ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการไทย

วันที่ลงข่าว: 01/05/13

 

ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการไทย

ความนำ

 

คนพิการหรือทุพพลภาพเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า  จึงสมควรที่จะได้รับสิทธิและโอกาสในการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ  ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ  ได้เข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  และการเมืองด้วยความเสมอภาค  ได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ  ที่เหมาะสมกับความพิการ  และได้รับการยอมรับในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการไทยนี้ให้ความสำคัญต่อสิทธิ  โอกาส  ความเสมอภาค  การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และความต้องการของคนพิการหรือทุพพลภาพ  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

คณะผู้จัดทำอันประกอบด้วย  องค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการทั้งภาครัฐ  ภาคเอกชนและองค์กรของคนพิการ  จะดำเนินการด้วยวิธีการต่าง ๆ  เพื่อให้คนพิการได้รับประโยชน์สูงสุดตามเจตนารมณ์แห่งปฏิญญานี้

 

 

ความเป็นมา

 

องค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิ  โอกาส  และความเสมอภาคของคนพิการ  โดยในปี พ.ศ. 2541  ได้ประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการทางสติปัญญาและการเรียนรู้  พ.ศ. 2518  ประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ  พ.ศ. 2524  ประกาศให้เป็นปีคนพิการสากล  และประกาศให้ช่วงปี พ.ศ. 2526 - 2535  เป็นทศวรรษของคนพิการพร้อมทั้งกำหนดแผนปฏิบัติการโลก  เมื่อสิ้นสุดทศวรรษคนพิการแล้วคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเซียและแปซิฟิค     องค์การสหประชาชาติ  ต้องการที่จะปฏิบัติกิจกรรมและรณรงค์เรื่องสิทธิและโอกาสของคนพิการอย่างต่อเนื่องจึงได้ประกาศให้ปี  พ.ศ. 2536 - 2545  เป็นทศวรรษคนพิการของภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิค

สำหรับประเทศไทย  รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสิทธิและโอกาสของคนพิการเช่นกัน  โดยหน่วยงานต่าง ๆ  ร่วมกับคนพิการได้ยกร่างพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตั้งแต่  พ.ศ. 2520  และเมื่อปีคนพิการสากล  พ.ศ. 2524  ได้จัดกิจกรรมต่างๆ  พร้อมทั้งประกาศใช้แผนการสงเคราะห์และฟื้นฟูสมรรถ

ภาพคนพิการแห่งชาติระยะยาว(พ.ศ.2525-2534)

ในปี พ.ศ. 2534  ได้มีการตราพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ  และต่อมาได้ประกาศกฎกระทรวง  ระเบียบต่าง ๆ  รวมทั้งกำหนดนโยบายของรัฐเพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิโอกาส  และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ  อย่างเท่าเทียมกับสมาชิกอื่นในสังคม

เมื่อ พ.ศ. 2536  ผู้นำรัฐบาลไทยได่ร่วมลงนามพร้อมกับผู้นำของประเทศในภูมิภาคนี้ในประกาศการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และความเสมอภาคของคนพิการในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิคเพื่อเป็นคำมั่นสัญญาในการพัฒนาคุณภาคชีวิตคนพิการ  และขจัดเจตคติที่ไม่ถูกต้องของสังคมที่มีต่อคนพิการ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2540  ได้บัญญัติถึงเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพ  ศักดิ์ศรี  ความเป็นมนุษย์  สิทธิของคนพิการ  เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งตนเองได้

เพื่อเป็นการนำเจตนารมณ์ในเรื่องสิทธิ  โอกาส  และความเสมอภาคของคนพิการดังที่ปรกฎในรัฐธรรมนุญแห่งราชอาณาจักรไทย  ปฏิญญาขององค์การสหประชาชาติ  ประกาศการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และความเสมอภาคของคนพิการในภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิค  แผนงานและกฎระเบียบอื่น ๆ  ที่ได้กำหนดไว้ไปสู่การปฏิบัติ  ผู้แทนจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการทั้งภาครัฐและเอกชน  และองค์กรคนพิการ  จึงได้ร่วมกันจัดทำปฏิญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการไทย  เพื่อถือปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนพิการ

ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการไทยนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541

 

ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการไทย

 

1.  คนพิการ  มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์  มีสิทธิ  และเสรีภาพแห่งบุคคล  ย่อมได้รับความคุ้มครองในฐานะพลเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  และมีสิทธิต่าง ๆ  ตามที่ระบุไว้ภายใต้ปฏิญญาฉบับนี้  โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ  และโดยปราศจากการแบ่งแยกเชื้อชาติ  ศาสนา  การเมือง  ภาษา  ถิ่นกำเนิด  เพศ  อายุ  หรือสถานะอื่นใด

2.  คนพิการ  มีสิทธิแสดงความคิดเห็น  และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง

3.  คนพิการ  มีสิทธิเข้าร่วมในการตัดสินในกำหนดนโยบาย  และแผนงานทุกด้านที่เกี่ยวกับคนพิการทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

4.  คนพิการ  มีสิทธิได้รับการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพ  และพัฒนา  ตั้งแต่แรกเกิดและแรกเริ่มที่พบความพิการ  รวมทั้งผู้ปกครองและครอบครัวของคนพิการต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐในทุกด้านเพื่อให้สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาคนพิการอย่างเต็มศักยภาพ  และสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบุคคล

5.  คนพิการ  มีสิทธิได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ  เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างอิสระได้ด้วยตนเองอย่างเต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล

6.  คนพิการ  มีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพในทุกระดับ  ทุกรูปแบบของการจัดการศึกษาตามความต้องการของคนพิการอย่างเท่าเทียบกับบุคคลทั่วไป  ทั้งการศึกษาในระบบ  นอกระบบ  และการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยไม่มีการจำกัด  กีดกัน  เลือกปฏิบัติ  หรือข้อยกเว้นใด ๆ 

7.  คนพิการ  มีสิทธิและโอกาสได้รับการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ  การฝึกอาชีพ  การประกอบอาชีพทุกประเภท  ได้รับการจ้างงานหรือว่าจ้างงานเข้าทำงานตามความต้องการและความสามารถ  โดยได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการ  ได้รับความก้าวหน้า  รวมทั้งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโดยไม่มีการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ

8.  คนพิการ  มีสิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกคุกคามทางเพศ  ทำร้ายร่างกายและจิตใจ  กักขัง  เอารัดเอาเปรียบ  หรือการแสวงหาประโยชน์ใด ๆ  จากความพิการ  ทั้งนี้ ให้ได้รับความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

9.  คนพิการ  มีสิทธิอยู่ร่วมกับครอบครัว  ชุมชนของตน  และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกิจกรรมของครอบครัว  ชุมชน  และสังคม

10.  คนพิการ  มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก  บริการ  และความช่วยเหลือจากรัฐ  เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

11.  คนพิการ  มีสิทธิได้รับการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ครอบครัว  ชุมชน  และสังคมได้รับรู้และเข้าใจคนพิการในทางที่สร้างสรรค์  โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิ  ศักยภาพ  และความสามารถ  รวมทั้งการบำเพ็ญประโยชน์ของคนพิการ

12.  คนพิการ  มีสิทธิได้รับและเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร  โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคนพิการ  ทั้งนี้  ต้องได้รับการสนับสนุนให้มีสื่อทุกประเภทที่เหมาะสมกับความพิการ  รวมทั้งต้องจัดให้มีล่ามภาษามือ  อักษรเบรลล์  สื่ออิเลคโทรนิคส์  หรืออุปกรณ์พิเศษอื่น ๆ  ที่ใช้ในการสื่อสาร

13.  คนพิการ  และครอบครัว  ชุมชน  สังคม  มีสิทธิได้รับและเข้าถึงข้อมูล  ข่าวสาร  เพื่อทราบถึงสิทธิอันระบุไว้ในปฏิญญาฉบับนี้โดยทั่วถึง

14.รัฐต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามพันธสัญญาที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ  ซึ่งได้ลงนามหรือตกลงร่วมกันในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

 

 

 

(นายชวน  หลีกภัย)

     นายกรัฐมนตรี

วันที่ 3 เดือน ธันวาคม พุทธศักราช 2541

^ กลับสู่เนื้อหาหลัก