ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

หาสาเหตุและรักษาโรคออทิสซึ่มโดยใช้การเคลื่อนไหว

Alexandra Sifferlin วันที่ 24 กรกฎาคม 2556

Kim Gunkel / Getty Images
 
ด้วยการอาศัยข้อได้เปรียบของการเชื่อมโยงที่มีความเคลื่อนไหวในสมองของเด็กออทิสติก นักวิจัยชี้แจงว่า การให้เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ เป็นคนกำหนดแนวทางในการรักษาเอง เป็นเรื่องน่าจะเป็นไปได้
 
นักวิทยาศาสตร์ที่ Rutgers University และ Indiana University ได้ร่วมกันคิดค้นวิธีการใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ในการหาสาเหตุและบำบัดรักษาเด็กที่เป็นโรคออทิสซึ่ม โดยเน้นความสำคัญของวิธีการที่มีความพิเศษโดยเฉพาะ คือ การทำให้สมองของคนออทิสติกมีความเคลื่อนไหว
 
Elizabeth Torres นักประสาทวิทยาศาสตร์ด้านการคำนวณ (computational neuroscientist) ที่ Rutgers University ได้ตรวจสอบว่า การเคลื่อนไหวจะสะท้อนให้เห็นวิธีการที่คนเรามีปฏิกิริยาต่อการเคลื่อนไหวและรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวอย่างไร รูปแบบต่างๆ ของการเคลื่อนไหวทั้งหลายนี้ สามารถสะท้อนให้เห็นกระบวนการและการเชื่อมโยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมอง และสิ่งนี้อาจมาช่วยให้เราเข้าใจโรคออทิสซึ่มได้ดีขึ้น
 
“วิธีที่เราใช้ในการศึกษาสมองนั้นยังไม่เป็นรูปเป็นร่างสักเท่าไร เรามุ่งความสนใจไปที่ระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง และไขสันหลัง โดยไม่ได้ให้ความสนใจกับระบบประสาทส่วนปลาย” Torres บอกกับเรา โดยอ้างถึงโครงข่ายเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดข้อมูลการรับ-ส่งความรู้สึกอย่างเช่น สัมผัสประสาท จักษุประสาท และฆานประสาท “สิ่งนี้ ทำหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมตนเองและความเป็นตัวของตัวเอง เรื่องนี้ไม่ค่อยมีการนำมาพิจารณากันในกรณีของโรคออทิสซึ่ม และในงานวิจัยเกี่ยวกับสมองส่วนใหญ่”
 
การเคลื่อนไหวมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของคนเราต่อโลกที่อยู่รอบตัว ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการตระหนักรู้กับสภาพแวดล้อมของคนเรา ก็สามารถเปลี่ยนการเคลื่อนไหวของเราได้ด้วยเช่นกัน Torres ยังกล่าวด้วยว่า “การเคลื่อนไหว คือรูปแบบหนึ่งของการรับข้อมูลกลับเข้าสู่สมองโดยผ่านประสาทสัมผัส เหมือนกับรูปแบบของการรับข้อมูล (หรือสัญญาณที่มีการตอบรับ) กลับมา (feedback)  อย่างต่อเนื่อง”
 
ระบบประสาทส่วนกลาง ได้รับข้อมูลหรือสัญญาณที่มีการตอบรับกลับมา และมีการประมวลผลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่เหมาะสม ในช่วงของการพัฒนาการตามปกติ ระบบดังกล่าวสามารถคาดเดาผลลัพธ์ของการสัมผัสนั้น ๆ ได้ ก็เหมือนกับการที่เด็กทารกเรียนรู้การใช้ปากดูดเพื่อรับอาหารนั่นเอง แต่กลุ่มนักวิจัยก็ค้นพบว่า กระบวนการดังกล่าวดูเหมือนจะยังไม่สมบูรณ์นัก เมื่อใช้วิธีการเดียวกันนี้กับเด็กออทิสติก
 
ในรายงานสองฉบับที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร Frontiers in Neuroscience นักประสาทวิทยาศาสตร์ด้านการคำนวณ Torres ผู้ทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และนักฟิสิกส์ ได้บรรยายวิธีที่จะหาสาเหตุการเกิดโรคออทิสซึ่มผ่านรูปแบบต่าง ๆ ของการเคลื่อนไหว และเป็นไปได้ว่าจะเยียวยารักษาสภาวะนั้นได้ โดยการใช้กลวิธีที่อาศัยหลักการเคลื่อนไหวของร่างกายที่คล้ายคลึงกัน พวกเขาได้คิดค้นแนวทางที่เน้นความสำคัญของการเคลื่อนไหวตามสัญชาตญาณ ที่เด็กออทิสติก หรือแม้แต่เด็กทารกทุกคนทำโดยไม่ได้ตั้งใจ คณะนักวิจัยสามารถวัดความผันผวนของการเคลื่อนไหวในเด็กออทิสติกได้ และได้เปรียบเทียบการเคลื่อนไหวดังกล่าวกับการเคลื่อนไหวในเด็กปกติ กลวิธีนี้สามารถนำไปหาสาเหตุการเกิดโรคออทิสซึ่มในคนที่มีอายุระหว่าง 3 ขวบถึง 25 ปี แต่ที่น่าตื่นเต้นกว่านั้น คือ ความจริงที่ว่า การวินิจฉัยกระบวนการของความเคลื่อนไหวที่ว่านี้ มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวมากพอที่จะทำให้สามารถทราบได้ว่า เด็กที่เป็นโรคออทิสซึ่มคนนั้น มีอาการรุนแรงมากน้อยเพียงใด สังเกตได้จากพัฒนาการที่ผิดปกติ เด็กออทิสติกทุกคนที่เข้าร่วมโครงการที่ไม่มีการจำกัดอายุ รู้สึกว่าความสามารถในการทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ได้ถูกหยุดยั้งไปอย่างจริงจังเมื่อตอนอายุสามขวบ พออายุสี่ขวบ รูปแบบดังกล่าวในคนหนุ่มสาวที่มีการพัฒนาการตามปกติ สามารถคาดคะเนล่วงหน้าและเชื่อถือได้ด้วย เมื่อถึงวัยอุดมศึกษา ก็ยิ่งคาดคะเนได้ง่ายยิ่งขึ้น และผู้ใหญ่ สามารถคาดคะเนได้ว่า การเคลื่อนไหวของพวกเขานั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร และสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบต่อตนได้อย่างไรด้วยเช่นกัน แต่ว่าเด็กที่มีอาการออทิสติก ไม่อาจสร้างความเชื่อมโยงเช่นที่ว่านี้ได้เลย
 
“การรับข้อมูลกลับมา หรือ feedback ไม่มีอะไรเลย มันไขว้เขว ถูกรบกวน และออกจะสะเปะสะปะ ดูเหมือนพวกเขาจะไม่สามารถสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวหรือกรอบอ้างอิง เพื่อสร้างความเข้าใจโลกในทางวัตถุที่อยู่รอบๆ ตัว เพราะทุกอย่างที่เราลงมือทำจะต้องกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา และการสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวเพื่อให้คนดูเข้าท่าเข้าทาง ก็จะต้องมีการผสมผสานโดยอาศัยการเคลื่อนไหว” Torres กล่าว ความเห็นของเธอช่วยอธิบายปัญหาต่าง ๆ ที่เด็กออทิสติกมีกับการปฏิสัมพันธ์กับสังคม ด้วยเหตุที่ความเคลื่อนไหวที่มองเห็นได้ มีความสำคัญต่อการตีความและการตอบสนองสิ่งเร้าจากสังคม ที่ส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทั้งสิ้น
 
เพื่อทดสอบการใช้งานได้โดยสมบูรณ์ของหลักการที่อาศัยความเคลื่อนไหวเป็นพื้นฐานนี้ นักวิจัยจึงคิดหาวิธีเปลี่ยนผลการค้นพบของพวกตนไปเป็นวิธีการเยียวยารักษารายบุคคล พวกเขาจัดทำพื้นที่ทำงานดิจิตอล Wii-like (Wii-like digital workspace) แสดงภาพที่สร้างด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมกับการ์ตูนสั้นเล็กๆน้อยๆ วีดิทัศน์ หรือรายการโทรทัศน์ที่เด็กสามารถเลือกชมเองได้ โดยการขยับมือที่จับตัวเซ็นเซอร์ * ไปมา เด็ก ๆ ได้ “เรียนรู้” ว่าต้องทำท่าหรือเคลื่อนไหวใดจึงจะเปิดดูรายการใดได้ แล้วจึงจะค่อย ๆ เปิดดูสิ่งที่ตนชอบได้เอง ดูเหมือนว่ากระบวนการดังกล่าว จะช่วยให้เด็กๆ สร้างการเชื่อมต่อเป็นการตอบรับกลับมาระหว่างการเคลื่อนไหวของตนและความมุ่งหมายที่ยังพัฒนาไปได้ไม่ค่อยดีนัก
 
เด็กๆ สามารถเรียนรู้เรื่องการเคลื่อนไหว และยังจำเรื่องนี้อยู่ได้นานนับสัปดาห์ กว่าจะถึงการทดสอบครั้งใหม่ ในตอนท้ายของการศึกษาวิจัย ปรากฏว่า เด็กๆ สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายตนเอง และเข้าใจสภาพแวดล้อมรอบตนเองได้ดีขึ้น ไม่ว่าวิธีการนี้จะสามารถวินิจฉัยสาเหตุของโรคได้อย่างน่าเชื่อถือ และสามารถใช้รักษาโรคออทิสซึ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารกได้หรือไม่ก็ตาม การทำบททดสอบที่มากกว่าเดิม ยังคงมีความจำเป็น เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวซึ่งต้องถือเป็นลักษณะพิเศษที่ปรับเปลี่ยนได้ของโรคออทิสซึ่ม ทั้งสองอย่างนี้ อาจมาช่วยให้เด็กที่มีความผิดปกติอีกเป็นจำนวนมาก สามารถเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเอง และมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้ในที่สุด.
________________________________________________________________________________________________
* sensor คือ เครื่องส่งสัญญาณชนิดหนึ่งที่ไวต่อแสง

Alexandra Sifferlin @acsifferlin
Alexandra Sifferlin คือนักเขียน และผู้จัดทำบล็อก TIME Healthland เธอจบการศึกษาจาก Northwestern University Medill School of Journalism
 
อ่านเพิ่มเติมได้จาก: Using Movement to Diagnose and Treat Autism | TIME.com http://healthland.time.com/2013/07/24/using-movement-to-diagnose-and-treat-autism/#ixzz2ra15lr6N
แปลและเรียบเรียง Using Movement to Diagnose and Treat Autism จาก Time.com

ภาพประกอบบทความออทิสติก

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก