ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

กลยุทธ์ในการสื่อสารสำหรับชั้นเรียนทุกประเภท: โดยเฉพาะผู้เรียนภาษาอังกฤษและเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้

Dale S. Brown และ Karen Ford (2007)

เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) มักมีปัญหาเรื่องภาษา ซึ่งมาในหลากหลายรูปแบบ พวกเขาอาจมีปัญหาในการทำความเข้าใจว่าคุณพูดอะไร ปัญหานี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาทางการได้ยิน (ปัญหาในการประมวลผลเกี่ยวกับเสียงต่างๆ) หรือปัญหาในการรับรู้ด้านภาษา (มีปัญหาในการทำความเข้าใจคำต่างๆ ก่อนจะเปลี่ยนให้เป็นกิริยาอาการหรือภาพในความนึกคิด) เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ อาจมีปัญหาทางด้านการพูดด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีความลำบากในการปะติดปะต่อความคิดเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกัน ในการผูกโยงคำพูดเข้าเป็นความคิดรวบยอด เรียบเรียงคำพูดให้ถูกต้องตามลำดับ  และอีกหลายๆ เหตุผล
 
ปัญหาทางด้านภาษาต่างๆ เหล่านี้ จะพอกพูนขึ้นเมื่อเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้เหล่านี้ต้องเรียนภาษาอังกฤษ บทความนี้ขอเสนอคำแนะนำบางประการในการทำให้ชั้นเรียนของคุณ น่าสนใจและเชิญชวนให้เด็กที่มีปัญหาทางด้านภาษาอยากเข้าไปเรียนมากขึ้น
มีคำแนะนำดังนี้

  • คุณต้องมองหน้าเด็ก หลีกเลี่ยงการเอามือขึ้นมาปิดหน้า เพราะในบางครั้ง คนเราก็ต้องการจะเห็นหน้าและปากของคนที่กำลังพูดเรื่องที่ตัวเองกำลังพยายามทำความเข้าใจอยู่
  • หากเป็นไปได้ ให้ปิดอุปกรณ์ทุกอย่างที่ทำให้เกิดเสียงรบกวน เช่น หากหลอดนีออนสักดวงในห้องส่งเสียงดังหึ่ง ๆ ละก็ จะต้องรีบจัดการแก้ไข และขอให้ผู้บริหารหลีกเลี่ยงการจัดชั้นเรียนของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ไว้ใกล้ ๆ กับห้องที่มีเสียงอีกทึกอย่างเช่นห้องพลศึกษา
  • ต้องระวังการใช้สำนวนพูดที่มีความหมายซับซ้อน อย่างเช่น "caught with your pants down"  (‘จับได้คาหนังคาเขา’) หรือ "back seat driver" ( ‘คนดีแต่ออกคำสั่ง’ หรือ ‘คนชอบละเลงขนมเบื้องด้วยปาก’) เพราะเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ซึ่งเรียนภาษาอังกฤษ อาจจะไม่เข้าใจสำนวนยาก ๆ แบบนี้ได้อย่างถูกต้อง เด็กที่เรียนภาษาอังกฤษ (English Language Learners – ELL) อาจมีปฏิกิริยากับถ้อยคำที่มีความหมายเฉพาะเจาะจงตามวัฒนธรรมที่ตนถูกอบรมสั่งสอนมา
  • น้ำเสียง สีหน้า และท่าทาง อาจทำให้เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้เข้าใจผิดได้ เด็ก ๆ เหล่านี้ มักมีปัญหาในเรื่องของการประมวลความหมายในการใช้สัญญาณต่าง ๆ ดังกล่าว เด็กที่มาเรียนภาษาอังกฤษยังมาจากวัฒนธรรมการอบรมสั่งสอนที่แตกต่างกัน ดังนั้น ท่าทางอาจมีความหมายที่แตกต่างอกไปสำหรับเขาก็ได้ เนื่องจากการพูดให้เป็นธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญ โปรดจำไว้ว่า ถ้าคุณเลือกใช้คำพูดแดกดัน เด็กๆ ในชั้นบางคนอาจไม่เข้าใจความหมายที่คุณต้องการจะสื่อก็ได้ จึงควรใช้ถ้อยคำอย่างเหมาะสมที่จะมาช่วยส่งเสริมภาษากายของคุณ เมื่อคุณต้องการให้เด็กในชั้นรู้ว่าคุณรู้สึกอย่างไร
  • เมื่อใดก็ตามที่คุณป้อนคำถามเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เด็กมักจะลังเลก่อนตอบคำถาม เพราะต้องการให้แน่ใจว่าตนได้ยินคำต่างๆ เรียงลำดับอย่างถูกต้องแล้ว และยังจะต้องแปลคำต่าง ๆ ให้เป็นมโนภาพเสียก่อน นอกจากนี้ เด็กยังอาจต้องการเวลารวบรวมความคิดก่อนแล้วจึงเปลี่ยนเป็นคำพูด จงหยุดเว้นช่วงระหว่างคำถามของคุณกับคำตอบของเด็ก ไม่ด้องบอกใบ้ หรือบอกคำตอบให้ จนกว่าเด็กจะแสดงออกหรือบอกว่าต้องการให้ช่วย
  • เพิ่มเติมการเรียนภาษาด้วยการใช้ภาพ วัตถุที่จับต้องได้ กิจกรรมที่ทำให้เด็กได้เคลื่อนไหว และวิธีสอนอื่นๆ ที่ทำให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมด
  • บอกเด็ก ๆ ทุกครั้งที่มีเรื่องที่สำคัญเป็นพิเศษ คุณอาจใช้คำพูดว่า “ประเด็นสำคัญ คือ....” จงใช้ประโยคเดิม (หรืออย่างน้อยก็คล้ายคลึง) น้ำเสียง และท่าทางเหมือนเดิมให้ได้ทุกครั้ง
  • ยินยอมและสนับสนุนให้เด็ก ๆ บันทึกเทปในชั้นเรียน เด็กที่มีปัญหาด้านภาษาหลายคน ฟังคำศัพท์ต่าง ๆ หลายๆ ครั้งและทบทวนเทปเพื่อสรุปประเด็นสำคัญ
  • หากเป็นไปได้ ให้คุณเขียนสรุปเรื่องที่คุณจะพูด ซึ่งจะช่วยเด็กที่มีปัญหาด้านภาษาในการเตรียมตัวก่อนเข้าเรียน และเด็กจะได้รู้ว่าว่าควรตั้งใจฟังตรงไหนบ้าง

ครูบางคนกลัวว่าคำแนะนำต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้ตนเองดูเหมือนคนโง่ ไม่มีอะไรไปมากกว่าความจริง อันที่จริงแล้ว การใช้เวลาในการนำกลยุทธ์ต่าง ๆ ไปใช้ในการสอนของคุณ จะทำให้คุณสามารถช่วยให้เด็ก หลาย ๆ คน กลับมาเป็นผู้ร่วมมือที่เหนียวแน่นและกระตือรือร้นได้ ซึ่งรวมทั้งเด็กที่มีความบกพร่องทางเรียนรู้และเด็กอื่น ๆ ทั่วไป ตัวอย่างเช่น ผู้เรียนภาษาอังกฤษทุกคน แม้เด็กที่ไม่ได้มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ จะได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์เหล่านี้ ที่มุ่งเน้นที่การทำให้ภาษามีความชัดเจนขึ้นและเข้าใจได้ง่ายขึ้น
 
แม้ว่าการนำคำแนะนำเหล่านี้ไปใช้จะต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษอยู่สักหน่อย คุณจะพบว่าการนำไปปฏิบัติจริง จะทำให้ใช้ได้ง่ายขึ้น  คุณอาจจะต้องวางแผนล่วงหน้าให้มากขึ้น แต่การใช้กลยุทธ์เหล่านี้ จะช่วยให้เด็ก ๆ ที่เคยไม่เข้าใจคุณ หันมาเรียนรู้จากคุณได้ และเด็กบางคนที่เคยถูกตัดขาดจากชั้นเรียน ก็จะถูกนำกลับเข้ามาใหม่ และนั่นคือ สิ่งที่การสอนที่ดีควรจะเป็น

แปลและเรียบเรียงจาก Communication Strategies for All Classrooms: Focusing on English Language Learners and Students with Learning Disabilities เขียนโดย Brown, Dale S. and Ford, Karen แปลโดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก