ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

ห้องสมุดดิจิตอลออนไลน์: แนวทางการผลิตและการให้บริการสื่อสำหรับผู้พิการสื่อสิ่งพิมพ์

เอกชัย เจริญชัยมงคล

โลกของสื่อ ข้อมูล และข่าวสารออนไลน์กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทอย่างมากต่อวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน เราข้ามผ่านอุปสรรคในการเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์พื้นฐาน เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือแผ่นพับ และกำลังก้าวเข้าสู่โลกของสื่อ ข้อมูล และข่าวสารแบบออนไลน์ สื่อเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จึงสะดวกและง่ายต่อการนำไปใช้งาน และสามารถส่งผ่านไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์พกพา หรือเครื่องรับสัญญาณสื่อประเภทต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หรือจานดาวเทียม ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

     

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยและสังคมโลกที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสื่อ ข้อมูล และข่าวสารจากสิ่งพิมพ์พื้นฐานได้ เราเรียกกลุ่มคนเหล่านี้ว่า "ผู้พิการสื่อสิ่งพิมพ์" ซึ่งประกอบด้วย ผู้พิการทางการเห็น การสื่อสารและการเรียนรู้ ผู้ป่วยอาการรุนแรง และผู้สูงอายุ โดยสื่อที่เหมาะสมกับกลุ่มคนเหล่านี้ ต้องมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามความต้องการส่วนบุคคล เช่น มีเสียงอ่านและคำบรรยายภาพ มีข้อความและภาพประกอบเนื้อหา สามารถปรับความเร็วในการอ่าน เปลี่ยนขนาดของข้อความ รูปแบบและสีสันต์ของตัวอักษรได้โดยอิสระ 

   

ด้วยความต้องการสื่อที่แตกต่างกันของผู้พิการสื่อสิ่งพิมพ์ จึงทำให้เกิดแนวคิดในการให้บริการสื่อทางเลือกสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ และ "ห้องสมุดดิจิตอลออนไลน์" ก็เป็นตัวเลือกการให้บริการสื่อรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความสนใจในระยะหลายปีที่ผ่านมา เพราะห้องสมุดลักษณะนี้ สามารถรวมกระบวนการผลิตหรือการแปลงสื่อสิ่งพิมพ์พื้นฐานให้อยู่ในรูปแบบสื่อทางเลือกสำหรับผู้พิการได้ เช่น สื่ออักษรเบรลล์ หนังสือเสียง หรือสื่อมัลติมีเดีย มีการบริหารจัดการ ระบบจัดเก็บและเรียกใช้งานสื่อที่ต่างจากห้องสมุดทั่วไป และมักเลือกใช้ช่องทางในการเผยแพร่สื่อต่างๆ ผ่านระบบเครือข่ายหรือเว็บไซต์ 

 

บทความนี้ ผู้เขียนตั้งใจที่จะ (1) ศึกษาลักษณะและรูปแบบการให้บริการของห้องสมุดดิจิตอลออนไลน์ที่เหมาะสมสำหรับผู้พิการสื่อสิ่งพิมพ์ (2) วิเคราะห์เปรียบเทียบถึงจุดเด่นและข้อจำกัดในการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมาย และ (3) นำเสนอตัวอย่างห้องสมุดดิจิตอลออนไลน์ที่เน้นการให้บริการที่เหมาะสมในบริบทของสังคมไทย  

 

ถ้าพูดถึงบริการ “บุ๊กแชร์” (www.bookshare.org) แล้ว เชื่อว่า มีคนพิการสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนไม่น้อยในประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นสมาชิกของห้องสมุดแห่งนี้ การร้องขอเป็นสมาชิกนั้น ต้องเป็นผู้พิการและมีค่าใช้จ่ายในการคงสถานภาพของสมาชิก โดยสมาชิกสามารถสืบค้นสื่อสิ่งพิมพ์ เลือกรูปแบบที่ต้องการ และดาวน์โหลดสื่อผ่านทางเว็บไซต์ รูปแบบของสื่อที่ให้บริการ ได้แก่ ข้อความปกติ (Plain Text) อักษรเบรลล์ หรือสื่อที่อ่านโดยใช้เสียงคอมพิวเตอร์สังเคราะห์ขึ้น หากไม่พบสื่อที่ต้องการ จะมีกลุ่มอาสาสมัครให้บริการแปลงสื่อสิ่งพิมพ์โดยการถ่ายภาพ ใช้เทคโนโลยีรู้จำตัวอักษร ตรวจรูปแบบและความถูกต้องก่อนนำขึ้นระบบฐานข้อมูลของเว็บไซต์เพื่อการแบ่งปันภายในกลุ่มสมาชิก 

 

ในขณะที่บริการของ “ลิบริวอก” (www.librivox.org) เป็นบริการห้องสมุดดิจิตอลออนไลน์อีกรูปแบบหนึ่งที่ให้บริการบนแนวทางที่ต่างไปจากบริการของบุ๊กแชร์อยู่หลายประการ กล่าวคือ จะเน้นผลิตหนังสือเสียงโดยให้อาสาสมัครอ่านและบันทึกเสียงเอง โดยสื่อที่ผลิตและเผยแพร่นั้น จะเลือกมาจากคำร้องขอหรือคำแนะนำของสมาชิกที่สื่อสารกันบนกระดานถามตอบ (ในกรณีที่สื่อแนะนำนั้น ไม่มีอยู่ในผังรายการสื่อ) และชุมชนอาสาสมัครผู้อ่านจะเลือกอ่านเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์สาธารณะสมบัติ งานเขียนที่ไม่มีผู้อ้างสิทธิการเป็นเจ้าของ หรือเขียนขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2466 (เฉพาะในสหรัฐอเมริกา) อาสาสมัครผู้อ่านต้องศึกษาวิธีการอ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำในการติดตั้งอุปกรณ์บันทึกเสียง ตรวจสอบคุณภาพเสียง และความถูกต้องของเนื้อหาก่อนนำเข้าสู่ระบบด้วยตนเอง 

 

จะเห็นได้ว่า ข้อดีของบริการห้องสมุดของบุ๊กแชร์ คือ สมาชิกสามารถเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ และแสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการในสังคม ในขณะที่บริการของลิบริวอก จะเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมเข้าถึงสื่อ ข้อมูล ข่าวสาร ได้กว้างกว่า ไม่ได้จำกัดเฉพาะในกลุ่มผู้พิการสื่อสิ่งพิมพ์ และแสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมที่เกื้อกูลกัน     

     

แต่อย่างไรก็ตาม การให้บริการของบุ๊กแชร์ก็มีข้อจำกัดอยู่บางประการ กล่าวคือ เน้นการผลิตหรือแปลงเฉพาะสื่อข้อความประเภทตัวอักษร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สื่อสิ่งพิมพ์อาจประกอบด้วย ภาพ แผนภูมิ แผนผัง หรือวิธีอื่นที่ใช้สื่อความและนำเสนอข้อมูลผ่านการมองเห็นได้ง่ายและรวดเร็วกว่าข้อความ ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิกต้องใช้อุปกรณ์หรือชุดโปรแกรมของห้องสมุดในการเข้าถึงเนื้อหาของสื่อที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์เท่านั้น  

     

สำหรับบริการของลิบริวอกนั้น จะเห็นได้ชัดว่า ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของอาสาสมัครผู้อ่านและผู้รักการฟังหนังสือ ถ้าสมาชิกแนะนำหรือร้องขอให้อาสาสมัครผู้อ่านอ่านหนังสือที่ไม่มีอาสาสมัครท่านใดสนใจหรือสะดวกที่จะอ่านแล้ว สื่อนั้นๆ ก็จะกลายเป็นสื่อแนะนำหรือรออาสาสมัครผู้อ่านและไม่รู้ว่าจะถูกเลือกอ่านเมื่อไร อีกประการหนึ่ง คือ ทางห้องสมุดไม่มีนโยบายบังคับให้อาสาสมัครอ่านหนังสือจนจบเล่ม แต่แนะนำให้ทยอยอ่านให้สมาชิกทีละส่วน ถ้าสมาชิกไม่ต้องการอ่านหรือขาดการติดต่อสื่อสารกับอาสาสมัครแล้ว หนังสือเสียงนั้นๆ ก็จะไม่เสร็จสมบูรณ์  

     

ถ้าเราหันมาพิจารณาในบริบทของสังคมไทยแล้ว การสร้างสังคมหรือชุมชนอาสาสมัครผู้อ่านสื่อสิ่งพิมพ์ให้ผู้พิการนั้นไม่ได้เป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะพื้นฐานสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่อุปสรรคสำคัญ คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต เช่น เทคโนโลยีรู้จำตัวอักษรไทย เทคโนโลยีตัดแบ่งคำไทย และเทคโนโลยีเสียงสังเคราะห์ภาษาไทย ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้เท่าเทียมกับภาษาต่างประเทศ  

     

ด้วยเหตุนี้ “เว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาของคนพิการ” (www.braille-cet.in.th) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2542 เพื่อใช้เป็นช่องทางในการรับชมและเผยแพร่สื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้พิการสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเน้นให้บริการแบบรวมศูนย์ คือ ผู้พิการสื่อสิ่งพิมพ์และผู้พิการกลุ่มอื่นๆ สามารถรับชมสื่อออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ได้โดยตง โดยสื่อที่ให้บริการจะประกอบด้วย สื่ออักษรเบรลล์อิเล็กทรอนิกส์ หนังสือเสียง รายการวีดีทัศน์ รายการโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น บทความวิชาการ ข่าวสารน่ารู้เกี่ยวกับคนพิการ และอื่นๆ  

     

สิ่งที่เว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาของคนพิการให้ความสำคัญมากที่สุด คือ คุณภาพของสื่อและมาตรฐานของเนื้อหาที่รองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนตามแนวทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งแตกต่างจากระบบอาสาสมัครที่ควบคุมมาตรฐานการผลิตสื่อและคุณภาพเนื้อหาของสื่อได้ยาก เช่น การใช้เสียงอ่านแทนเสียงสังเคราะห์ การใส่ภาษามือกำกับเนื้อหาของวีดีทัศน์ และการผลิตอักษรเบรลล์ตามมาตรฐานสากล ยิ่งไปกว่านั้น ระบบของเว็บไซต์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รองรับมาตรฐานในการเข้าถึงสำหรับผู้พิการทุกประเภท มีเครือข่ายกับหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาของคนพิการ และมีช่องทางในการสื่อสารระหว่างผู้ดูแลระบบห้องสมุดและกลุ่มเป้าหมายหลากหลายช่องทาง เช่น จดหมายถึงผู้ดูแลระบบ กระดานถามตอบ และเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่เข้มแข็ง จึงเชื่อมั่นได้ว่า การทำงานของห้องสมุดในทุกวันนี้ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้พิการทุกประเภทในบริบทของสังคมไทย     

     

ในสังคมโลกของสื่อและข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน ยังมีกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในการเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์พื้นฐานเป็นจำนวนมาก กลุ่มคนเหล่านี้มีความพิการ มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสื่อสิ่งพิมพ์ และต้องการสื่อที่มีรูปแบบหรือคุณลักษณะที่แตกต่างกันไป การให้บริการสื่อทางเลือกในรูปแบบห้องสมุดดิจิตอลออนไลน์ จะช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อ ข้อมูล ข่าวสารได้มากยิ่งขึ้น 

     

จากการศึกษาเปรียบเทียบแนวทางในการให้บริการของห้องสมุดออนไลน์ในต่างประเทศแล้ว จะพบว่า “เว็บไซต์ศูนย์สื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ” เป็นตัวอย่างการให้บริการห้องสมุดดิจิตอลออนไลน์ที่มีเอกลักษณ์ มีแนวทางการให้บริการที่แตกต่างแต่ชัดเจน และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนที่มีความพิการทุกประเภทได้ดียิ่งภายใต้ข้อจำกัดและบริบทของสังคมไทย      

 

ภาพจากwww.krukad.com

 

ภาพประกอบเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181