ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กแอลดี

www.greatschools.org

วันนี้มีเรื่องเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กแอลดีมาฝากกันค่ะ เหมาะสำหรับครูหรือผู้ปกครองเด็กแอลดีที่มีความรู้เรื่อง เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก (Assistive Technology – AT) หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า เอที ไม่มากนัก ข้อเขียนนี้แปลและเรียบเรียงมาจากบทความเรื่อง Assistive technology for kids with LD: An overview จากเว็บไซต์ www.greatschools.org เดิมเขียนโดย Schwab Learning ในโครงการของมูลนิธิ Charles and Helen Schwab Foundation ปรับปรุงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยทีมงาน GreatSchools ก็หลายปีมาแล้วเหมือนกัน แต่สาระยังคงมีประโยชน์อยู่ค่ะ

 

บทความเน้นว่า หากเรามีบุตรหลานที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ เขาอาจได้รับประโยชน์จากเครื่องมือเอทีที่ช่วยเสริมจุดแข็งและลดทอนปัญหาจากความบกพร่องที่เป็นอยู่

 

เอทีมีไว้เพื่อช่วยให้บุคคลที่มีความบกพร่องด้านต่างๆ ทั้งที่มีปัญหาด้านสติปัญญาไปจนถึงความพิการทางกายภาพ แต่บทความนี้จะมุ่งเน้นเฉพาะเอทีสำหรับบุคคลที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ (learning disabilities -LD) ที่มักเรียกกันว่า เด็กแอลดี

 

การใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมการเรียนรู้เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสำหรับเด็กจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กแอลดีมักจะประสบผลสำเร็จทางการเรียนมากขึ้น เมื่อพวกเขาได้ใช้เอทีเพื่อเสริมศักยภาพ (จุดแข็ง) และแก้ไขความบกพร่องของเขาได้ เครื่องมือเอทีจะผนวกสิ่งที่ดีที่สุดของทั้งสองส่วนรวมกัน

 

บทความนี้ประสงค์จะแนะนำผู้ปกครองถึงบทบาทของเอทีในการช่วยเหลือเด็กแอลดี ยิ่งเรามีความรู้เรื่องเอทีดีเท่าใด บุตรหลานของเราก็ยิ่งมีโอกาสประสบผลสำเร็จในโรงเรียน ในชีวิตประจำวัน และท้ายที่สุดใน        ที่ทำงาน เพิ่มขึ้นเท่านั้น เราควรต้องเรียนรู้ถึงวิธีเลือกเครื่องมือเอทีที่พึ่งพาได้ และคัดสรรเทคโนโลยี          ที่เหมาะสมกับความต้องการจำเป็น ความสามารถ และประสบการณ์เฉพาะบุคคลของเด็กด้วย

แล้วเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กแอลดีคืออะไรล่ะ

เอทีสำหรับเด็กแอลดี หมายถึง อุปกรณ์ใดๆ ชิ้นส่วนของอุปกรณ์ หรือระบบ ที่จะช่วยหลีกเลี่ยง แก้ไข ข้อบกพร่อง หรือเสริมการเรียนรู้เฉพาะบุคคลของเด็กแต่ละคน โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของเอทีสำหรับเด็กแอลดี (Collins, 1990; Elkind, 1993; Elkind, Black & Murray, 1996; Higgins & Raskind, 1995; Higgins & Raskind, 1997; MacArthur, 1993, 1998; MacArthur, Schwartz, & Graham, 1991; McNaughton, Hughes & Clark, 1997; Priumus, 1990; Raskind & Higgins, 1995; Raskind, Higgins & Herman, 1997)   เอทีไม่ได้รักษาหรือขจัดปัญหาทางการเรียนรู้ให้หมดสิ้นไป แต่สามารถช่วยให้เด็กเข้าถึงศักยภาพของตน เพราะมันช่วยเสริมจุดแข็งและหลีกเลี่ยงความบกพร่องของเด็กได้ ตัวอย่างเช่น เด็กที่มีปัญหาด้านการอ่าน แต่มีทักษะการฟังที่ดี ก็อาจได้รับประโยชน์จากการฟังหนังสือเสียงแทน 

โดยทั่วไปแล้ว เอทีจะช่วยทดแทนความบกพร่องในทักษะต่างๆ หรือส่วนที่บกพร่องของนักเรียน แต่สิ่งที่ควรคำนึงถึงอย่างยิ่งคือ การใช้เอทีไม่ได้หมายความว่าเด็กไม่สามารถรับการสอนซ่อมเสริมเพื่อบรรเทาข้อบกพร่องได้อีก ตัวอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะการออกเสียงที่บกพร่อง นักเรียนสามารถใช้ซอฟต์แวร์แก้ไขการอ่านนี้ควบคู่กับการฟังหนังสือเสียงได้ จริงๆ แล้ว มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า เอทีสามารถพัฒนาความบกพร่องด้านทักษะบางอย่างได้ เช่น การอ่านและการสะกดคำ เป็นต้น (Higgins & Raskind, 2000; Raskind & Higgins, 1999) 

 

เอทีสามารถช่วยให้เด็กพึ่งพาตนเองได้และรู้สึกเป็นอิสระมากขึ้น เด็กที่ต้องต่อสู้กับปัญหาทางการเรียนในโรงเรียนมากเกินไปก็มักจะต้องพึ่งพาพ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน ครู ให้ช่วยทำการบ้านหรือทำงานส่งครู แต่เมื่อใช้ เอทีแล้ว เด็กๆ ก็จะเรียนหรือทำงานสำเร็จลุล่วงได้อย่างอิสระด้วยตัวเอง 

มาถึงคำถามว่า เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกแบบไหนเหมาะสำหรับปัญหาทางการเรียนรู้ด้านใด?

เอทีสามารถใช้กับผู้ที่มีปัญหาทางการเรียนรู้หลายแบบ นักเรียนที่มีปัญหาด้านการเขียนสามารถเขียนรายงานได้ โดยพูดใส่เอทีแล้วเอทีก็จะแปลงเป็นข้อความด้วยซอฟต์แวร์พิเศษ เด็กที่มีปัญหาด้านคณิตศาสตร์สามารถใช้เครื่องคิดเลขมือถือเพื่อคิดคะแนนในขณะที่เล่นเกมกับเพื่อนได้ หรือคนวัยทำงานที่มีปัญหาด้านการอ่าน    ก็อาจใช้เอทีในการอ่านออกเสียงคู่มือการฝึกอบรมออนไลน์ของนายจ้างได้ สรุปคือทุกวันนี้มีเครื่องมือเอทีมากมายที่จะช่วยเด็กแอลดีฟันฝ่ากับปัญหาด้านการฟัง คณิตศาสตร์ ความจำ การอ่านหรือการเขียนได้

เครื่องมือเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกที่มีให้ใช้แล้วมีอะไรบ้าง

คนทั่วไป มักเอาคำว่า "เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก" ไปผูกติดกับพวกคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ซึ่งจริงๆ แล้ว เอทีอาจเป็นอุปกรณ์รูปแบบง่ายๆ ก็ได้ ในปัจจุบัน          มีเครื่องมือเอทีหลายแบบวางขายบนอินเทอร์เน็ตแล้ว ตัวอย่างเอทีสำหรับเด็กแอลดี เช่น

 เครื่องขยายคำย่อ (Abbreviation expanders)

 แป้นพิมพ์ทางเลือก (Alternative keyboards)

 หนังสือและสิ่งพิมพ์เสียง (Audio books and publications)

 ใบงานคณิตศาสตร์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic math work sheets)

 โปรแกรมฐานข้อมูลรูปแบบอิสระ (Freeform database software)

 โปรแกรมจัดการข้อมูล (Information/data managers)

 โปรแกรมรู้จำอักษร (Optical character recognition - OCR)

 ชุดเครื่องช่วยฟังระบบเอฟเอ็มส่วนบุคคล (Personal FM listening systems)

 เครื่องประมวลผลคำแบบกระเป๋าหิ้ว (Portable word processors)

 โปรแกรมพิสูจน์อักษร (Proofreading programs)

 โปรแกรมรู้จำคำพูด (Speech-recognition programs)

 โปรแกรมสังเคราะห์เสียง/อ่านหน้าจอ (Speech synthesizers/screen readers)

 เครื่องคิดเลขมีเสียง (Talking calculators)

 โปรแกรมเสียงตรวจคำผิดและพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ (Talking spell checkers and electronic dictionaries)

 เครื่องบันทึกเสียงตามความเร็ว (Variable-speed tape recorders)

 โปรแกรมเดาคำศัพท์ (Word-prediction programs) 

 

ในการประเมินผลิตภัณฑ์เอทีเพื่อเลือกใช้ให้เหมาะกับเด็ก คุณจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่าง        สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ข้อมูลรายละเอียดของเด็กนั่นเอง เช่น

ความต้องการจำเป็นเฉพาะและความบกพร่องของลูกคืออะไร? ลูกมีปัญหาทางการเรียนรู้ทักษะวิชาการด้านใด?

 จุดแข็งของลูกคืออะไร? เอทีควรดึงศักยภาพของเด็กมาช่วยทดแทนความบกพร่องที่เป็นอยู่

 ความสนใจ ทักษะ และประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีของลูกเป็นอย่างไร? ลูกจะใช้เครื่องมือเอทีในสถานที่และสถานการณ์ใดบ้าง? ทั้งนี้ เอทีสามารถช่วยเด็กแอลดีให้เรียน/ทำงานได้ดีขึ้น ทั้งที่โรงเรียนและสถานที่อื่นๆ เช่น บ้าน ที่ทำงาน ในงานสังคม และกิจกรรมนันทนาการต่างๆ 

 

นอกจากเอทีเฉพาะเด็กแอลดีแล้ว ยังมีเครื่องมือเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้อื่นๆ ที่ออกแบบเพื่อช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับเด็กทุกคน ซึ่งเด็กแอลดีก็ใช้ได้ด้วย เทคโนโลยีเหล่านี้อาจแตกต่างจากเอทีเล็กน้อย แต่ก็เป็นประโยชน์เช่นกัน เช่น

ซอฟต์แวร์ช่วยสอน ใช้สอนทักษะเฉพาะทางวิชาการ เช่น การอ่านและการเขียน หรือเนื้อหาสาระต่างๆ  เช่น ประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ซอฟต์แวร์เหล่านี้แตกต่างจากเอทีตรงที่ผลิตขึ้นเพื่อเสริม  การเรียนการสอนมากกว่าช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของเด็กแอลดี

การออกแบบสากลเพื่อการเรียนรู้ (Universal Design for Learning - UDL) เป็นปรัชญาที่ครอบคลุมรูปแบบ วิธีการ และผลิตภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ทางการเรียนรู้แก่ผู้เรียน  หลากหลายกลุ่ม (ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีปัญหาทางการเรียนรู้หรือไม่ก็ตาม) บนแนวคิดดังกล่าวนี้ เอทีจึงมักสร้างให้เป็นวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษา และสามารถปรับใช้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนที่มีความบกพร่องหลายประเภทประสบความสำเร็จในการศึกษาทั่วไปได้ 

อ้างอิงโดยผู้เขียน

1. Multiple studies: Collins, 1990; Elkind, 1993; Elkind, Black & Murray, 1996; Higgins & Raskind, 1995; Higgins & Raskind, 1997; MacArthur, 1993, 1998; MacArthur, Schwartz, & Graham, 1991; McNaughton, Hughes & Clark, 1997; Priumus, 1990; Raskind & Higgins, 1995; Raskind, Higgins & Herman, 1997.

2. Higgins, E. L. & Raskind, M. H. (2000). Speaking to Read: The Effects of Continuous vs. Discrete Speech Recognition Systems on the Reading and Spelling of Children With Learning Disabilities. Journal of Special Education Technology, 15 (1), 19-30.

3. Raskind, M. H. & Higgins, E. L. (1999). Speaking to Read: The Effects of Speech Recognition Technology on the Reading and Spelling Performance of Children With Learning Disabilities. Annals of Dyslexia, 49, 251-281.

 

ส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา  

แปลและเรียบเรียงจาก

Assistive technology for kids with LD: An overview 

เขียนโดย Schwab Learning, Charles and Helen Schwab Foundation 

ปรับปรุงโดย GreatSchools Staff กุมภาพันธ์ 2553

www.greatschools.org

 

แปลและเรียบเรียงจาก Assistive technology for kids with LD: An overview เขียนโดย Schwab Learning, Charles and Helen Schwab Foundation ปรับปรุงโดย GreatSchools Staff กุมภาพันธ์ 2553

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก