ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การตอบสนองต่อการให้ความช่วยเหลือ (RTI): คู่มือเบื้องต้นสำหรับผู้ปกครอง

Mary Beth Klotz และ Andrea Canter (2007)

 ความกังวลอันยิ่งใหญ่ของผู้ปกครอง รวมทั้งบรรดาครู คือ การให้ความช่วยเหลือเด็กที่เกิดปัญหาขึ้นที่โรงเรียน ผู้ปกครองทุกคนต้องการจะเห็นลูกของตนได้ดีที่สุดกันทั้งนั้น และจะกลับเกิดเป็นความผิดหวังขึ้นมาทันทีเมื่อลูกของตนอยู่ล้าหลังคนอื่น ไม่ว่าจะในเรื่องของการเรียนรู้ด้านการอ่าน ในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิชาอื่น ๆ ได้สำเร็จตามความมุ่งหวัง หรือแม้แต่การทำตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมชั้นและครูๆ ได้ การตอบสนองต่อการให้ความช่วยเหลือ หรือ RTI คือ กระบวนการหลายขั้นตอน ที่จะมาช่วยจัดการเรื่องการให้บริการและความช่วยเหลือแก่ผู้เรียนที่กำลังมีปัญหาเมื่อระดับของความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น RTI จะสามารถช่วยเหลือเด็กตั้งแต่ระยะแรกเริ่มได้ โดยการจัดหาความสนับสนุนทางการศึกษาและพฤติกรรมให้กับเด็ก ไม่ใช่ให้เด็กคอยจนกว่าจะเกิดล้มเหลวในการเรียนเสียก่อน จึงจะยอมให้ร้องขอความช่วยเหลือ 

 

     กฎหมายรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาฉบับใหม่ๆ บางฉบับ ออกคำสั่งให้โรงเรียนแห่งต่างๆ เน้นความสำคัญของการช่วยเหลือในเรื่องของการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ๆ โดยการระบุถึงปัญหาในระยะแรกเริ่มให้มากขึ้น ก่อนที่เด็กจะตกไปอยู่ล้าหลังเพื่อนมากเสียจนไม่ทันที่การอ้างอิงเพื่อขอรับการศึกษาพิเศษนั้นจะได้รับการรับรอง กฎหมายเหล่านี้ ครอบคลุมถึงกฎหมายไม่ทอดทิ้งเด็กแม้แต่คนเดียว (No Child Left Behind Act - NCLBA 2001) และกฎหมายการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ (Individuals With Disabilities Education Improvement Act หรือ IDEA 2004) กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ เน้นความสำคัญในการจัดการเรียนการสอนและการให้ความช่วยเหลือที่มีคุณภาพดีและเป็นระบบ ซึ่งทางโรงเรียนจะต้องสามารถอธิบายถึงความก้าวหน้าของเด็กทุกคนเกี่ยวกับมาตรฐานของคะแนนตามระดับชั้นที่รัฐกำหนดไว้ได้ RTI เป็นกระบวนการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถเน้นความสำคัญของการให้ความช่วยเหลืออย่างมีคุณภาพ ไปพร้อม ๆ กับการเฝ้าติดตามดูความก้าวหน้าของเด็ก บุคลากรของโรงเรียนและผู้ปกครอง จะได้นำข้อมูลที่ได้จากกระบวนการ RTI นี้ ไปใช้ประโยชน์ในการเขียนรายงานเรื่องการเรียนการสอน และในการตัดสินความจำเป็นทางการศึกษาของเด็ก

 

องค์ประกอบหลักของกระบวนการ RTI 

 

      กระบวนการ ‘การตอบสนองต่อการให้ความช่วยเหลือ’นี้ คือ กระบวนการที่เน้นเรื่องความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเรียนการสอนของเด็ก ๆ ว่าทำได้ดีเพียงใด องค์ประกอบของวิธีการใช้ RTI ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนและการให้ความช่วยเหลือที่เป็นระบบและอิงงานวิจัยในการศึกษาภาคปกติ; การเฝ้าติดตามดูและหลักเกณฑ์การวัดผลความก้าวหน้าของเด็กในการตอบสนองต่อการเรียนการสอนและการให้ความช่วยเหลือ; การใช้ประโยชน์ของหลักเกณฑ์การวัดผลดังกล่าวเพื่อกำหนดรูปแบบของการเรียนการสอน และการตัดสินใจทางการศึกษา องค์กรแห่งชาติชั้นนำและกลุ่มความร่วมมือจำนวนมาก รวมถึงหน่วยงาน National Research Center on Learning Disabilities และองค์กรต่างๆ อีก 14 แห่ง ได้ร่วมกันจัดการประชุมสัมมนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) ได้จัดทำโครงร่างขององค์ประกอบหลัก ๆ ของกระบวนการ RTI ไว้ ดังนี้: 

 

• การเรียนการสอนที่มีคุณภาพและอิงงานวิจัย กับความช่วยเหลือทางด้านพฤติ  กรรมในการศึกษาสายสามัญ

 

• การคัดกรองเด็กทุกราย (ในระดับโรงเรียน หรือระดับเขต) ทางด้านการศึกษาและพฤติกรรม เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าเด็กคนใดที่ต้องการการเฝ้าติดตามดูอย่างใกล้ชิดหรือการให้ความช่วยเหลือมากกว่าเดิม

 

• ระดับชั้นแบบลดหลั่นมากมายในระดับของการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ และอิงงานวิจัยที่เพิ่มความเข้มข้นขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก

 

• การนำวิธีการที่อาศัยความร่วมมือของคณะทำงานในโรงเรียนมาใช้เพื่อการพัฒนา การทำให้เกิดผลสำเร็จ และการเฝ้าติดตามดูกระบวนการของการให้ความช่วยเหลือ

 

• การเฝ้าติดตามดูความก้าวหน้าของเด็กอย่างต่อเนื่องในระหว่างการให้ความช่วยเหลือ โดยใช้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในกรณีที่เด็กมีคุณสมบัติตรงตามเป้าหมาย

 

• การติดตามผลการใช้หลักเกณฑ์วัดผลที่บอกให้รู้ว่า ความช่วยเหลือนั้นได้บรรลุ ผลสมตามความมุ่งหมาย และมีความสอดคล้องต้องกันอย่างเหมาะสม

 

• การเตรียมเอกสารที่แสดงถึงความมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ

 

• การเตรียมเอกสารที่แสดงว่า มีการปฏิบัติตามกำหนดเวลาในการประเมินผลการ ศึกษาพิเศษที่มีระบุไว้ในกฎหมาย IDEA 2004 และในกฎข้อบังคับของทาง การแล้ว ยกเว้นกรณีที่ทั้งผู้ปกครองและคณะทำงานของโรงเรียนมีการตกลงกันนอก เหนือจากนี้

 

ข้อตกลงสำคัญมีอะไรบ้าง?

 

การตอบสนองต่อการให้ความช่วยเหลือ (RTI) 

      คือ กระบวนการที่มีการจัดลำดับ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจว่า เด็ก ๆ มีการตอบสนองต่อความเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอนอย่างไร หรือ ไม่ กระบวนการ RTI ยังช่วยในการจัด ทำกระบวนการและโครงสร้างที่ปรับปรุงดีแล้ว เพื่อให้คณะทำงานทางโรงเรียนนำไปใช้ในการออกแบบ การปฏิบัติให้เกิดผล และการประเมินผลการให้ความช่วยเหลือทางการศึกษาแก่เด็ก

 

การคัดกรองเด็กทุกราย 

       คือ ขั้นตอนที่บุคลากรทางโรงเรียนจะต้องทำตั้งแต่แรกเริ่มที่เด็กเข้าเรียน เพื่อที่ จะตัดสินว่าเด็กคนใดบ้างที่ ‘มีความเสี่ยง’ ต่อการพลาดไปจากมาตร ฐานระดับคะแนน หรือเด็กคนใดบ้างที่มีปัญหาทางพฤติกรรมหรือทางอารมณ์ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ได้ การคัดกรองเด็กทุกราย สามารถทำได้ผลโดยการทบทวนผลการทดสอบของทางการครั้งล่าสุด หรือโดยการจัดการทดสอบขึ้นมาเองเพื่อคัดกรองทั้งทางด้านการ ศึกษาและด้านพฤติกรรมของเด็กทุกคนในระดับที่กำหนด เด็กที่มีผลคะแนนจากการ ทดสอบ หรือหรือผลจากการคัดกรองที่ต่ำกว่าเกณฑ์การคัดเลือก จะถูกระบุว่า จำเป็น ต้องได้รับการศึกษาพิเศษ หรือการให้ความช่วยเหลือทางด้านพฤติกรรมเพิ่มขึ้น

 

การเฝ้าติดตามดูความก้าวหน้าของเด็ก 

       คือ แนวปฏิบัติที่เป็นระบบ ซึ่งนำมาใช้ในการประเมินผลการเรียนของเด็ก และ 

ประสิทธิภาพของการเรียนการสอนอยู่เสมอ ขั้นตอนการเฝ้าติดตามดูความก้าวหน้านี้ อาจนำมาใช้กับเด็กเฉพาะรายหรือทั้งชั้นก็ได้

 

การเรียนการสอนที่เป็นระบบและอิงงานวิจัย 

       หมายถึง หลักสูตรพิเศษและการให้ความช่วยเหลือทางการศึกษา ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี กล่าวคือ มีการนำรายงานผลการวิจัยของระบบนี้ลงพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ ซึ่งมีคณะผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาเป็นผู้พิจารณา ตรวจสอบ และรับประกันว่า ผลงานวิจัยนี้เป็นผลงานที่ดีและมีคุณภาพ

 

RTI มีบทบาทอย่างไรต่อสิทธิขอรับการศึกษาพิเศษ?

 

      กฎหมาย IDEA 2004 ทำให้คณะทำงานทางโรงเรียนมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิม

ในการกำจัดข้อกำหนดที่จะต้องให้เด็กมีอาการแสดงออกซึ่ง ‘ความขัดแย้งอย่างรุนแรง’ ของความสามารถทางสติปัญญาและผลสัมฤทธิ์ก่อน เพื่อที่จะให้เกิดความชอบธรรมในการขอรับบริการการศึกษาพิเศษและบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในฐานะของเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ความยืดหยุ่นที่มีมากขึ้นนี้ ทำให้การใช้ RTI เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการทางเลือกเกิดประโยชน์มากขึ้น สำหรับการเปรียบเทียบความสามารถตามนัยแบบ เดิม ๆ กับความขัดแย้งของผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น กฎหมาย IDEA 2004 ยังได้กล่าวถึงขั้น ตอนต่าง ๆ ของ RTI ไว้ในหลายบริบท

 

       การเรียนการสอนที่ใช้ได้ผลและการเฝ้าติดตามความก้าวหน้า. สำหรับเด็ก ๆ ที่อยู่ในข่ายการพิจารณาให้ได้รับบริการการศึกษาพิเศษด้วยเงื่อนไขของความบกพร่องทาง การเรียนรู้นั้น จะต้องได้รับการจัดการเรียนการสอนที่ได้ผลให้ก่อน อีกทั้งมีการวัดผลความก้าวหน้าด้วยวิธี ‘การจัดเตรียมเอกสารระบุข้อมูลของการประเมินผลสัมฤทธิ์ซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง’ นอกจากนี้ ผลของการเฝ้าติดตามดูความก้าวหน้าของเด็ก ก็จะต้องจัดทำส่งให้ผู้ปกครองของเด็กด้วย

 

       ขั้นตอนการประเมินผล. กฎหมายให้โอกาสกับเขตต่าง ๆ ในการเลือกนำขั้นตอนต่าง ๆ ของ RTI มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประเมินผลในการขอรับสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกเพื่อขอรับบริการการศึกษาพิเศษ อย่างไรก็ตาม การประเมินผลอย่างกว้าง ขวาง ยังคงมีความจำเป็นตามกฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งหมายความว่า โรงเรียนยังคงจำเป็นต้องตรวจสอบลักษณะทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติการณ์และประวัติของเด็กด้วยความระมัดระวัง ก่อนจะสรุปลงความเห็นว่าเด็กมีหรือไม่มีความบกพร่อง ดังที่กล่าวมาแล้ว ในชั้นแรก โรงเรียนจะต้องขจัดปัญหาทางการเรียนรู้ ที่เป็นผลพวงจากเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น สายตาและการได้ยินไม่ดี มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญา มีสิ่ง รบกวนทางอารมณ์ การขาดการเรียนการสอนที่เหมาะสม หรือการพูดภาษาอังกฤษได้ไม่คล่อง ฯลฯ เหล่านี้เสียก่อน 

 

       บริการให้ความช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม. กฎหมาย IDEA 2004 ยอมให้ทางเขตมีทางเลือกในการใช้กองทุนเพื่อการศึกษาพิเศษของรัฐได้มากถึง 15% สำหรับ ‘บริการการให้ความช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม’ แก่เด็กที่ไม่ได้รับการระบุว่าจำเป็นต้องได้รับการ ศึกษาพิเศษ แต่มีความจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือทางการศึกษาและการดูแลพฤติกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อให้ระบบการศึกษาในสายสามัญประสบความสำเร็จ ประเภทของการให้ บริการที่สามารถผนวกเข้าด้วยกัน ได้แก่ กระบวนการ RTI เป็นหลัก รวมถึงการพัฒนาด้านวิชาชีพให้แก่ครูและคณะเจ้าหน้าที่โรงเรียน เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านการ ศึกษาและด้านพฤติกรรมแก่เด็กได้อย่างเป็นระบบ เช่นเดียวกันกับการประเมินผลทางการศึกษา การให้บริการ การสนับสนุน และการเรียนการสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้ที่เป็นระบบ

 

ผู้ปกครองมีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการ RTI อย่างไร?

 

      ลักษณะเด่นของความร่วมมืออย่างได้ผลระหว่างบ้านและโรงเรียน ได้แก่ การสื่อ สารและการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยของผู้ปกครองในทุกขั้นตอนของกระบวนการเรียนรู้ การได้รับรู้เกี่ยวกับกระบวนการ RTI ที่โรงเรียนกำลังทำอยู่นั้น คือ ก้าวแรกของการเข้ามาเป็น ผู้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังของผู้ปกครอง หน่วยงาน National Research Center on Learning Disabilities และ National Joint Committee on Learning Disabilities ได้แนะนำให้ผู้ปกครองตั้งคำถามต่อไปนี้กับทางโรงเรียน คือ

 

• โรงเรียนของเรานำกระบวนการ RTI มาใช้หรือไม่? ถ้ายังไม่ได้ใช้ ทางโรงเรียนมีแผนที่จะนำมาใช้หรือไม่? แต่ทั้งนี้ ทางโรงเรียนของลูกของคุณ อาจเรียกชื่อกระบวนการที่ใช้อยู่ว่า ‘กระบวนการแก้ไขปัญหา’ หรือเป็นชื่ออื่นๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้โดยเฉพาะกับกระบวนการทำงานของตน อย่างเช่น ทีมสนับสนุนการเรียนการสอน (Instructional Support Team) โดยไม่ได้ใช้คำตรง ๆ ว่า ‘RTI’

 

• ทางโรงเรียนมีเอกสารข้อเขียนใดๆ ที่อธิบายถึงกระบวนการ RTI ให้ผู้ปกครองทราบบ้างหรือไม่? และผู้ปกครองจะเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการ RTI ได้อย่างไร?

 

• โรงเรียนกำลังดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางด้านใดอยู่ในขณะนี้ และได้ทำกันอย่างเป็นระบบตามหลักการ ตามงานวิจัยที่นำมาอ้างอิงหรือไม่?

 

• การให้ความช่วยเหลือด้านใดด้านหนึ่งนั้นจะใช้ระยะเวลานานเท่าใด กว่าที่ทางโรงเรียนจะตัดสินได้ว่า เด็กคนนั้นมีความก้าวหน้าเป็นที่พอใจ?

 

• บุคลากรทางโรงเรียนใช้วิธีการตรวจสอบแบบใด ที่จะทำให้แน่ใจได้ว่า การให้ความช่วยเหลือนั้น ๆ ดำเนินไปตามที่วางแผนไว้แล้ว?

 

• โรงเรียนใช้วิธีการใดในการเฝ้าติดตามดูความก้าวหน้าของเด็กและผลสัมฤทธิ์ของการให้ความช่วยเหลือแก่เด็ก ? และทางโรงเรียนมีการจัดทำรายงานการเฝ้าติดตามดูความก้าวหน้าของเด็กเป็นประจำด้วยหรือไม่?

 

• ผู้ปกครองจะได้รับการบอกกล่าวถึงสิทธิในกระบวนการและวิถีทางตามกฎหมายของกฎหมาย IDEA 2004 รวมทั้งสิทธิในการร้องขอให้มีการประเมินผลการเข้ารับการคัดเลือกเพื่อขอรับบริการการศึกษาพิเศษได้ในขั้นตอนไหนของกระบวนการ RTI?

 

• ทางโรงเรียนจะจัดทำเอกสารข้อเขียนอธิบายถึงกระบวนการ RTI ให้ผู้ปกครองทราบด้วยหรือไม่? ผู้ปกครองสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการ RTI ได้อย่างไร?

               

ประโยชน์ที่พึงได้รับจากกระบวนการ RTI มีอะไรบ้าง?

 

       อาจกล่าวได้ว่า ผลประโยชน์จากการนำกระบวนการ RTI มาใช้ที่คนมักกล่าวถึงมากที่สุด คือ ความสามารถในการกำจัดสภาพของ ‘การรอเพื่อพบกับความล้มเหลว’ ให้หมดไปได้ เพราะว่าเด็ก ๆ ได้รับความช่วยเหลือทันการณ์ในระดับของการศึกษาสายสามัญ ประการต่อไป คือ วิธีการนำ RTI มาใช้มีความเป็นไปได้ที่จะลดจำนวนของเด็กที่

ถูกระบุให้ได้รับการศึกษาพิเศษ และเพิ่มจำนวนเด็กที่ประสบความสำเร็จในภารศึกษา

ตามปกติมากขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ เป็นเพราะกระบวนการ RTI นี้สามารถแยก

ความแตกต่างระหว่างเด็กที่มีปัญหาความล้มเหลวที่เกิดจากความบกพร่องทางการเรียน รู้กับเด็กที่มีปัญหาความล้มเหลวจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ไม่ได้รับการศึกษาเบื้องต้น เด็กที่ถูกระบุให้เข้าร่วมในการประเมินผลเพื่อขอรับการศึกษาพิเศษ จึงลดจำนวนลงตามลำดับ เทคนิคของกระบวนการ RTI ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี เพราะช่วยลดความเป็นได้ที่เด็ก ๆ ต่างเชื้อชาติ ต่างวัฒนธรรม หรือต่างภาษา จะถูกด่วนสรุปเอาว่าเป็นเด็กไร้ความ สามารถ ประการสุดท้าย ผู้ปกครองและคณะทำงานของโรงเรียนก็เช่นกัน ได้พบว่าเทคนิคการเฝ้าติดตามดูเด็กที่ใช้ในกระบวนการ RTI นั้น ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนการสอนมากกว่าการประเมินผลแบบเดิม

 

ขั้นตอนต่อไปของการนำกระบวนการ RTI มาใช้คืออะไร?

 

       ยังมีประเด็นพิเศษอื่นๆอีกมากมายที่จะต้องกล่าวถึง เพื่อให้สามารถนำกระบวน การ RTI ไปใช้ให้เกิดประสิทธิผลด้วยดี ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและความร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังเป็นองค์ประกอบสำคัญของการใช้ RTI ให้บรรลุผล โรงเรียนต้องพร้อมที่จะเสนอกลยุทธ์หลากหลายของการเรียนการสอนอย่างที่ได้รับการทดสอบมาอย่างดีแล้ว คณะทำงานของโรงเรียน จะต้องได้รับการฝึกฝนอบรมมาเพื่อวัดผลการแสดงออกของเด็ก โดยใช้วิธีการใดก็ตาม ที่จะทำให้สามารถรับรู้ได้ถึงความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ส่วนผู้ปกครองเองก็จะต้องได้รับรู้ถึงกระบวนการใหม่ๆ นี้ และเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการด้วย RTI คือ วิธีปฏิบัติทางการศึกษาที่มีศักยภาพ สามารถช่วยให้เด็กทุกคนได้แสดงออกซึ่งศักยภาพทั้งหมดที่ตนมีอยู่ และสามารถสอบได้ในระดับมาตรฐานคะแนนตามที่รัฐกำหนดไว้

 

แปลและเรียบเรียงจาก Response to Intervention (RTI): A Primer for Parents By Mary Beth Klotz and Andrea Canter (2007) โดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก