ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กลยุทธ์สำหรับการอ่านหนังสือในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องในการอ่าน (Dyslexia)

Dale S. Brown (2007)

ในฐานะของพ่อแม่ คุณมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการเรียนของลูกในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ลูกของคุณมีความบกพร่องทางการอ่าน ถ้าไม่ได้คุณช่วยเหลือ เด็ก ๆ ก็ดูเหมือนจะลืมไปว่าได้เรียนอะไรมาบ้างในปีที่ผ่านมา จากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ ประมาณการไว้ว่า ความสูญเสียในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็กทุกคนนั้น มีค่าเท่ากับการเรียนรู้ระหว่างภาคการศึกษานาน 1 เดือนทีเดียว จึงไม่น่าแปลกที่เด็กซึ่งมีความบกพร่องทางการเรียนรู้นั้น ย่อมต้องการการส่งเสริมสนับสนุนมากยิ่งขึ้นไปอีก
 
ต้องช่วยให้เด็กจำได้ว่าเคยเรียนอะไรที่โรงเรียนมาบ้าง วิธีนี้จะทำให้เด็กสามารถตั้งต้นการเรียนปีต่อมาได้ทันหรืออาจจะล้ำหน้าเด็กอื่นๆ ในชั้น ต้องดึงเอาธรรมชาติในการใฝ่เรียนรู้ออกมาให้ได้ และสนับสนุนให้เด็กอ่านหนังสือเพื่อความเพลิดเพลินโดยไม่มีความกดดันอย่างที่เคยประสบมาในชั้นเรียน
 
กลยุทธ์ที่ควรนำมาใช้ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน เพื่อช่วยให้เด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการอ่านจำได้ว่า ตนเองได้เรียนอะไรไปบ้าง และมองเห็นว่า การอ่านหนังสือนั้นมีประโยชน์และสนุกสนานเพลิดเพลิน มีดังนี้

  • หาหนังสือที่กระตุ้นให้เด็กอยากอ่านมาให้ แม้ว่าออกจะยากสำหรับเด็กก็ตาม ลองใช้หนังสือประเภทตลก ขำขัน หรือที่เกี่ยวกับแนวทางในการจัดทำโครงการที่น่าสนใจต่างๆ หรือเรื่องราวลึกลับ นำมาให้เด็กๆ อ่านเรื่องราวที่สามารถนำไปสู่กิจกรรมต่างๆ เท่าที่จะทำได้ ให้เป็นไปตามแผนที่คิดไว้สำหรับช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็ก ให้เด็กเป็นคนเลือกเองว่าอยากจะอ่านเรื่องใด
  • ขอให้ช่วยประคับประคองเวลาเด็กอ่านหนังสือ อ่านหนังสือดังๆ ให้เด็กฟ้ง ช่วยเด็กแปลความหมาย และทำให้เด็กเข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น แม้ว่าเด็กจะถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ตาม หรือหากคุณเกิดโมโหขึ้นมา ก็ขอให้แสดงออกว่า คุณมีความสุขเวลาที่เด็กถาม ทำให้เด็กเห็นว่า การอ่านนั้น คือ หนทางของการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ  ที่เขาอยากจะรู้ รวมทั้งเป็นหนทางที่จะทำให้ตัวเองสนุกสนานเพลิดเพลินได้
  • ปล่อยให้เด็กอ่านหนังสือสบาย ๆ  ช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนเป็นช่วงเวลาของการผ่อนคลาย ปล่อยให้เด็กทำได้เองและเกิดความดื่มด่ำในหนังสือที่อ่าน
  • เวลาที่คุณอ่านหนังสือกับเด็ก ให้ตั้งใจไว้เลยว่า คุณจะต้องทำใจให้เพลิดเพลินกับเรื่องที่อ่านไปพร้อมกับเด็ก และไม่จำเป็นต้องให้เด็กอ่านหนังสือได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ ขอให้หลีกเลี่ยงการแก้ไขคำที่เด็กอ่านผิด บ่อยจนเกินไป เพราะครูที่โรงเรียนจะช่วยปรับปรุงแก้ไขทักษะการอ่านให้แก่เด็กในปีการศึกษาหน้าอยู่แล้ว
  • ยอมให้เด็กเล็ก ‘ทำที’ เป็นอ่าน โดยที่คุณเองเป็นคนอ่านเรื่องออกมาดัง ๆ แล้วให้เด็กอ่านตามเสียงอ่านของคุณ ชี้คำต่างๆ ที่คุณให้เด็กดูไปด้วยถึงแม้ว่าเด็กจะไม่ได้อ่านคำนั้น ๆ  ออกจริงก็ตาม ถ้าเด็กออกเสียงผิด คุณต้องแก้ให้ถูกด้วยท่าทีร่าเริงขณะใช้นิ้วชี้คำนั้น ๆ ไปด้วย
  • อ่านหนังสือให้เด็กฟังดัง ๆ ให้เหมือนกับเป็นกิจกรรมที่ทำประจำวัน เหมือนกับไปเที่ยว หรือนั่งเล่นบนชายหาด ต้องอ่านคู่มือหรือคำสั่งต่าง ๆ ไปพร้อมกับเด็ก ให้เหมือนกับอ่านตอนที่เรากำลังจะซ่อมแซมแก้ไขอะไรบางอย่าง ถ้าไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ด้วยกัน ให้คุณอ่านทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องแปลความหมาย และต้องปล่อย เวลาที่เด็กอยากจะอ่านป้าย ที่ดูแล้วไม่สำคัญอะไรเลยออกมาดังๆ ก็จงปล่อยให้อ่าน
  • ยืนยันที่จะสอนและแสดงตัวอย่างให้เด็กดู เวลาที่คุณกำลังทำงานยากอยู่ ให้แสดงออกให้เด็กเห็นถึงความมีระเบียบวินัยและความอดทน อย่างที่คุณต้องการให้เด็กมี ขณะกำลังเรียนรู้ที่จะอ่าน สอนเด็ก ๆ ให้เห็นชัดเจนถึงคุณค่าของการทำงานหนักเวลาต้องทำทุกสิ่งที่มีความท้าทาย เล่าเรื่องที่จะเป็นแรงบันดาลใจเกี่ยวกับบุคคลที่มีชื่อเสียง – หรือสมาชิกในครอบครัวของคุณ – ที่เคยเอาชนะอุปสรรคได้สำเร็จ
  • ช่วยเหลือดูแลในความบกพร่องทางการอ่านของเด็ก ตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กต้องการอ่านดังๆ ต่อหน้าคนอื่น คุณจงให้เด็กท่องจำข้อความล่วงหน้า ขอให้ครูหรือผู้นำค่าย (ภาคฤดูร้อน) ขอร้องให้อาสาสมัครอ่านหนังสือให้ฟัง แทนที่จะส่งต่อให้อ่านกันเอง ถ้าคุณส่งตำราอาหาร (หรือโครงการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเอกสารคำแนะนำ) ให้เด็ก ต้องแน่ใจว่า เป็นหนังสือประเภทที่เด็กสามารถอ่านได้ และตัวพิมพ์มีขนาดใหญ่พอที่เด็กอ่านได้
  • ใช้เทคโนโลยีมาช่วย ถ้าคุณมีเครื่องคอมพิวเตอร์ ให้ใส่ซอฟต์แวร์เกี่ยวกับการอ่านออกเสียงลงไป (อ่าน ‘Reading Software: Finding the Right Program’) ให้เด็กดาวน์โหลดหนังสือต่างๆ ลงในอุปกรณ์/เครื่องเล่นอิเล็กโทรนิกส์ และเปิดฟังในขณะเดียวกับที่อ่านหนังสือในมือ ขอให้ไปอ่าน ‘On the Go: What Consumer Devices Can do For You’
  • ขอให้ใช้ประโยชน์จากหนังสือเสียงที่บันทึก ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงสำหรับคนตาบอดและผู้บกพร่องทางการอ่าน หรือหนังสือเสียงทั่วไป
  • เป็นตัวอย่างในการอ่าน นำหนังสือไปอ่านที่ชายหาด ถ้าคุณกำลังเดินทางอยู่ ลองหาหนังสืออ่านสำหรับทั้งครอบครัวไปอ่าน และคุยกันเรื่องหนังสือนี้ ถ้าคุณเองมีความบกพร่องทางการอ่าน  ให้ ‘อ่าน’ หนังสือที่คุณได้บันทึกเสียงไว้ในช่วงไปพักผ่อนวันหยุดให้เด็กๆ เห็น และให้เด็กๆ ได้มีเครื่องเล่นเทปเป็นของตนเอง ทำและบอกให้เด็กเห็นและรับรู้ว่าคุณเอาชนะปัญหาต่าง ๆ มาได้อย่างไร
  • พกหนังสือติดตัวให้พร้อมอ่านอยู่เสมอ คุณอาจใช้วิธีพกหนังสือสำหรับเด็กและนิตยสารเล่มเล็ก ๆ ที่พร้อมอ่าน ระหว่างเข้าคิวรอเข้าไปเล่นในสวนสนุกที่มีคนแน่น หรือระหว่างรอเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวแห่งต่าง ๆ

 
ช่วงเวลาหลายเดือนของการปิดเทอมภาคฤดูร้อน มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางการศึกษาของลูก ๆ ของคุณถึงสองประการ ประการแรก หากเด็กจำเป็นต้องมีการทบทวนว่าได้เรียนอะไรไปบ้างที่โรงเรียน เพื่อให้เด็กจำได้เวลาที่กลับไปเรียนใหม่ในภาคเรียนถัดมา ประการที่สอง และอาจมีความสำคัญกว่าสักหน่อย คือ เด็กที่มีความบกพร่องทางการอ่าน อาจเห็นว่าการอ่านหนังสือและทักษะในการเรียนอื่นๆ ในช่วงปิดเทอม ภาคฤดูร้อนนั้น ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ถ้าไม่มีใครคอยบอกเด็กว่า จะต้องอ่านหนังสือเพื่อให้ได้คะแนนดีแล้วละก็ เด็ก ๆ อาจจะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเองอย่างมีความสุขก็ได้

แปลและเรียบเรียงจาก Strategies for Summer Reading for Children with Dyslexia โดย Dale S. Brown (2007) โดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก