ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การป้องกันและแก้ไขปัญหาในการเขียนสำหรับเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Prevention and Intervention of Writing Difficulties for Students with Learning Disabilities) ตอนที่ 6

Steven Graham, Karen R. Harris, and Lynn Larsen (2001)

คาดหวังว่าเด็กทุกคนจะเรียนรู้เรื่องการเขียน

อย่างกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยๆนี้ Snoopy กำลังนั่งเคาะพิมพ์ดีดอย่างแรงอยู่บนหลังคาบ้านสุนัขของมัน ในตอนที่ Lucy เข้ามาขอดูว่า มันกำลังเขียนอะไรอยู่ เธอกล่าวตัดสินอย่างรวดเร็วว่า ‘นี่ไม่ใช่เรื่องเศร้า แต่เป็นเรื่องโง่ ๆ ตะหาก’ Snoopy ขมวดคิ้ว แล้วหันกลับไปดูเรื่องที่ตนเขียนอีกครั้งหนึ่ง แล้วเขียนลงไปว่า ‘นั่นแหละที่ทำให้เป็นเรื่องน่าเศร้า’

เช่นเดียวกับความคิดเห็นของ Lucy ที่มีต่อวิธีการเขียนของ Snoopy ครูมักมองเด็กที่มีปัญหาด้านการเขียนและการเรียนรู้ไปในทางลบ คาดหวังเรื่องความสามารถของพวกเขาไว้ต่ำมาก ทำให้พลอยไม่ยอมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเด็ก ๆ เมื่อสอนการอ่านการเขียนทัศนคติในทางลบนั้น ก็อาจแปรเปลี่ยนไปเป็นการวิจารณ์เด็กบ่อยๆ ไม่ค่อยเอาใจใส่ ไม่มีคำชม ทำให้เด็กไม่มีปฏิสัมพันธ์กับครู การติชมเป็นเรื่องเป็นราว จึงมีเพียงสั้น ๆ หรือไม่ค่อยจะมี เด็กเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายเมื่อเกิด ‘อัมพาต’ ทางการศึกษาขึ้น เพราะครูเองก็ไม่แน่ใจว่า ตนจะต้องทำอย่างไรต่อไป หรือไม่ก็เกิดขาดความมั่นใจในความสามารถของตนขึ้นมาว่า จะสอนเด็กเหล่านี้ได้ผลหรือไม่

อย่างไรก็ตาม การค้นพบจากการศึกษาของ Englert และคณะ (Englert at al., 1995) ที่ได้มีการทบทวนก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่ว่าครูนั้นจะไม่มีความสามารถ เด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษ รวมทั้งเด็กที่มีอาการของ LD นั้น สามารถจะสอนให้เขียนหนังสือได้ องค์ประกอบสำคัญในการออกแบบโปรแกรมด้านการเขียนที่ประสบผลสำหรับเด็กเหล่านี้ คือ ยอมรับว่าพวกเขาทำได้ ความเชื่อดังกล่าวแสดงออกอย่างชัดเจนในการสัมภาษณ์ครูสอนชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งที่ครูใหญ่เห็นว่าเป็นผู้มีผลงานโดดเด่นในการสอนเด็กให้อ่านออกเขียนได้ เธอชี้ให้เห็นว่า เธอปฏิบัติต่อเด็กทุกคนเสมือนกับผู้เรียนที่มีความสามารถคนหนึ่ง ผู้ที่สามารถเรียนรู้อย่างได้ผลด้วยตนเองในชั้นเรียน

องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งแสดงออกมาอย่างชัดเจนโดยครูสอนอ่านและเขียนที่ดีเยี่ยมอีกคนหนึ่ง เขาชี้แจงว่า เขาไม่เคยแสดงออกถึงความดูถูกต่อเด็กที่เรียนอ่อนกว่าคนอื่นๆ ในชั้นเลย ตรงกันข้ามเขาพยายามที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็กในชั้นอย่างสม่ำเสมอโดยไม่เคยตราหน้าเด็กแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น เขาจัดให้ที่นั่งติดกับครูเป็นที่นั่งของคนพิเศษในชั้น ดังนั้น เมื่อครูคนนี้นั่งติดกับเด็กที่เรียนอ่อนซึ่งเขาต้องการช่วยเหลือ ก็จะไม่เป็นเรื่องเสียหายที่เขาจะใช้เวลามากสักหน่อยกับเด็กคนที่เรียนอ่อนผู้นั้น เราเชื่อว่า การมองข้ามความคาดหมายในทางไม่ดีไปได้ถือเป็นเรื่องสำคัญ (ตัวอย่างเช่น “เด็กที่มีอาการของ LD ไม่อาจเรียนเรื่องการเขียนได้ดี”) ควรตั้งความคาดหวังเรื่องสัมฤทธิผลในการเขียนของเด็กแต่ละคนให้สูงแต่จะต้องมีทางเป็นจริงได้ ปลูกฝังทัศนคติ “ฉันทำได้” ให้เด็ก เฝ้าสังเกตและปรับปรุงคุณภาพของการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กที่มีปัญหาเรื่องการเขียนในชั้นเรียน วางแผนจัดทำบทเรียนเรื่องการเขียนเพื่อที่เด็กทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยดี และสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็กทุกคน ยอมรับพวกเขาในฐานะคนคนหนึ่ง และแสดงออกถึงความกระตือรือร้นในสิ่งที่เด็กๆ สนใจ

แจกแจงและบอกให้ทราบถึงอุปสรรคของการเขียนทั้งแบบเป็นวิชาการและไม่เป็นวิชาการ

ในการ์ตูน Peanuts อีกเรื่องหนึ่ง Peppermint Patty บอกกับครูอย่างเศร้าสร้อยว่า เธอไม่รู้จะตอบคำถามอย่างไร เธออธิบายต่อว่าเธอรู้สึกว่าตัวเองฉลาดตอนที่ตื่นขึ้นมาเมื่อเช้านี้ แต่ปรากฏว่าหิมะเริ่มตก ขณะที่เธอเดินมาโรงเรียน และเกล็ดหิมะเหล่านั้น คงทำให้สมองของเธอช้าลงแน่ๆ

ส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการส่งเสริมพัฒนาการด้านการเขียนของเด็กเช่น Peppermint Patty ซึ่งมีอาการของ LD อย่างต่อเนื่องนั้น คือการแจกแจงและบอกกล่าวถึงอุปสรรคต่างๆ ที่ขัดขวางผลสำเร็จในการเรียนเรื่องการเขียน เด็กๆ ที่มีอาการของ LD อาจแสดงพฤติกรรมที่ไม่อาจปรับตัวได้อย่างเดียวหรือมากกว่านั้น รวมทั้งมีความอดทนต่อความผิดพลาดต่ำ มีปัญหาด้านความสนใจ และปัญหาในกระบวนการกระตุ้นและประสานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น ครูที่ Benchmark School ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีอาการของ LD ได้ระบุถึงอุปสรรคที่เด็กๆ เคยพบทั้งทางด้านวิชาการและไม่ใช่วิชาการ 32 เรื่อง ทั้งนี้ได้รวมเอาอุปสรรคต่างๆ เช่น ความหุนหันพลันแล่น ความไม่เป็นระเบียบ การไม่ผ่อนสั้นผ่อนยาว ความไม่มุมานะ การขาดเรียนบ่อยๆ การไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางบ้าน ฯลฯ เด็กนักเรียนน้อยกว่าร้อยละ 10 ถูกระบุว่า มีอุปสรรคเพียงอย่างเดียว ส่วนที่เหลือมีปัญหาต่างๆ ในการเรียนรู้มากถึง 10 อย่าง

ครูจำเป็นต้องบอกกล่าวถึงอุปสรรคเหล่านี้ หรือด้านอื่นๆ ที่อาจเป็นตัวถ่วงของพัฒนาการในการเขียนของเด็กที่มีอาการของ LD ในงานการศึกษาของ Sexton, Harris และ Graham นั้น มีตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าจะทำวิธีนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร การศึกษาดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอาการของ LD ซึ่งมีปัญหาด้านการเขียน และแสดงออกถึงการมีแรงกระตุ้นในระดับต่ำและมีความเชื่อว่าปรับตัวได้ยากในด้านของเหตุแห่งความสำเร็จและความล้มเหลว เด็กเหล่านี้ไม่เพียงถูกสอนเรื่องกลยุทธ์การวางแผนเพื่อช่วยในการปรับปรุงงานเขียนของพวกเขา แต่การสอนยังได้ผนวกเอาส่วนประกอบที่มีการออกแบบขึ้นมา เพื่อที่จะช่วยแก้ไขคุณลักษณะที่มีการปรับตัวได้ยากของพวกเขา เด็กก็จะได้รับการส่งเสริมให้ถือเอาว่าความสำเร็จของพวกเขา คือ การพยายามและการใช้กลยุทธ์การวางแผน เด็กๆได้เรียนรู้การใช้ ‘ข้อความประจำตัว’ (เช่น ‘การจะเขียนให้ดีได้ จะต้องทำงานอย่างหนัก’) เพื่อสะท้อนถึงคุณลักษณะเหล่านี้ เมื่อทำตามที่ครูสอนงานเขียนของเด็กจะมีความยาวมากขึ้น และดีขึ้นในเชิงคุณภาพ และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในคุณลักษณะการเขียนของพวกเขาด้วย

ในงานการศึกษาหาความจริง โดย Harris, Graham, Reid, McElroy, และ Hamby ยังมีตัวอย่างที่สองที่จะบอกถึงวิธีการแก้ไขอุปสรรคต่างๆ รายงานการศึกษานี้เกี่ยวข้องกับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอาการของ LD ผู้มีปัญหาในการจดจ่ออยู่กับงานที่ได้รับมอบหมาย เพราะพวกเขามีปัญหาเรื่องความตั้งใจ เพื่อบอกกล่าวถึงสถานการณ์นี้ เด็กที่ร่วมในการศึกษานี้ถูกสอนให้นับและทำกราฟคำจำนวนมากที่คิดขึ้นได้ในขณะกำลังเขียนงานทุกๆวัน ผลจากขั้นตอนการเฝ้าสังเกตตนเองอย่างง่ายๆ นี้ ทำให้พฤติกรรมการทำงานของเด็กนั้นมีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 และการเขียนเรื่องของเด็กๆ ก็มีความยาวเพิ่มขึ้นถึง 2 หรือ 3 เท่าทีเดียว

นำความได้เปรียบของเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยการเขียน

ในการ์ตูน Peanuts ตอนสุดท้าย Sally กำลังอ่านรายงานของเธอในชั้น หลังจากบอกกับเพื่อนร่วมชั้นว่า รายงานของเธอเป็นเรื่องของ Walter Diemer บุรุษผู้ค้นพบหมากฝรั่ง แล้วเธอก็หยุดและเป่าหมากฝรั่งเป็นลูกโป่ง แล้วเธอก็กล่าวต่อเพื่อบอกเพื่อน ๆ ว่า เราทุกคนต้องรู้สำนึกในบุญคุณของ Mr. Diemer เธอหยุดอีกครั้งเพื่อเป่าหมากฝรั่งให้เป็นลูกโป่งอีกลูกหนึ่ง เมื่อครูถามว่าเธอกำลังทำอะไรอยู่ Sally ก็ตอบว่า ‘งานโสตทัศน์ค่ะ คุณครู’

เทคโนโลยีมีวิวัฒนาการมาตามลำดับอย่างเห็นได้ชัด นับแต่สมัย ‘งานโสตทัศน์’ ของ Sally เป็นต้นมา อุปกรณ์ทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดทางเลือกใหม่ ๆ มาช่วยลดปัญหาด้านการเขียนของเด็กที่มีอาการของ LD โดยยอมให้พวกเขาหลบเลี่ยงบางปัญหาและได้รับการส่งเสริมให้เอาชนะอีกหลายๆ ปัญหา ดังที่ MacArthur ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เครื่องมือ/อุปกรณ์ที่อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้น ช่วยให้กระบวนการเขียนง่ายขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้กับเด็กที่มีอาการของ LD ได้มากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมพิมพ์เอกสาร (Word Processing) สำหรับเด็กพวกนี้แล้ว มีข้อได้เปรียบถึง 3 ประการ คือ (1) การทบทวนสามารถทำได้ โดยไม่ต้องลอกซ้ำให้เกิดความเบื่อหน่าย (2) รายงานที่เด็กทำสามารถนำเสนอในรูปแบบที่ดูเหมือนมืออาชีพได้ในวงกว้าง และ (3) การพิมพ์ช่วยให้มีวิธีการในการเขียนข้อความได้ง่ายขึ้น เมื่อเด็กเกิดมีปัญหาการทำงานของกล้ามเนื้อมือและตาไม่ประสานกันขึ้น เครื่องมือ/อุปกรณ์ทางเทคโนโลยียังมาช่วยสนับสนุนด้านการวางแผนและการทบทวน ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ในการร่างเค้าโครงและการใช้แผนภูมิความหมาย โปรแกรมสื่อประสม (Multimedia Applications) และโปรแกรม ที่ช่วยเตือนต่างๆ  นอกจากนี้ กระบวนการในการเขียนข้อความสามารถนำมาช่วยสนับสนุน หรือแม้กระทั่งป้องกันการเกิดปัญหาเช่นในกรณีของการใช้โปรแกรมตรวจสอบการสะกด  โปรแกรมเดาคำศัพท์ (เพื่อเพิ่มอัตราการพิมพ์และความถูกต้อง) การตรวจสอบไวยากรณ์และรูปแบบ และโปรแกรมอ่านข้อความด้วยเสียงสังเคราะห์ (Speech Synthesis)  ประการสุดท้าย การใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ช่วยให้เด็กได้ร่วมมือและสื่อสารกันได้ง่ายขึ้นแม้กับผู้ฟังนอกเหนือจากในชั้นเรียน

ประสบการณ์ของ Christo Irving เด็กที่เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนสำหรับเด็กที่มีอาการของ LD ผู้นำอำนาจของเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการเขียนของเขา เด็กรุ่นพี่ผู้ที่เคยมีปัญหาในการเขียนและการรวบรวมสมาธิ/ความสนใจได้ทำงานเป็นตัวอย่างในแบบที่เขาเองเรียกว่า ‘น้อยให้ได้มาก’ เมื่อเขาทำงานเขียนที่ได้รับมอบหมายเสร็จ ทุกครั้งที่เขาเริ่มเขียนข้อความด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถพิมพ์ข้อความตามคำพูดได้ ทำให้รายงานของเขามีความสมบูรณ์มากขึ้น และในปัจจุบัน Christo สามารถ ‘เขียนพร้อมใส่รายละเอียด’ ลงไปในงาน เพราะว่าเขาสามารถใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ให้พิมพ์รายละเอียดตามต้องการได้

แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุน หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนของเด็กที่มีอาการของ LD ได้ก็ตาม นับเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรระลึกไว้เสมอว่า เทคโนโลยีนั้นไม่ได้ทำให้การสอนเขียนดูเป็นเรื่องไม่จำเป็นหรือฟุ่มเฟือยจนเกินไป ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่มีอาการ LD จำนวนมากมักจะไม่ใช้ข้อได้เปรียบจากประสิทธิภาพของโปรแกรมพิมพ์เอกสาร (Word Processing) ในการทบทวนงาน เพราะยังชอบใช้วิธีการแบบเดิม ๆ คือ ส่วนมากจะเป็นการพยายามแก้ไขความผิดพลาดทางองค์ประกอบของงานเขียน อย่างไรก็ตามการสอนให้พวกเขามุ่งเน้นความสนใจไปกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในขั้นตอนของการทบทวน ซึ่งสามารถส่งผลให้มีการใช้เครื่องพิมพ์เอกสาร (Word Processor) ในการแก้ไขเรียบเรียงมากกว่าเดิม เพราะเป็นไปได้มากที่เด็กจะเขียนข้อความเพิ่มเติม หรือไม่ก็เรียบเรียงแก้ไขข้อความใหม่  เช่นเดียวกันโปรแกรมตรวจสอบคำสะกดนั้น ก็ไม่อาจจะกำจัดการสะกดผิด และความจำเป็นในการสอนสะกดคำให้หมดไปได้ เพราะเด็กที่มีอาการของ LD จะตรวจแก้ไขคำที่ตนเขียนผิดเพียงแค่ครึ่งเดียวของคำผิดทั้งหมด เมื่อต้องใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า ผลกระทบจากเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ควรมีการควบคุมหรือไม่ก็ต้องจำกัดวงลงไป ถ้าหากเด็กที่มีอาการของ LD ยังไม่อาจพัฒนาความรู้ ทักษะ ความตั้งใจ และการบังคับตนเองไปสู่การเขียนที่มีประสิทธิผลได้

ความเห็นส่งท้าย

ในรายงานฉบับนี้ เราได้วางโครงร่างของหลักเกณฑ์ 6 ประการ ที่เราเชื่อว่าจะสามารถช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาในการเขียนที่พบในเด็กซึ่งมีอาการของ LD หลักเกณฑ์เหล่านี้ควรที่ทุกคนจะตระหนักว่าเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นของการตอบสนองต่อความต้องการที่จะเขียนของเด็กเหล่านี้ ซึ่งยังคงไม่พอเพียงด้วยเหตุผลสองประการ คือ หนึ่ง เรามุ่งเน้นเพียงสิ่งที่โรงเรียนจะสามารถทำได้หรือไม่อาจทำได้ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนอื่นๆ เช่น ครอบครัว และชุมชน สอง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า โรงเรียนแต่ละแห่งหรือระบบโรงเรียนมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มกฎเกณฑ์เพื่อตอบสนองสถานการณ์ที่มีความพิเศษเฉพาะตัวของพวกเขา

แม้ว่าเราจะไม่มีข้อกังขาว่า ครูคนเดียวที่มีความเสียสละ อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างสำคัญต่อการพัฒนาผู้เขียนหรือเด็กที่มีปัญหาทางด้านการเขียน แต่นี่ก็ไม่ใช่งานของพระเอกขี่ม้าขาวมาเพียงคนเดียว เพราะการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการเขียน และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างได้ผล จะต้องอาศัยความเพียรพยายามอย่างยั่งยืน และด้วยเห็นพ้องต้องกัน ทั้งในส่วนของโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน เพราะว่าปัญหาด้านการเขียนของเด็กที่มีอาการ LD เป็นสภาวะที่ยืดเยื้อเรื้อรังไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่เราก็ยังไม่อาจหาวิธีการใด ๆ มาแก้ไขอย่างรวดเร็วและง่ายดาย จนสามารถทำให้ปัญหาหมดสิ้นไป สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาแต่เนิ่น ๆ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากยังต้องอาศัยความเพียรพยายามที่ยั่งยืน และสอดคล้องต้องกันตลอดไปอีกด้วย.
 

แปลและเรียบเรียงจาก Prevention and Intervention of Writing Difficulties for Students with Learning Disabilities By: Steven Graham, Karen R. Harris, and Lynn Larsen (2001) โดยส่วนสื่อการศึกษาเพื่อคนพิการ ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก