึงผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ

 

ข้อ 38

ความสัมพันธ์ของคณะกรรมการกับหน่วยงานอื่นๆ

 

                เพื่อให้การปฏิบัติตามอนุสัญญานี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิผลและเพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านที่อนุสัญญา ฉบับปัจจุบัน นั้น

                (เอ) ทบวงการชำนัญพิเศษและองค์กรอื่นๆ ของสหประชาชาติมีสิทธิที่จะเป็นตัวแทนในการพิจารณาการปฏิบัติตามบทบัญญัติเหล่านั้นของอนุสัญญานี้ภายในขอบข่ายอำนาจหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้น คณะกรรมการอาจเชิญทบวงการชำนัญพิเศษและองค์กรอื่นๆ ของสหประชาชาติตามที่เห็นสมควร เพื่อให้คำแนะนำเฉพาะเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญา ที่อยู่ในขอบข่ายอำนาจหน้าที่ขององค์กรนั้น คณะกรรมการอาจเชิญทบวงการชำนัญพิเศษและองค์กรอื่นๆ ของสหประชาชาติให้เสนอรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญา ในเรื่องที่อยู่ภายในขอบข่ายกิจกรรมขององค์กร

                (บี) หากเหมาะสม ในการปฏิบัติตามขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของตน คณะกรรมการจะหารือกับองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่จัดตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อประกันว่าแนวทางในการจัดทำรายงานข้อเสนอแนะและข้อแนะนำทั่วไปมีความสอดคล้องกันและหลีกเลี่ยงการซ้ำซ้อนและทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ

 

ข้อ 39

รายงานของคณะกรรมการ

 

                คณะกรรมการจะรายงานต่อสมัชชาสหประชาชาติและคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมเป็นประจำทุกๆสองปี เกี่ยวกับกิจกรรมของคณะกรรมการ และอาจทำข้อเสนอแนะและข้อแนะนำทั่วไป โดยพิจารณาจากรายงานและสารสนเทศที่ได้รับจากรัฐภาคีเป็นฐาน ข้อเสนอแนะและข้อแนะนำทั่วไปเช่นว่านั้นต้องรวมอยู่ในรายงานของคณะกรรมการ พร้อมทั้งข้อสังเกตจากรัฐภาคี(ถ้ามี)

 

ข้อ 40

ที่ประชุมของรัฐภาคี

 

1. รัฐภาคีจะต้องเข้าร่วมการประชุมอย่างสม่ำเสมอในรูปแบบที่ประชุมรัฐภาคีเพื่อพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอนุวัติอนุสัญญานี้

 2. ภายในเวลาไม่เกินหกเดือนหลังจากที่อนุสัญญานี้เริ่มมีผลบังคับใช้ เลขาธิการสหประชาชาติจะเรียกประชุมรัฐภาคี การประชุมครั้งต่อๆ ไปเลขาธิการสหประชาชาติจะเรียกประชุมทุกๆ สองปี หรือตามมติของที่ประชุมรัฐภาคี

 

ข้อ 41

การเก็บรักษาอนุสัญญา

 

                เลขาธิการสหประชาชาติเป็นผู้เก็บรักษาอนุสัญญานี้

 

ข้อ 42

การลงนาม

 

                อนุสัญญานี้จะเปิดให้ทุกรัฐ และองค์การรวมตัวระดับภูมิภาคลงนามได้ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก นับแต่วันที่ 30 มีนาคม พ. ศ. 2550

 

ข้อ 43

ความยินยอมให้ผูกพัน

 

                อนุสัญญานี้ จะต้องได้รับการสัตยาบันโดยรัฐที่ได้ลงนามในอนุสัญญา และได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการโดยองค์การรวมตัวระดับภูมิภาคที่ได้ลงนามในอนุสัญญา อนุสัญญาจะเปิดให้มีการภาคยานุวัติโดยรัฐ หรือองค์การรวมตัวระดับภูมิภาคใดๆ ที่ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญา

ข้อ 44

องค์การรวมตัวระดับภูมิภาค

 

1. ”องค์การรวมตัวระดับภูมิภาค” หมายถึง องค์การที่ประกอบด้วยรัฐอธิปไตยของภูมิภาคหนึ่งๆ ซึ่งรัฐสมาชิกได้ถ่ายโอนอำนาจที่เกี่ยวข้องกับประเด็นตามอนุสัญญานี้ให้กับองค์การระดับภูมิภาคดังกล่าวแล้ว องค์การต่างๆ ดังกล่าวจะต้องประกาศในตราสารยืนยันอย่างเป็นทางการหรือภาคยานุวัติสาร ถึงขอบเขตอำนาจของตนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นภายใต้อนุสัญญานี้ หลังจากนั้น องค์การดังกล่าวจะต้องแจ้งไปยังผู้เก็บรักษาอนุสัญญาให้ทราบถึงการแก้ไขที่สำคัญเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจของตน

2. การอ้างถึง “รัฐภาคี” ในอนุสัญญานี้จะใช้กับองค์การดังกล่าวภายในขอบเขตอำนาจขององค์การนั้นๆ

3. ภายใต้ความมุ่งประสงค์ของข้อ 45 วรรค 1 และข้อ 47 วรรค 2 และ 3 จะไม่นับรวมถึงตราสารที่ยื่นโดยองค์การรวมตัวระดับภูมิภาค

4. องค์การรวมตัวระดับภูมิภาค ในเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของตน อาจใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมของรัฐภาคี โดยจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดเท่ากับจำนวนรัฐสมาชิกทั้งหมดที่เป็นภาคีอนุสัญญานี้ องค์การ จะไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงหากรัฐสมาชิกใดขององค์การ ใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงของตน และในทางกลับกัน

 

ข้อ 45

การเริ่มมีผลบังคับใช้

 

1. อนุสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับในวันที่สามสิบถัดจากวันที่ได้มีการยื่นสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่ยี่สิบ

2. สำหรับแต่ละรัฐหรือองค์การรวมตัวระดับภูมิภาคที่ได้ให้สัตยาบัน ยืนยันอย่างเป็นทางการหรือได้ภาคยานุวัติอนุสัญญา ภายหลังจากที่ได้มีการยื่นสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารฉบับที่ยี่สิบ อนุสัญญาจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่สามสิบนับถัดจากวันที่ได้ยื่นสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสารของตน

 

 

ข้อ 46

ข้อสงวน

 

1. ห้ามตั้งข้อสงวนที่ไม่สอดคล้องต่อวัตถุที่หมายและความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้

2. อาจถอนข้อสงวนในเวลาใดก็ได้

 

ข้อ 47

การแก้ไข

 

1. รัฐภาคีใดๆ อาจเสนอข้อแก้ไขอนุสัญญานี้และยื่นต่อเลขาธิการสหประชาชาติ หลังจากนั้นเลขาธิการสหประชาชาติ จะต้องส่งข้อแก้ไขที่เสนอมาแก่รัฐภาคีทั้งหลาย พร้อมกับคำร้องขอที่ให้รัฐภาคีระบุว่า รัฐภาคีนั้นเห็นชอบให้จัดการประชุมของรัฐภาคีเพื่อความมุ่งประสงค์ในการพิจารณาและลงคะแนนเสียงต่อข้อเสนอนั้นหรือไม่ ในกรณีที่ภายในสี่เดือนนับจากวันที่ได้แจ้งข้อเสนอเช่นว่านั้น มีรัฐภาคีจำนวนอย่างน้อยที่สุดหนึ่งในสามเห็นชอบกับการจัดประชุมเช่นว่านั้น เลขาธิการสหประชาชาติจะจัดให้มีการประชุมภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ ข้อแก้ไขใดๆ ที่รับรองโดยรัฐภาคีส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมและลงคะแนนเสียงในที่ประชุมจะต้องเสนอต่อสมัชชาสหประชาชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบ

2. ข้อแก้ไขได้มีการรับเอาและเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ของข้อนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่สามสิบถัดจากวันที่ได้มีการยื่นตราสารยอมรับข้อแก้ไขด้วยคะแนนเสียงข้างมากจำนวนสองในสามของรัฐภาคี ณ วันที่รับเอาข้อแก้ไขดังกล่าวนั้น หลังจากนั้นข้อเสนอแก้ไขจะมีผลบังคับใช้สำหรับรัฐภาคีใด ณ วันที่สามสิบถัดจากวันที่รัฐภาคีนั้นยื่นตราสารยอมรับข้อแก้ไข การแก้ไขจะผูกพันเฉพาะรัฐภาคีที่ยอมรับข้อแก้ไขนั้น

3. หากที่ประชุมรัฐภาคีมีฉันทามติ การแก้ไขที่ได้มีการรับเอาและเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง ของข้อนี้ ซึ่งเกี่ยวเนื่องเฉพาะกับข้อ 34 ข้อ 38 ข้อ 39 และข้อ 40 จะเริ่มมีผลบังคับใช้ต่อรัฐภาคีทั้งปวง วันที่สามสิบถัดจากวันที่รัฐภาคีนั้นยื่นตราสารยอมรับข้อแก้ไข การแก้ไขจะผูกพันเฉพาะรัฐภาคีที่ยอมรับข้อแก้ไขนั้น

 

ข้อ 48

การบอกเลิก

               

รัฐภาคีอาจบอกเลิกอนุสัญญานี้โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ การบอกเลิกจะมีผลหนึ่งปีหลังจากวันที่เลขาธิการสหประชาชาติได้รับแจ้ง

 

ข้อ 49

รูปแบบที่เข้าถึงได้

               

ตัวบทของอนุสัญญานี้จะต้องจัดให้มีอยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้

 

ข้อ 50

ตัวบทที่ถูกต้อง

                ตัวบทฉบับภาษาอาหรับ จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสเปน ของอนุสัญญานี้มีความถูกต้องเท่าเทียมกัน

                เพื่อเป็นประจักษ์แก่การนี้ ผู้มีอำนาจเต็มซึ่งลงนามข้างท้ายนี้ซึ่งได้รับการมอบอำนาจโดยชอบจากรัฐบาลของตนได้ลงนามในอนุสัญญานี้

^ กลับสู่เนื้อหาหลัก