ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การตอบสนองต่อการเรียนการสอน (Response-to-Instruction) และการออกแบบการเรียนรู้ที่ใช้ได้ทั่วไป/ที่เป็นสากล (Universal Design for Learning): สองวิธีการที่อาจขัดแย้งกันได้ในชั้นเรียนปกติ ตอนที่ 3

Nicole Strangeman, Chuck Hitchcock, Tracey Hall, Grace Meo และคณะ (2006)

การตอบสนองต่อการเรียนการสอน และการออกแบบการเรียนรู้ที่ใช้ได้ทั่วไป/ที่เป็นสากล
       RTI และ UDL มีความแตกต่างกันตรงที่ RTI เป็นวิธีการของการตัดสินใจทางการศึกษา ซึ่งอาศัยความสำเร็จหรือความล้มเหลวของเด็กในกลุ่มเสี่ยง ที่เกิดขึ้นในระหว่างการให้ความช่วย เหลือที่จัดให้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ส่วน UDL นั้น เป็นวิธีการของการตัดสินใจในการออกแบบหลักสูตร เพื่อให้หลักสูตรการศึกษาตามปกติประสบความสำเร็จสูงสุด อย่างไรก็ตาม RTI และ UDL นั้น มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการปรับปรุงผลทางการศึกษาของเด็กที่มีความพิการ/บกพร่อง ทั้งยังมีความคล้ายคลึงกันในแนวทางสำคัญหลายประการ
       ประการแรก ทั้ง RTI และ UDL ยอมรับว่า ผลสัมฤทธิ์ในระดับต่ำไม่ได้ต้องสะท้อนถึงการไร้ความสามารถเสมอไป แต่น่าจะเป็นการสะท้อนถึงการเรียนการสอนที่ด้อยคุณภาพด้วย นั่นคือ ในบางกรณี ตัวหลักสูตรเองอาจไม่มีประสิทธิภาพพอ ไม่ใช่ตัวเด็ก RTI ได้ใส่ความเชื่อนี้เข้าไปในวิธีปฏิบัติ โดยแนะนำว่า ควรนำหลักสูตรการศึกษาตามปกติมาใช้ร่วมกับการเรียนการสอนและการให้ความช่วยเหลือที่มีงานวิจัยรับรอง โดยอาศัยการระบุความบกพร่องทางการเรียนรู้ที่มีความเป็นไปได้ของเด็กในแผนงานด้านการเรียนการสอน และโดยการยอมรับว่า ในหลาย ๆ กรณี ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับการเรียนการสอนของชั้นเรียนปกติ มากกว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือ (Batsche และคณะ, 2005) UDL ยังส่งเสริมให้ใช้วิธีการเรียนการสอนและการให้ความช่วยเหลือที่มีงานวิจัยรับรอง (Dalton และคณะ, 2002; Murray & Hall, 2006) และเน้นแนวคิดของหลักสูตรเพื่อคนพิการ โดยการบอกให้เข้าใจต่อไปด้วยว่า ตัวหลักสูตรเองต่างหาก ที่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ไม่ใช่เด็ก (Rose & Meyer, 2002)
       ประการที่สอง ทั้ง RTI และ UDL สะท้อนถึงความเข้าใจที่ว่า หลักสูตรที่ใช้ได้ผลดีกับเด็กคนหนึ่ง อาจใช้ไม่ได้ผลกับเด็กอีกคนหนึ่ง ใน RTI ความเข้าใจดังกล่าวจะเห็นได้อย่างชัดเจนในวิธีการให้ความช่วยเหลือแบบรายตัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการแก้ปัญหา ส่วน UDL นั้น หลัก สูตรที่ใช้ได้รับการออกแบบมาเพื่อใช้ร่วมกับทางเลือกที่มีหลากหลาย ทั้งด้านเป้าหมาย อุปกรณ์ วิธีการ และการประเมินผล เพื่อให้ทั้งหลักสูตร มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความต้องการของเด็กแต่ละราย
       ประการที่สาม RTI และ UDL เห็นว่าการประเมินผล เป็นวิธีที่จะบอกกล่าวเรื่องการเรียนการสอนและการให้ความช่วยเหลือ และพิจารณาเห็นว่าคะแนนจากการทดสอบปีละครั้งนั้นยังไม่เพียงพอที่จะนำมาตัดสินความสามารถของเด็ก ใน RTI การตอบสนองของเด็กมีเพียงการเฝ้าสังเกตตามช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งของการให้ความช่วยเหลือ แต่สำหรับ UDL แล้ว การจัดประเมินผลจะจัดขึ้นหลายครั้ง อย่างต่อเนื่อง การใช้วิธีการวัดผลแบบอิงหลักสูตร เพื่อเป็นช่องทางที่จะบอกกล่าวกับครู เกี่ยวกับความมีประสิทธิภาพของการเรียนการสอน และชี้แนะในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเรียนการสอนและการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ถือว่าเป็นลักษณะเด่นของการเข้ามาสู่จุดร่วมของ RTI และ UDL การวัดผลแบบอิงหลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้สามารถกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือได้ หากการเรียนการสอนยังคงมีความต่อเนื่อง และมีการจัดให้เด็กก่อนที่ความล้มเหลวจะเกิดขึ้น
             การยอมรับว่าครูต้องการความรู้และทักษะใหม่ ๆ ในการใช้ทั้ง RTI และ UDL ให้ได้ผลนั้นเป็นสิ่งสำคัญ (Dalton และคณะ, 2005; Howard, 2003; Mastropieri & Scruggs, 2005; Rose & Meyer, 2002) ดังนั้น การพัฒนาระดับวิชาชีพและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในสถานศึกษาจึงมีความสำคัญด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในฐานะเครื่องมือสำคัญ การแก้ปัญหาของ UDL มักจะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับเปลี่ยน พร้อมกับการได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นในการปรับปรุงด้านการสนับสนุนครูและความมีใจจดจ่อต่อการเรียนของเด็ก (Pisha & Coyne, 2001) ดังนั้น เทคโนโลยีจะสามารถช่วยลดปัญหาบางประการในการนำวิธีการดังกล่าวไปใช้ให้บรรลุผล ความยืดหยุ่นที่เกิดขึ้น จะช่วยให้การออกแบบหลักสูตรที่ปรับเปลี่ยนได้นั้น มีความเป็นไปได้มากขึ้น
       แม้ว่ากฎหมาย IDEA 2004 จะเน้นการนำวิธีการ RTI มาใช้ในการระบุเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม เราเชื่อว่าการนำวิธีการนี้ไปทำงานร่วมกับ UDL จะทำให้เกิดศักยภาพอันยิ่งใหญ่ไปทั่วแวดวงการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอบข่ายงานของ UDL อาจช่วยส่งเสริมวิธีการแก้ปัญหาในวิธีการของ RTI ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายสำคัญของกระบวนการเพื่อให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ที่จริง RTI ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยังขาดวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ (คือ ใช้หลักการเพียงไม่กี่อย่างในการแยกแยะระหว่างการไม่ตอบสนองต่อการเรียนการสอน และการตอบสนองเพียงเล็กน้อยต่อการเรียนการสอน อีกทั้งความแม่นยำในการทำนายประเภทของความช่วยเหลือที่จะใช้ให้ได้ผลกับเด็ก ก็ยังมีน้อย [Kavale และคณะ, 2005]) ครูมักจะมีปัญหาในการตีความข้อมูลที่ได้จากการวัดผลแบบอิงหลักสูตรอยู่เสมอ และยังต้องใช้ข้อมูลนั้นมาปรับเปลี่ยนแผนงานด้านการเรียนการสอนของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น (Fuchs, Deno, & Mirkin, 1984; Fuchs, Fuchs, & Hamlett, 1989) ยิ่งไปกว่านั้น ความแตกต่างระหว่างบุคคลซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของวิธีการแก้ปัญหานั้น ก็ถือว่าเป็นปัญหาอย่างยิ่งยวดของบรรดาครูเช่นกัน (Batsche และคณะ, 2005; Gersten & Dimino, 2006)
       ขอบข่ายงานของ UDL เสนอช่องทางที่มีศักยภาพเพื่อเป็นการชี้แนะในการตัดสินใจดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างของตัวแปรด้านการเรียนรู้ในเรื่องของการรับรู้ กลวิธี ซึ่งสามารถใช้เป็นช่องทางในการเลือกให้ความช่วยเหลือที่ได้ผล วิธีการแก้ปัญหาของ RTI นี้ เป็นวิธีการที่ใช้เฉพาะบุคคล ที่จะนำมาใช้ในพิจารณาเด็กเป็นรายๆ ไป ขอบข่ายงานของ UDL สามารถช่วยชี้แนะการวิเคราะห์และการตัดสินใจสำหรับเด็กแต่ละรายในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ RTI โดยมุ่งความสนใจไปยังการรับรู้ กลวิธี และจุดแข็งกับสิ่งท้าทายของเด็กผู้เรียนแต่ละราย (ศูนย์ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพิเศษ - Center for Applied Special Technology หรือ CAST ได้พัฒนาเครื่องมือออนไลน์ ชื่อ UDL Class Profile Maker ขึ้นมาเพื่อให้ครูสามารถใช้ขอบข่ายงาน UDL มาช่วยให้ตนเข้าใจเด็กได้มากขึ้น [CAST, 2002-2006b]) อีกช่อง ทางหนึ่งที่มีการผสมผสาน RTI และ UDL ไว้ด้วยกัน ก็คือ การใช้ UDL ในการออกแบบการให้ความช่วยเหลือในวิธีการของ RTI ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีงานวิจัยที่แสดงผลว่าแผนงานด้านการเรียนการสอนที่ออกแบบขึ้นโดยอาศัยหลักการของ UDL นั้น ใช้ได้ผลกับเด็กจำนวนมาก (Dalton & Coyne, 2002; Dalton และคณะ, 2002; Dalton และคณะ, 2005) การออกแบบการให้ความช่วยเหลือโดยการให้การสนับสนุนที่มีความยืดหยุ่น ในเรื่องของการรับรู้ กลวิธี และก่อให้เกิดผลกระทบนั้น ทางอารมณ์ความรู้สึก เป็นไปได้ที่ระดับช่วงชั้น (tier) ที่จำเป็นของ RTI อาจจะถูกลดจำนวนลง แล้วเพิ่มจำนวนของเด็กที่ต้องแสดงการตอบสนองเข้าไป
       ปัจจุบัน เด็กบางคนที่ถูกระบุว่ามีการตอบสนองต่อวิธีการ RTI ยังไม่ถูกจัดกลับเข้าไปรวมอยู่ในกลุ่มการเรียนการสอนแบบดั้งเดิม เพราะพวกเขาถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือซึ่งจะต้องใช้ทรัพยากรมากเกินกำลังของชั้นเรียนในหลักสูตรปกติ จึงอาจเป็นไปได้ที่จะต้องขยายขีดความสามารถของหลักสูตรปกติ เพื่อเปิดโอกาสให้กับการเรียนการสอนแบบต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แบบดั้ง เดิมที่มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ตามหลักการและวิธีการสอนของ UDL นั้น เทคโนโลยีจะช่วยให้เกิดการปฏิบัติจริงได้มากขึ้น และช่วยให้การจัดเตรียมช่องทางการเรียนการสอนสำหรับชั้นเรียนเดียวกัน มีความเป็นไปได้ และอาจมีส่วนสนับสนุนในการนำความช่วยเหลือเป็นพิเศษโดยเฉพาะในวิธีการของ RTI ไปใช้กับชั้นเรียนในหลักสูตรปกติได้
      นอกเหนือจากการปรับปรุงประสิทธิภาพของ RTI แล้ว อาจมีการนำ UDL ไปใช้ในท้ายที่สุดเพื่อลดทอนสิ่งที่จำเป็นลงไป โดยการสร้างประสิทธิภาพให้กับหลักสูตรการศึกษาภาคปกติ ให้สามารถเข้ากันกับความต้องการที่หลากหลายของเด็กได้ สิ่งนี้จะช่วยลดจำนวนเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ และ/หรือการศึกษาพิเศษลงไปได้ ตัวอย่างเช่น อาจมีการนำ UDL มาใช้ในการระบุตัวเด็ก และทำให้อุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหลักสูตรปกติมีน้อยที่สุด ซึ่งถ้าหากไม่มีการกล่าวถึง ก็อาจจะเกิดความเสียหายต่อพฤติกรรมของเด็กโดยไม่จำเป็น และเพิ่มจำนวนเด็กที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นกลุ่มเป้าหมายของการให้ความช่วยเหลือมากขึ้น (ซึ่งสามารถนำเครื่องมือ Curriculum Barriers Finder ของหน่วยงาน CAST และ UDL Solutions Finder มาช่วยในงานนี้ได้ [CAST, 2002-2006a, 2002-2006c])
บทสรุป
       การเข้าถึง การมีส่วนร่วม และความก้าวหน้าของเด็กทุกคนในหลักสูตรการศึกษาภาคปกติคือเป้าหมายทางการศึกษาที่พึงประสงค์ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขได้สำเร็จอย่างน่าชื่นชมก็ตาม (กฎหมายการศึกษาสำหรับคนพิการ - Individual with Disabilities Education Improvement Act, 2004; Individuals with Disabilities Education Act, 20 U.S.C. §1400 et seq., 2000; U. S. Department of Education, 2001) ยังคงมีช่องว่างอยูอีกมากทางด้านพฤติกรรม ทั้งของเด็กพิการและเด็กที่ไม่พิการ (Blackorby และคณะ, 2004; Frieden, 2004; National Center for Education Statistics, 2003)
       ความสำเร็จจากความเพียรพยายามของเราในการจัดสรรสิทธิของการเข้าถึง การมีส่วนร่วม และความก้าวหน้าในหลักสูตรปกติ ที่มีความเท่าเทียมกันให้กับเด็กนี้ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในหลักสูตรของผู้ใช้ ได้แก่ ‘แนวคิด การออกแบบ และการนำไปใช้ให้ได้ผลของหลักสูตรปกติและสมมติฐานที่เป็นหลักพื้นฐาน’ (Hitchcock, Meyer, Rose, & Jackson, 2005, p. 1) การตอบสนองต่อการเรียนการสอน (RTI) และการออกแบบการเรียนรู้ที่ใช้ได้ทั่วไป/ที่เป็นสากล (UDL) จะทำให้ความเข้าใจเรื่องหลักสูตรแนวใหม่ที่มีความสำคัญนี้ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้: ผลงานที่ยังไม่ได้คุณภาพสะท้อนให้เห็นข้อบกพร่องของหลักสูตรมากกว่าความไร้สมรรถภาพของเด็ก RTI และ UDL ทั้งสองวิธีการนี้ หมายถึงวิธีการที่เกี่ยวข้องและมีประโยชน์กับการปรับปรุงการเรียนรู้ของเด็ก ที่อาศัยพื้นฐานของการปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสม โดย RTI ใช้วิธีการกำหนดช่วงชั้นของการให้ความช่วยเหลือที่จัดให้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ เพื่อระบุการไร้ความสามารถ และตรวจสอบความมีประสิทธิภาพของวิธีที่ใช้ในการเรียนการสอน ส่วน UDL นั้น มุ่งไปทางด้านการออกแบบหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสอดคล้องกับความต้องการของเด็กทุกรายโดยอาศัยการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้เป็นสำคัญ
       ทั้งสองวิธีการนี้ ยังคงได้รับการพัฒนาอยู่ และ RTI คือ หัวข้อของการถกเถียงในปัจจุบัน  การนำขอบข่ายงาน UDL มาใช้ ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดการเพ่งเล็งไปยังความไม่แน่ไม่นอนของ RTI เช่น ในวิธีการให้ความช่วยเหลือเป็นรายบุคคล และการตัดสินใจเรื่องการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากนี้ การนำสองวิธีการมาใช้ร่วมกัน อาจทำให้เป้าหมายที่สูงส่งกว่าเดิมประสบความสำเร็จ กล่าวคือ นำ RTI มาใช้ให้เกิดผล และในเวลาเดียวกัน ก็นำ UDL มาสร้างประสิทธิภาพให้กับหลักสูตรปกติ และอาจเป็นไปได้ที่หลักสูตรที่เกิดจากการผสมผสานนี้ จะประสบความสำเร็จ มีผู้นำไปใช้กันอย่างกว้างขวาง ทำให้สามารถคาดการณ์ปัญหาของเด็ก และช่วยขจัดความต้องการรับความช่วยเหลือของเด็กให้หมดไปได้
(จบ)

แปลและเรียบเรียงจาก Response-to-Instruction and Universal Design for Learning: How Might They Intersect in the General Education Classroom? โดย Nicole Strangeman, Chuck Hitchcock, Tracey Hall, Grace Meo และคณะ (2006) โดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก