ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การศึกษาเพื่อคนพิการ

วันที่ลงข่าว: 01/05/13

 

การศึกษาเพื่อปวงชน “ประเทศไทยกับการพัฒนาการบริหารจัดการการศึกษาสำหรับคนพิการ”

ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (convention on the Right of Persons with Disabilities : CRPD) ของประเทศไทย

 

--------------------------------

 

          กระทรวงศึกษาธิการมุ่งมั่นดำเนินงานการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการตามอนุสัญญา CRPD  ซึ่งเป็นกฏหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ส่งเสริมพิทักษ์และรับรองให้คนพิการได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเสรีภาพขั้นพื้นฐานและมีความเสมอภาคอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งส่งเสริมการเคารพศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิดของคนพิการ อนุสัญญาฉบับนี้เป็นอนุสัญญาฉบับแรกที่ครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของคนพิการ ไม่เฉพาะด้านพลเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และชีวิตครอบครัว ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญา CRPD โดยการให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในอนุสัญญาตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไป การเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีตามอนุสัญญา CRPD มีนัยว่ารัฐบาลประเทศไทยต้องตระหนักว่าการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการจะกระทำมิได้ ต้องเคารพคุ้มครองสิทธิที่พึงมีแก่คนพิการเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ยังได้ปฏิบัติ ดังนี้

          1. รัฐภาคีได้กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลัก (Focal Point)  เพื่อเป็นกลไกประสานงานภาครัฐ ดูแลประเด็นที่สนับสนุนการดำเนินงานในภาคส่วนต่างๆ โดยประเทศไทยได้กำหนดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักตามอนุสัญญาฉบับนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ด้านการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ  โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ  และได้ดำเนินงานแล้วตั้งแต่ ปี พ.ศ.2551 เป็นต้นไป นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการพัฒนาคนพิการในประเทศไทย อีกประการหนึ่ง คือ การประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 โดยรัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายทางการศึกษาสำหรับเด็กพิการเท่าเทียมกับเด็กอื่นๆ  คือ ตั้งเป้าหมายว่า ร้อยละ 95 ของเด็กพิการทั้งหมดจะต้องได้รับการศึกษา ด้วยรัฐบาลไทยตระหนักดีว่าการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการมีความล้าหลังกว่าการจัดการศึกษาแก่บุคคลทั่วไป จึงได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการขึ้นในปี 2551

          2. ประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐภาคีได้จัดตั้งโครงสร้างภายใน เพื่อส่งเสริมพิทักษ์และติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับนี้ เช่น ตั้งคณะกรรมการที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับอนุสัญญา โดยมีองค์ประกอบที่มาจากทุกภาคส่วน เช่น แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ  และได้กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ เป็นต้น  เพื่อรับผิดชอบและขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิ ความเสมอภค และมีโอกาสได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป  

          3. รัฐภาคี (ประเทศไทย) มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมโดยเฉพาะคนพิการ และองค์กรของคนพิการให้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการติดตามการดำเนินงาน และได้ดำเนินการตามอนุสัญญาอย่างเคร่งครัด  ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการระดับชาติ ระดับกระทรวง ระดับกรม ระดับจังหวัดและหรือแม้แต่กิจกรรมระดับพื้นที่ จะมีคนพิการและองค์กรคนพิการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ดำเนินการเพื่อคนพิการ ด้วยตระหนักดีว่า การให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับคนพิการ การดำเนินงานเพื่อคนพิการ โดยดำเนินการผ่านองค์กรคนพิการทำให้คนพิการกลายเป็นกระบอกเสียงคอยพิทักษ์สิทธิของตนเอง ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะและคอยกระตุ้นรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายและกฎหมายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คนพิการมีบทบาทเข้มแข็งมากขึ้นในสังคมไทย ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสมาคมคนพิการแต่ละประเภท จากการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ  ตลอดจนผู้ปกครองของคนพิการได้เข้ามามีส่วนร่วมในชุมชนของตนเองอย่างแข็งขันขึ้น ประกอบกับคนพิการมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการจ้างงานมากขึ้น 

          4. รัฐภาคี (ประเทศไทย) จะต้องมีการจัดทำรายงานเกี่ยวกับมาตรการในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาภายในเวลา 2 ปี หลังจากอนุสัญญามีผลบังคับใช้  และหลังจากนั้นต้องส่งฉบับต่อๆ ไป อย่างน้อยทุกๆ 4 ปี หรือเมื่อคณะกรรมการร้องขอ  ประเทศไทยได้จัดทำรายงานการดำเนินการตามสนธิสัญญา (Treaty – Specific Document) ตามบทบัญญัติในข้อ 35 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการด้วย เช่นกัน  

          จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับนี้อย่างเข้มแข็ง โดยส่งเสริมพิทักษ์และรับรองให้คนพิการได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และมีความเสมอภาคอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งส่งเสริมการเคารพศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิดของคนพิการ อย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

 

กฎหมายไทยที่สอดคล้องรองรับกับอนุสัญญา CRPD

          1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ส่วนที่ 8  สิทธิและเสรีภาพในการศึกษา 

          มาตรา 49  ระบุว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอภาคในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย  ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่งและการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้การศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น

          การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน การศึกษาทางเลือกของประชาชน การเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมที่เหมาะสมจากรัฐ  

          สรุปแล้วแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาให้กับคนพิการเป็นอย่างมาก โดยระบุไว้ในกฏหมายสูงสุดของประเทศ เป็นหลักประกันว่าไม่ว่ารัฐบาลไทยคณะใดที่เข้าบริหารประเทศจะต้องบริหารจัดการการศึกษาสำหรับคนพิการให้มีคุณภาพ  มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้ารับบริการการศึกษาที่เหมาะสมโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย  

          2. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ 2542 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545  หมวด 2  สิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา ระบุใน

          มาตรา 10  การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

          การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการหรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาสต้องให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ

          การศึกษาสำหรับคนพิการในวรรคสอง  ให้จัดตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

          การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความสามารถพิเศษ ต้องจัดด้วยรูปแบบที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น  

          3. พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ระบุว่า คนพิการ  หมายความว่า บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม  เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใดประกอบกับมีอุปสรรคในด้านต่างๆ และมีความต้องการจำเป็นพิเศษทางการศึกษาที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใดเพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ทั้งนี้ ตามประเภทและหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศ/กำหนดไว้

          แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล หมายความว่า แผนซึ่งกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการ ตลอดจนกำหนดเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาเฉพาะบุคคล

          เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก หมายความว่า เครื่องมือ อุปกรณ์ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หรือบริการที่ใช้สำหรับคนพิการโดยเฉพาะ หรือที่มีการดัดแปลงหรือปรับใช้ให้ตรงกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละบึคคล เพื่อเพิ่ม รักษา คงไว้ หรือพัฒนาความสามารถและศักยภาพที่จะเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร การสื่อสาร รวมถึงกิจกรรมอื่นใดในชีวิตประจำวันเพื่อการดำรงชีวิตอิสระ

          การเรียนร่วม หมายความว่า การจัดให้คนพิการได้เข้าศึกษาในระบบการศึกษาทั่วไปทุกระดับและหลากหลายรูปแบบ  รวมถึงการจัดการศึกษาให้สามารถรองรับการเรียนการสอนสำหรับคนคนทุกกลุ่มรวมทั้งคนพิการ

          สถานศึกษาเฉพาะความพิการ หมายความว่า สถานศึกษาของรัฐหรือเอชนที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ ทั้งในลักษณะอยู่ประจำ ไป กลับ และรับบริการที่บ้าน

          ศูนย์การศึกษาพิเศษ หมายความว่า สถานการศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษานอกระบบ หรือตามอัธยาศัยแก่คนพิการ ตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการจนตลอดชีวิต และจัดการศึกษาอบรมแก่ผู้ดูแลคนพิการ ครู บุคลากรและชุมชน รวมทั้งการจัดสื่อ เทคโนโลยี สิ่งอำนวยวามสะดวก บริการ และความช่วยเหลืออื่นใด ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดในประกาศกระทรวง

          ศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ หมายความว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษานอกระบบ หรือตามอัธยาศัยแก่คนพิการโยเฉพาะ โดยหน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียน บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา  สถานประกอบการ  โรงพยาบาล  สถาบันทางการแพทย์  สถานสงเคราะห์และสถาบันทางสังคมอื่นเป็นผู้จัด ตั้งแต่ระดับการศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษาและหลักสูตรระยะสั้น

          พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551  หมวด 1 ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษา  มาตรา 5 คนพิการมีสิทธิทางการศึกษาดังนี้

          (1) ได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความพิการจนตลอดชีวิต พร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา

          (2) เลือกบริการทางการศึกษา สถานศึกษา ระบบและรูปแบบการศึกษา โดยคำนึงถึงความสามารถ ความสนใจ ความถนัดและความต้องการจำเป็นพิเศษของบุคคลนั้น

          (3) รับการศึกษาที่มีมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการจัดหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้ การทดสอบทางการศึกษา ที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล

          มาตรา 7  ให้สถานศึกษาของรัฐและเอกชนที่จัดการเรียนร่วม สถานศึกษาเอกชนการกุศลที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการโดยเฉพาะ และศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ได้รับเงินอุดหนุนและความช่วยเหลือเป็นพิเศาจากรัฐ

          หลักเกณฑ์และวิธีการในการรับเงินอุดหนุนและความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

          มาตรา 8  ให้สถานศึกษาในทุกสังกัดจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล โดยให้สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการ และต้องมีการปรับปรุงแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประกาศกระทรวง

          สถานศึกษาในทุกสังกัดและศูนย์การเรียนเฉพาะความพิการอาจจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศํย ในรูปแบบที่หลากหลายทั้งการเรียนร่วม การจัดการศึกษาเฉพาะความพิการ รวมถึงการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพ การพัฒนาศักยภาพในการดำรงชีวิตอิสระ การพัฒนาทักษะพื้นฐานที่จำเป็น การฝึกอาชีพ หรือการบริการอื่นใด

          ให้สถานศึกษาในทุกสังกัดจัดสภาพแวดล้อม ระบบสนับสนุนการเรียนการสอน ตลอดจนบริการเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้

          ให้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในทุกสังกัด มีหน้าที่รับคนพิการเข้าศึกษาในสัดส่วนหรือจำนวนที่เหมาะสม  ทั้งนี้  ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมกำหนด

          สถานศึกษาใดปฏิเสธไม่รับคนพิการเข้าศึกษา  ให้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย

          ให้สถานศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนผู้ดูแลคนพิการและประสานความร่วมมือจากชุมชนหรือนักวิชาชีพเพื่อให้คนพิการได้รับการศึกษาทุกระดับ  หรือบริการทางการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการ

          มาตรา 9  ให้รัฐจัดเงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาให้ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและความสามารถในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ

          ให้รัฐจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษาอื่นเป็นพิเศษให้เหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการและสถานศึกษาที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการ

          มาตรา 10  เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ออกข้อบญญัติ เทศบัญญัติ ข้อกำหนด ระเบียบหรือประกาศ แล้วแต่กรณี ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

          พระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551  หมวด 1 การส่งเสริมการจัดการศึกษา

          มาตรา 11  ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ประกอบด้วย

          (1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ

          (2) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการคนที่หนึ่ง และผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคนพิการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง 

          (3) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 10 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  อธิบดีกรมสุขภาพจิต  อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ

          (4) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 13 คน  ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงในด้านการจัดการบริหารการศึกษาด้านการศึกษาสำหรับคนพิการ ด้านกฎหมาย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ แลพด้านสังคมสงเคราะห์ด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านรวมกัน  ทั้งนี้ อย่างน้อยเจ็ดคนต้องมาจากองค์การคนพิการแต่ละประเภท

          4. ความเคลื่อนไหวด้านนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ

          ในช่วงปีที่ผ่านมา การดำเนินงานด้านคนพิการมีทิศทางในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น คือ อยูบนพื้นฐานของสิทธิมากกว่าเพื่อการสงเคราะห์ในแนวทางเวทนานิยม  การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ดังกล่าว เป็นผลจากกระแส  ทั้งระดับสากล และระดับประเทศ  ซึ่งรัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส กรณีกลุ่มเด็กพิการ  ตามแนวทางซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2547 เห็นชอบนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสกลุ่มเด็กพิการ ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.2548-2553 ดังนี้

          นโยบายหลัก

          1. ให้บริการการศึกษาอย่างเสมอภาค ทั่วถึง ในรูปแบบที่เหมาะสมหลากหลาย 

          2. จัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพเหมาะสมกับเด็กด้อยโอกาส (กลุ่มเด็กพิการ)

          3. จัดสรรทรัพยากรเพื่อการศึกษาและปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ที่สอดคล้องกับเด็กด้อยด้อยโอกาส (กลุ่มเด็กพิการ)

          4. จัดระบบการบริหารจัดการให้เอื้อต่อการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส (กลุ่มเด็กพิการ)

          5. สร้างและพัฒนาเครือข่ายการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส (กลุ่มเด็กพิการ)

              สรุปได้ว่า ระดับประเทศ  รัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบายของรัฐ ได้วางพื้นฐานการพัฒนาคนพิการในทุกด้าน  รัฐมีแผน นโยบาย งบประมาณ ที่ให้การสนับสนุนคนพิการและองค์กรด้านคนพิการ  และมีนโยบายการจัดการศึกษาให้คนพิการในหลายรูปแบบ เช่น ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์ของคนพิการทางการศึกษา และวิธีการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2552  ประกาศ ณ  วันที่ 6  พฤษภาคม  พ.ศ. 2552   โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2552  ไว้ดังนี้

          1. กำหนดประเภทคนพิการทางการศึกษา เป็น 9 ประเภท  

              1) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น

              2) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน

              3) บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

              4) บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือทางสุขภาพ

              5) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้

              6) บุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา

              7) บุคคลที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรม หรืออารมณ์

              8) บุคคลออทิสติก

              9) บุคคลพิการซ้อน

          และตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้มีการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล โดยสถานศึกษาจะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคลสำหรับผู้เรียนแต่ละคน (โดย มีกรรมการไม่น้อยกว่า ๓ คน คือ ผู้บริหารสถานศึกษา  บิดามารดาหรือผู้ปกครองหรือผู้ดูแลคนพิการ และครูประจำชั้นหรือครูแนะแนวหรือครูการศึกษาพิเศษหรือครูที่รับผิดชอบด้านการศึกษาพิเศษ  เพื่อจัดทำแผนไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งจัดทำรายงานผล ปีละ 2 ครั้ง 

          และที่สำคัญจากการประชุมโลก เรื่อง การศึกษาเพื่อปวงชน (World Conference on Education for ALL)  เมื่อวันที่ 5-9 มีนาคม 2553 ณ หาดจอมเทียม จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย ร่วมกับองค์การยูเนสโกและหน่วยงานสหประชาชาติอิ่นๆ  ซึ่งที่ประชุมครั้งนั้นได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาเพื่อปวงชนใน “ปฏิญญาจอมเทียน” (Jomtien Declaration)  ว่าด้วยการพัฒนาการศึกษาเพื่อปวงชน (Education For All : EFA)  6 ประการ ที่ประเทศไทยได้ดำเนินการตามหลักการดังกล่าว คือ

          1. ขยายการดูแลเด็กปฐมวัยและกิจกรรมเพื่อการพัฒนาอื่นๆ  โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการ

          2. ขยายโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทั่วถึง ภายในปี พ.ศ.2543

          3. ปรับปรุงผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน เพื่อให้ผู้เรียนผ่านมาตรฐานขั้นต่ำที่สูงขึ้น

          4. พัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุกด้าน โดยเฉพาะเรื่องการไม่รู้หนังสือ พัฒนาอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในปี 2553 โดยเน้นการเรียนรู้ของเด็กหญิงและสตรี เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศ

          5. ขยายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของเยาวชนและผู้ใหญ่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสุขอนามัย และการงานอาชีพที่ดีขึ้น 

          6. เยาวชนและผู้ใหญ่ได้รับทักษะการเรียนรู้ การคำนวณตัวเลข และทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเสมอภาค ในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย โดยกำหนดให้ทุกประเทศดำเนินการให้บรรลุผลตามเป้าหมายดังกล่าว ภายในปี พ.ศ.2558 

          การพัฒนาการจัดการการศึกษาสำหรับคนพิการ ของประเทศไทยได้ดำเนินให้เป็นไปตามหลักการของปฏิญญาจอมทียน ว่าด้วยการพัฒนาการศึกษาเพื่อปวงชน (EFA) อย่างแข็งขันดังจะเห็นได้จาก  ผลการวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนาการจัดการการศึกษาสำหรับคนพิการ สรุปได้ดังนี้

          1. วัตถุประสงค์การวิจัย

              1.1  เพื่อศึกษาระบบการบริหารจัดการการศึกษาที่เอื้อต่อการให้คนพิการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ  เสมอภาค และได้รับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.การศึกษา พ.ศ.2551 และกฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 

              1.2 เพื่อศึกษายุทธวิธี/กลไกการบริหารจัดการการนำนโยบายการจัดการศึกษาสู่การปฏิบัติ  ตั้งแต่ระดับนโยบายสู่ระดับเขตพื้นที่ สถานศึกษาและชุมชนอย่างทั่วถึงและเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของคนพิการ  เพื่อพัฒนาคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

          2. ขอบเขตในการทำวิจัย

              2.1 ศึกษาระบบบริหารการจัดการศึกษาขององค์กรภาครัฐและเอกชนที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการทั้งในและนอกระบบโรงเรียน  การศึกษาตามอัธยาศัย  และการจัดการศึกษาโดยครอบครัว

              2.2 ศึกษากลไกขับเคลื่อนในการบริหารจัดการ  ระเบียบ กฎหมาย และพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาและสิทธิประโยชน์ของคนพิการของประเทศไทย

              2.3 ศึกษาบทบาทการบริหารจัดการการศึกษาสำหรับคนพิการ  ของหน่วยงานนโยบายในภูมิภาคของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและเขตพื้นที่การศึกษา ตามโครงสร้างหน่วยประสานงานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จะเป็นมาตรฐานสากลหรือฐานข้อมูลเดียวกัน  สร้างระบบข้อมูลที่น่าเชื่อถือเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการสนับสนุนคนพิการให้มีโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

          3. ประชากรที่ทำการศึกษา

              3.1 หน่วยงานที่ดำเนินกิจกรรมให้บริการด้านการศึกษาแก่คนพิการ และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำหรับคนพิการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

              3.2 สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 1-12  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศูนย์การศึกษาพิเศษทั้งระดับภาคและระดับจังหวัด สถานศึกษาทุกสังกัดทุกระดับที่ดำเนินการจัดการศึกษา และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

              3.3 สถานศึกษาทุกระดับ มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับคนพิการเข้าศึกษาในระดับการศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับอุดมศึกษา และบริการต่างๆ  

              กลุ่มตัวอย่าง  แบ่งออกเป็น 4 ภาค 

              1) ในแต่ละภาคเลือกจังหวัดที่เป็นที่ตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 1-12 และกรุงเทพมหานคร

              2) และเลือกศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัด ตามจังหวัดในข้อ 1 

              3) สุ่มเลือกสถานศึกษาที่จัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ทั้งการศึกษาเฉพาะทาง และจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม

              ผลการวิจัยตามประเด็นต่างๆ ดังนี้ 

              1. การรับรู้ รับทราบ การถ่ายทอด และการส่งต่อนโยบาย สรุปได้ว่าประเทศไทยมีกระบวนการถ่ายทอดนโยบาย ด้วยวิธีการต่างๆ 

                  1.1 มีหนังสือสั่งการจากระดับนโยบาย สู่หน่วยงานในภูมิภาคทั้งระดับนโยบายในพื้นที่ และหน่วยงานระดับปฏิบัติ

                  1.2  มีการประชุมผู้บริหารเพื่อชี้แจงนโยบาย  ทำความเข้าใจให้ตรงกัน  และอภิปรายร่วมกันถึงแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมให้ชัดเจน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายนโยบาย โดยพิจาณาให้เป็นไปตามหลักการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ว่าทำได้อย่างไร  ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 

                  - ระเบียบ กฎหมาย  เน้นความเสมอภาค ทั่วถึง พบว่า นโยบาย กฏหมาและระเบียบที่เกี่ยวข้องมีความเหมาะสมและเอื้อต่อการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการได้อย่างทั่วถึง และมีความเสมอภาค

                  - ต้องมีฐานข้อมูลที่เป็นระบบ  พบว่า ประเทศไทยยังจัดทำข้อมูลไม่เป็นระบบฐานข้อมูลเดียวกันยังเป็นในลักษณะต่างคนต่างทำ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาและจัดทำข้อมูลให้เป็นระบบฐานข้อมูลเดียวกันที่ได้มาตรฐานที่ทุกหน่วยงาน/องค์กรสามารถเข้าถึงและใช้ร่วมกันได้

                  - ความทั่วถึง  จัดการศึกษาได้จริงเท่าไร  มีคุณภาพหรือไม่ และประเภทคนพิการ พบว่าจำนวนคนพิการของแต่ละหน่วยงานยังมีความแตกต่างกัน  ตามวิธีการจัดเก็บ และการคัดกรองความพิการแต่ละประเภท เมื่อพิจาณาในภาพรวมพบว่ามีคนพิการที่จดทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 1,135,378 คน ส่วนความทั่วถึงในการเข้ารับการศึกษาทุกระดับ ประมาณร้อยละ 73  ของค่าประมาณประชากรพิการ  และร้อยละ 27 ยังไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาในรูปแบบใด

                  - ความเสมอภาคของโอกาสในการเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า สามารถกระจายเข้าเรียนในสถานศึกษาที่จัดในรูปแบบต่างๆ  และเข้าถึงบริการการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการจัดการศึกษาโดยครอบครัว  ส่วนโอกาสในการศึกษาต่อและการเตรียมพื้นฐานด้านอาชีพ พบว่า คนพิการสามารถเข้าเรียนในระดับสูงขึ้น  ทั้งการศึกษาในระบบของรัฐและเอกชน อย่างไรก็ตามพบว่าโอกาสดังกล่าวยังมีข้อจำกัดอยู่มาก นอกจากนี้พบว่าจำเป็นต้องจัดระบบส่งต่อระหว่างชั้นเรียน ระดับการศึกษา และสถานศึกษา

                  - มีการดำเนินปรับทัศนคติของบุคลากรในสังกัดต่อการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการอย่างต่อเนื่อง ทั้งรูปแบบที่เป็นทางการ และการรุกเข้าถึงคนพิการและครอบครัวด้วยวิธี  home to home โดยบุคลากรของหน่วยงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

                  - มีการประชาสัมพันธ์ให้คนพิการ ผู้ปกครอง ชุมชน ได้รับรู้ถึงสิทธิ โอกาส และความเสมอภาคในการเข้ารับการศึกษา ทั้งโดยวิธีผ่านสื่อในรูปแบต่างๆ ผ่านองค์กรคนพิการในชุมชน และที่ตกหล่นจากการปิดกั้นของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ดำเนินการเข้าถึงโดยครูและบุคลากรของหน่วยงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  

                  - การเข้าถึงการศึกษา พบว่า นับแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ กฎกระทรวง และนโยบาย ที่แสดงถึงเจตนารมณ์ในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ กำหนดไว้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น  กฎหมายรับรองสิทธิของคนพิการอย่างสอดคล้องกัน  เอื้อต่อการจัดให้คนพิการได้รับสิทธิและความเสมอภาค และสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น  ทั้งด้านการสื่อสาร อาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาตามกฎหมายและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

              ปัญหา

               - การสื่อสารของคนในพื้นที่ (โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้)

               - สถานศึกษาบางแห่งไม่เปิดโอกาส และให้สิทธิในการเข้ารับการศึกษาของคนพิการ

               - โรงเรียนเรียนร่วมบางแห่งไม่สามารถปรับเทคโนโลยีการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก เนื่องจากมีการโยกย้ายบุคลากรบ่อย จึงทำให้ขาดความต่อเนื่องในการใช้เทคโนโลยี

              ข้อเสนอแนะ 

               - ควรสร้างองค์กรเครือข่ายในชุมชนให้เข้มแข็ง และพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนในการจัดการศึกาสำหรับคนพิการ

          2. การวางแผนยุทธศาสตร์

              เพื่อให้กานำนโยบายสู้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานในส่วนกลางและภูมิภาคในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา ได้ดำเนินการ ดังนี้

              2.1 ได้กำหนดโครงสร้างและผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน และมีการรายงานผลการดำเนินงาน 

              2.2 มีแผนการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการ โดยจัดการอบรมบุคลากรของสถาบันที่มีนักศึกษาพิการเพื่อให้ทราบแนวทางและวิธีการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับผู้พิการ 

              2.3 เทคนิคในการจัดทำข้อมูลเชิงรุก  ปัจจุบัน ม. ต่างๆ ยังไม่ได้เข้าไปสำรวจข้อมูลจากชุมชน  แต่จะทำแผนการดำเนินงานเชิงรุกในปีต่อไป โดยจะทำการสำรวจจำนวนข้ออมูลคนพิการในชุมชนที่จะจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ม.ปลาย) ที่พร้อมที่เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้รับทราบนโยบาย ที่ให้คนพิการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  และจัดสภาพแวดล้อม สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับความต้องการจำเป็น เพื่อให้คนพิการสามารถเรียนได้อย่างมีคุณภาพ มีสิทธิได้รับการสนับสนุนด้านใดบ้าง  และมหาวิทยาลัยจะได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะจัดบริการให้คนพิการได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ หน่วยงานทางการศึกษาระดับอื่นๆ มีการดำเนินการในทำนองเดียวกัน

              2.4 มีการคัดเลือกบุคลากรผู้รับผิดชอบในการดำเนินการสำหรับคนพิการ โดยคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมเป็นสำคัญ โดยประสานการทำงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น เนื่องจากทุกภาคส่วนได้รับการอบรมเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคนพิการอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นการสร้างเครือข่ายการศึกษาที่เชื่อมโยงกันทุกองค์กร  กระนั้นก็ตาม ยังมีการปฏิเสธการเข้ารับการศึกษาของคนพิการในโรงเรียนเรียนร่วม

          3. การดำเนินงาน กระบวนการจัดการ การปฏิบัติ

              - กระบวนการจัดการได้มีการพัฒนาบุคลากรที่รับผิดชอบ โดยจัดอบรม และพัฒนาด้านความรู้ ด้านทักษะต่างๆ และส่งเสริมให้บุคลากรเข้าศึกษาต่อทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วนในการจัดกิจกรรมให้ความรู้แก้บุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และจัดกระบวนการเรียนรู้ภายนอก ได้แก่ สภาพสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อคนพิการโดยตรง

          4. การจัดระบบข้อมูล

              - มีการจัดทำฐานข้อมูลคนพิการ โดยจัดเก็บเป็นระบบในโปรแกรมฯ เป็นปัจจุบัน โดยมอบหมายผู้ดูแลรับผิดชอบข้อมูลอย่างชัดเจนซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้ประสานเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่จัดการศึกษาสำหรับ  คนพิการในพื้นที่  ข้อมูลที่ได้ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาและแนวปฏิบัติการต่อไป

              ปัญหาในการจัดระบบข้อมูล    

              - ข้อมูลคนพิการไม่ตรงตามความเป็นจริง เนื่องจากผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องปิดกั้นความจริง

              - ระบบฐานข้อมูลไม่ทันสมัย เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นได้

              จากการวิจัยได้ข้อเสนอแนะ คือ

              - ปรับทัศนคติ เจตคติของคนในพื้นที่ ในการยอมรับคนพิการและการให้ข้อมูลที่เป็นจริง

              - มีการประสานงานกับผู้นำชุมชน อบต. อสม. ในการลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลคนพิการอย่างทั่วถึง

          5. การกำกับ ติดตาม ประเมินผล และการขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพ

              - มีการกำกับ ติดตาม ประเมินผล  เดือนละครั้ง หรืออย่างน้อย 6 เดือนครั้ง  และนำมาปรับปรุงในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะเพื่อเป็นฐานข้อมูลต่อไป และนำเสนอที่ประชุมในภาพรวมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานร่วมกัน

 

  

ที่มาของข่าว สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สป. (คณะทำงานโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการให้มีคุณภาพ)
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก