ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การศึกษาวิจัยเรื่อง เด็กที่เป็นพี่หรือน้องของเด็กออทิสติก จะมีการทำงานของสมองคล้ายกัน

Alice Park วันที่ 13 กรกฎาคม 2554

Victoria Yee
 
จากการวิจัยครั้งใหม่ พบว่า รากเหง้าทางพันธุกรรมของโรคออทิสซึ่ม อาจต้องสืบค้นกันมากกว่าที่เคยคิดกันมาก่อนหน้านี้ คือต้องไปถึงวงศ์ตระกูลเลยทีเดียว
 
ในงานวิจัยที่นำลงพิมพ์ในวารสาร Translational Psychiatry นักวิทยาศาสตร์ที่ University of Cambridge รายงานไว้ว่า แม้คนเป็นพี่น้องกัน แต่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคออทิสซึ่ม ก็ยังมีสัญญาณของความแตกต่างในสมอง ที่ทำให้แต่ละคนมีความแตกต่างจากเด็ก ๆ ในครอบครัวที่ไม่มีคนเป็นออทิสติก
 
นักวิจัยนำโดย Dr. Michael Spencer จิตแพทย์เด็ก ได้ศีกษาการทำงานของสมองของเด็กวัยรุ่น 120 คน ขณะที่มองภาพใบหน้าคนที่แสดงสีหน้าต่าง ๆ กัน ปรากฏว่า เด็ก 40 คนถูกวินิจฉัยว่ามีอาการในกลุ่มออทิสซึ่ม ตั้งแต่ระดับแอสเพอร์เกอร์ไปจนถึงโรคออทิสซึ่ม อีก 40 คน จะเป็นพี่หรือน้องของเด็กที่เป็นออทิสติก แต่ตนเองที่ไม่เป็น กลุ่มสุดท้าย เป็นเด็ก ๆ จากครอบครัวที่ไม่มีใครเป็นออทิสติก
 
ขณะที่เด็ก ๆ มองภาพต่าง ๆ ทีมงานของ Spencer ก็ทำการสแกนสมองของเด็กๆ ด้วย fMRI * ซึ่งสามารถวัดการทำงานของส่วนต่าง ๆ ของสมองตามเวลาจริง (เวลาจริง หมายถึงสิ่งที่คอมพิวเตอร์คำนวณและสิ่งที่เราเห็นเป็นสิ่งเดียวกัน) ทีมงานใช้รูปแบบการทำงานของสมองของเด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่ได้เป็นโรคออทิสซึ่มมาเป็นมาตรฐาน กล่าวคือ เมื่อเด็กวัยรุ่นเหล่านี้มองรูปใบหน้าคนมีความสุข พื้นที่ในสมอง 11 ตำแหน่งที่เชื่อมต่อกับการดำเนินกระบวนการทางสังคมและอารมณ์ความรู้สึก จะมีพลังมากขึ้นและทำงานได้ดีขึ้น เมื่อเด็กออทิส-
ติกมองรูปเดียวกัน พื้นที่ในสมองทั้ง 11 ตำแหน่ง ไม่ได้มีการกระตุ้นให้รับรู้ใบหน้าที่มีความสุขเหล่านั้นเลย
 
* เป็นการสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กวิธีหนึ่ง ที่วัดการทำงานของสมอง โดยจับความเปลี่ยนแปลงของการเดินโลหิตที่สัมพันธ์กัน
 
 
การค้นพบดังกล่าวไม่ใชเรื่องน่าประหลาดใจ เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าวัยรุ่นที่เป็นออทิสติก มีปัญหาในการเรียนรู้และการอ่านสิ่งกระตุ้นหรือนัยทางสังคม รวมถึงสัญญาณหรือเครื่องบ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกที่คนเราส่งออกไปผ่านสีหน้าของตน ภาษากาย และน้ำเสียงที่เปล่งออกมา สิ่งที่เกินความคาดหวัง คือ การได้เห็นว่า พื้นที่ทั้ง 11 ตำแหน่งในสมองของพี่หรือน้องของเด็กออทิสติก ที่ไม่มีอาการของโรค จะลดระดับการทำงานลงไปในทำนองเดียวกัน Spencer กล่าวว่า
 
อันที่จริง รูปแบบการทำงานของสมองในวัยรุ่นเหล่านี้ ดูแล้วก็เหมือนกับสมองของพี่หรือน้องของคนที่เป็น
ออทิสติก และไม่ค่อยเหมือนรูปแบบการทำงานของสมองคนปกติ แม้ว่าคนๆ นั้น จะไม่ได้เป็นออทิสติกก็ตาม
 
“รูปแบบการทำงานของสมองที่มีความคล้ายคลึงกัน ในคู่พี่น้องชายหรือหญิงของเด็กออทิสติกที่ไม่ได้เป็น
ออทิสติกนั้นต่างหาก ที่ทำให้เราต้องตะลึง”  Spencer กล่าวต่อไป “ซึ่งเหมือนกับจะเป็นการบอกเราว่า นี่คือรูปแบบการทำงานของสมองที่มีการส่งต่อให้แก่กัน เนื่องจากยีนที่ได้รับสืบทอดกันมา อาจทำให้สมาชิกในครอบครัว มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคออทิสซึ่มมากขึ้น”
 
ความจริงที่ว่า โรคออทิสซึ่มมีรากเหง้าทางพันธุกรรม ได้รับการยืนยันอย่างมั่นคงหนักแน่นขึ้นไปอีก จากการศึกษาวิจัยที่พบว่า พี่หรือน้องของเด็กออทิสติก จะมีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคออทิสซึ่มได้ถึง 20 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ได้มีประวัติของความผิดปกติเกิดขึ้นในครอบครัว แต่เนื่องจากพี่หรือน้องของ
เด็กออทิสติกจะไม่แสดงสัญญาณของการเป็นออทิสติกออกมาให้เห็น ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ยืนชนิดใด เป็นเหตุให้เกิดความผิดปกตินี้ และเกิดขึ้นได้อย่างไร
 
นับเป็นการท้าทาย ที่จะคลี่ปมหาว่ามีปัจจัยทางพันธุกรรมมากมายเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับที่ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมส่งผลให้เกิดโรคออทิสซึ่ม “การนำพี่หรือน้องของคนเป็นออทิสติก [ที่ไม่ได้เป็นออทิสติก] มาเป็นมาตรฐานเปรียบเทียบในการทดลอง และได้พบความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้ กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในการทำวิจัยเรื่องโรคออทิสซึ่มมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว” Spencer บอก “เพราะว่า ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในการเปรียบเทียบนี้ มีความเกี่ยวข้องกับประวัติการป่วยเป็นโรคออทิสซึ่มของคนในครอบครัว ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะเท่ากับว่า จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับยีนที่ทำให้เป็นโรคออทิสซึ่มที่ได้รับสืบทอดมาด้วยเช่นกัน”
 
ผู้เชี่ยวชาญชี้แจงว่า ผลจากการวิจัยดูเหมือนว่าจะไม่เกิดผลกระทบในทันทีทันใดกับวิธีการรักษาโรคออทิสซึ่มในสถานพยาบาล ตรงกันข้าม กลับจะช่วยทำให้บรรดานักวิจัยมีความเข้าใจได้ดีขึ้น ว่าอะไรคือแรงกระตุ้นที่ทำให้ความผิดปกตินี้มีพัฒนาการต่อไป ยกตัวอย่างเช่น การมุ่งเน้นไปที่ศูนย์รวมประสาทต่าง ๆ ในสมองที่ทำให้เกิดแรงกระตุ้นทางสังคม สามารถนำไปสู่วิธีที่ดีขึ้นในการบำบัดรักษา ซึ่งกำหนดให้ระบุถึงความบกพร่องทั้งหลายที่เป็นเหตุให้สมองส่วนนี้ของเด็กออทิสติกทำงานผิดพลาด
 
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความต้องการเปลี่ยนผลการวิจัยเหล่านี้ ให้เป็นการทดสอบอย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับโรคออทิสซึ่มโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคนที่กำลังจะเป็นพ่อเป็นแม่ซึ่งอาจมีความกังวลในความเสี่ยงที่ต่อโรคออทิสซึ่มในครอบครัวของตน การคัดกรองเพื่อลดการทำงานของสมองในบริเวณที่เกี่ยวข้องกับด้านสังคม จะช่วยพ่อแม่เหล่านั้นคาดเดาได้ว่า ตนมีโอกาสจะมีลูกที่เป็นโรคออทิสซึ่มหรือไม่
 
แต่ก่อนที่สิ่งที่ว่าจะเกิดขึ้นได้ Spencer บอกว่า จำเป็นต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีกมากมายในการแยกปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติออกมา ดังระบุไว้ในงานวิจัย การทำงานของสมองที่ลดลงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความเป็นไปได้อีกหลายประการ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จำต้องทำความเข้าใจให้ดีขึ้น ก่อนจะแนะนำ ผู้กำลังจะเป็นพ่อเป็นแม่เหล่านั้นว่า ในกรณีของพวกเขาควรใช้วิธีการประเภทใดในการคัดกรอง


Alice Park @aliceparkny
Alice Park คือหนึ่งในคณะนักเขียนของ TIME ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ ยารักษาโรค การแพทย์ โภชนาการ และสมรรถภาพทางกาย
แปลและเรียบเรียง Study_ Siblings of Autistic Kids Show Similar Brain Activity จาก Time.com

ภาพประกอบบทความออทิสติก

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก