ขณะนี้คุณอยู่ที่ ›

การบกพร่องทางการเขียนในทุกมุมมอง 26/04/2010

โดย ชาร์ลส์ เอ แมคอาเธอร์ (2009)

“คำต่างๆ ล้วนยุ่งเหยิงอยู่ในหัวของฉัน  ฉันสับสน  ฉันรู้สึกยุ่งเหยิงในการเขียนคำต่างๆ ฉันเลยหยุดเขียน”  นี่เป็นคำสารภาพของเด็กหญิงเกรด 5 ที่บกพร่องทางการเรียนรู้ (แอลดี)
 
การเขียนเป็นเรื่องยาก  ผู้เขียนส่วนใหญ่อาจพบความคับข้องใจเช่นนักเรียนคนนี้ การเขียนเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนที่ต้องใช้ :

  • ความรู้ของเราเกี่ยวกับหัวข้อนั้น
  • ความสามารถของเราที่จะคาดเดาว่า ผู้อ่านต้องการอะไร
  • ความสามารถของเราที่จะเรียบเรียงข้อมูลอย่างเป็นเหตุเป็นผล
  • ทักษะของเราในการเลือกใช้คำที่ถูก
  • ความสามารถของเราที่จะประมาณความมุ่งมั่นของเรา
  • ความมุมานะในการทำงาน

ผู้เขียนต้องตั้งจุดประสงค์  ผสมผสานกระบวนการทางสังคมและการรับรู้ที่หลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง  และตรวจสอบความสำเร็จของตัวของเขาเอง  นักเรียนที่เป็นแอลดีไม่ใช่เป็นเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ดิ้นรนกับการเขียน  อันที่จริง มีการประเมินความก้าว-หน้าทางการศึกษาของชาติจัดอันดับนักเรียนไว้ว่า 28 % ของเกรด 4 เท่านั้น  31%ของเกรด 8 และ24%ของเกรด 12 ที่เป็นนักเรียนที่มีความเชี่ยวชาญ  อย่างไรก็ตาม  สำหรับนักเรียนแอลดีแล้ว ความยุ่งยากนั้นเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่า  ในการเปรียบเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ประสบความสำเร็จโดยทั่วไป  นักเรียนแอลดีจะมี

  • ความรู้น้อยกว่าเกี่ยวกับการเขียน
  • ทักษะด้านภาษาที่น้อยกว่า
  • ความยุ่งยากอย่างมากกับการสะกดและการเขียนลายมือ
  • กลยุทธ์ในการเขียนที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า

ดังนั้น เรียงความของพวกเขาจะสั้นกว่า มีการเรียบเรียงและการบรรยายได้ไม่สัมพันธ์นัก  มีข้อผิดพลาดในการสะกดและเรื่องไวยากรณ์ที่มากกว่าและมีคุณภาพโดยรวมที่ต่ำกว่า
 
คุณพ่อคุณแม่มักสงสัยว่า การบกพร่องทางการอ่านและการเขียนมีอะไรเชื่อมโยงกันอยู่  การอ่านและการเขียนเกี่ยวพันกับทักษะทางภาษาอย่างใกล้ชิด  มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกันอย่างมากระหว่างความสำเร็จในการอ่านและการเขียน  ผู้ที่อ่านหนังสือได้แย่มากส่วนใหญ่ต่างก็ต้องดิ้นรนกับการเขียนด้วยเหมือนกัน  อย่างไรก็ตาม  การมีอุปสรรคก็อาจไม่เป็นจริงเสมอไป  สิ่งต่อไปนี้ก่อให้เกิดปัญหาการเขียน  โดยไม่ขึ้นกับปัญหาการอ่าน

  • ปัญหากล้ามเนื้อที่มีผลกระทบต่อการเขียนลายมือ
  • ปัญหาการเอาใจใส่และการควบคุมตนเองซึ่งมีผลกระทบต่อการมุมานะและการเรียบเรียง
  • แรงจูงใจไม่เพียงพอ
  • คำสอนหรือคำแนะนำไม่เพียงพอ

 
ขอเพิ่มเติมว่า  นักเรียนบางคนซึ่งเอาชนะปัญหาการอ่านของเขาเองได้ จะยังคงต้อง
ดิ้นรนกับการสะกดและการเขียน  ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ปัญหาการเขียนของลูกของคุณจะถูกประเมินเพิ่มเติมจากปัญหาการอ่านใดๆ เพื่อว่า เขาหรือเธอจะได้รับการสอนหรือการแนะนำอย่างเหมาะสม
 
การพัฒนาการเขียนและปัญหาการเขียน
การเขียนที่ดีก็คือ การเขียนอย่างหนึ่ง  อาจจะยาว 2 หน้า มีหลายประโยค  ตัวอักษรตัวเล็กตัวใหญ่ (กรณีเป็นภาษาอังกฤษ) ย่อหน้า     วรรคตอน  การสะกดทุกๆ อย่างให้ถูก  นั่นคือทั้งหมดที่ฉันจะกล่าวเกี่ยวกับมัน
-          นักเรียนแอลดี
 
อย่างที่คำพูดได้แสดงไว้  นักเรียนแอลดีจำนวนมากมายรู้สึกเป็นห่วงมากกับองค์ประกอบในการเขียนจนกระทั่งพวกเขาให้ความสำคัญกับการเขียนที่ดีว่า ต้องไม่มีอะไรผิดพลาด  ทางโรงเรียนต้องเอาใจใส่ที่จะไม่ทำความผิดอย่างเดียวกันในการประเมินปัญหาการเขียนของนักเรียนหรือการวางแผนการสอนในการเขียน  แม้ว่าปัญหาของการสะกดและองค์ประกอบเป็นปัญหาที่เห็นได้อย่างเด่นชัด  ตามความจริงแล้ว
นักเรียนแอลดีต้องดิ้นรนกับทุกด้านในการเขียน  ในบทนี้ผมทำโครงร่างความรู้และทักษะซึ่งนักเรียนต้องเชี่ยวชาญเพื่อจะเป็นนักเขียนที่ดีและอภิปรายถึงปัญหาการเขียนในแต่ละด้าน  แบบจำลองของ Hayes และ Flower เตรียมพร้อมโครงร่างสำหรับการพิจารณาองค์ประกอบของการเขียน  แบบจำลองมีดังนี้

  • บริบททางสังคมของการเขียน
  • ความรู้ของผู้เขียน
  • การวางแผนว่าจะเขียนอะไร
  • การเขียนเนื้อหา
  • การประเมินการเขียนของตนเอง
  • การควบคุมตนเองในเรื่องกระบวนการเขียน

 
บริบททางสังคม
 
การเขียนเป็นกระบวนการทางสังคมเท่าเทียมกับที่เป็นกระบวนการรับรู้  ภายนอก
โรงเรียน ผู้คนเขียนในเบื้องต้นเพื่อที่จะติดต่อสื่อสารกับคนอื่นๆ ด้วยจุดประสงค์บางอย่างในใจ  บริบททั้งสองที่ผู้คนเขียนและรูปแบบการเขียนของเขามีจุดมุ่งหมายทางสังคมและธรรมเนียมปฏิบัติ  เราแบ่งปันข่าวสารและบอกเล่าเรื่องส่วนตัวในจดหมายกับเพื่อน  เขียนชักนำความคิดหาคนอื่นๆ ในจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือ  และเขียนจดหมายติเตียนทางธุรกิจ  ที่บ้าน เด็กๆ อาจจะเขียนเรื่องราว  ส่งอีเมล์ถึงเพื่อนของเขา  และคุยออนไลน์  ชนิดของการเขียนเหล่านี้โดยส่วนมากแล้วเป็นการโต้ตอบเหมือนบทสนทนา  นั่นคือ เราได้รับการโต้ตอบจากบุคคลที่เราเขียนถึง
 
ผู้เขียนที่มีความเชี่ยวชาญจะคำนึงถึงผู้อ่านและจุดประสงค์และพยายามที่จะปรับเนื้อหา  องค์ประกอบและภาษาที่จะสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ  นักเรียนแอลดีและผู้เขียนที่ดิ้นรนคนอื่นๆ มักจะละเลยผู้อ่านและทำงานเขียนง่ายๆ ว่า เป็นงานเขียนที่พวกเขารู้เกี่ยวกับหัวข้อนั้น  คำอธิบายส่วนหนึ่งสำหรับการละเลยผู้อ่านคือ การดิ้นรนที่จะหาคำมาใช้นำความสนใจของเขาไปทั้งหมด  คำอธิบายอีกส่วนหนึ่งคือ พวกเขาไม่มีประสบ-การณ์เพียงพอในการเขียนถึงผู้คนจริงๆ ซึ่งจะโต้ตอบเขา
 
งานเขียนที่โรงเรียนส่วนมากมุ่งตรงไปสู่ผู้อ่านคนเดียว นั่นคือ ครู  ด้วยจุดประสงค์ของการแสดงสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้ (เช่น การทดสอบ  ประโยคและการสะกดคำต่างๆ) การเรียนรู้ที่จะเขียนให้ได้ดีและเพื่อพัฒนาแรงจูงใจที่จะเขียน  นักเรียนต้องการโอกาสที่จะเขียนและตีพิมพ์งานเขียนของเขาให้ผู้คนอื่นๆ นอกจากครูได้อ่าน
ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาและการเขียน
เหมือนกับความเข้าใจในการอ่าน  ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการเขียน  เหตุผลหนึ่งที่นักเรียนแอลดีบางคนมีความยุ่งยากในการเขียนคือว่า  พวกเขาไม่ได้อ่านมากเท่าที่นักเรียนคนอื่นๆ ทำและมีความรู้ทั่วไปน้อยกว่าที่จะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์  เช่นเดียวกัน การต้องทำการบ้านที่ต้องการให้นักเรียนอ่านเนื้อหาแล้วจึงเขียนลงไป  นักเรียนแอลดีจะมีความยุ่งยากมากกว่าในการได้รับความรู้จากการอ่าน  ยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนที่เชี่ยวชาญจะรู้จักเรื่องราวเกี่ยวกับการเขียนมากมาย  ตัวอย่างเช่น พวกเขารู้จักรูปแบบต่างๆ หรือประเภทของงานเขียน  และเขาใช้ความรู้นี้ที่จะเผยแพร่เนื้อหาและเรียบเรียงการเขียนของเขา  นักเรียนแอลดีและผู้เขียนที่ยังดิ้นรนคนอื่นๆ จะมีความรู้น้อยกว่าเกี่ยวกับจุดประสงค์และรูปแบบของการเขียน
 
ทักษะการเขียน
การเขียนเนื้อหาในแบบจำลองของ Hayes และ Flower รวมไปถึงการเรียบเรียงการเขียนและการใช้ภาษา  เราดำเนินการแยกออกมาตรงนี้เนื่องจากความสำคัญของมันต่อผู้เขียนที่ยังดิ้นรนอยู่  ทักษะการเขียนรวมไปถึงทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเขียนประโยคลงกระดาษ  เครื่องหมายวรรคตอน  การสะกดคำ  การเขียนลายมือหรือการพิมพ์คีย์บอร์ด  เมื่อนักเรียนจำเป็นต้องเพ่งความสนใจอย่างใกล้ชิดไปกับความกังวลใจในการเขียนในระดับเบื้องต้นเหล่านี้  พวกเขาจะมีความสามารถทางใจเหลือน้อยในประเด็นการเขียนที่ระดับสูงขึ้น  ตัวอย่างเช่น  เมื่อนักเรียนหยุดคิดเกี่ยวกับการสะกดและรูปแบบตัวอักษร  มันรบกวนความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เขากำลังพยายามที่จะ
สื่อสารในการเขียน
 
สำหรับผู้เขียนที่เชี่ยวชาญ  กระบวนการเขียนจะสัมพันธ์กันอย่างอัตโนมัติ  ในทางตรงกันข้าม  ผู้เขียนที่ยังเด็กและผู้เขียนที่ยังดิ้นรนในทุกวัยจะอุทิศความตั้งใจอย่างมากให้กับกระบวนการเขียน  งานวิจัยแสดงอย่างชัดเจนว่า ปัญหากับการเรียบเรียงการเขียนมีผลกระทบกับคุณภาพงานเขียนของแต่ละคน  ความคล่องแคล่วในการสะกดและการเขียนลายมือจะเกี่ยวพันกับคุณภาพของการเขียนโดยตลอดช่วงวัยประถมศึกษา  เมื่อนักเรียนแอลดีได้รับอนุญาตให้เขียนตามคำบอก  เพื่อว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องกังวลกับการเรียบเรียงงานเขียน  พวกเขาจะทำการเขียนได้ดีขึ้นเมื่อพวกเขาต้องเรียบเรียงเขียนด้วยลายมือตนเอง  ยิ่งกว่านั้น  การสอนการเขียนลายมือหรือการสะกดคำในระดับประถมศึกษาตอนต้นจะเพิ่มคุณภาพของการเขียนของนักเรียน
 
ทักษะทางภาษา
การเขียนที่ใช้ทักษะต้องการใช้คำศัพท์ที่หลากหลายมากขึ้นและโครงสร้างประโยค
ที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าภาษาพูด ทั้งการอ่านและการเขียนต้องการความรู้ด้านคำศัพท์และวิธีการสร้างประโยค  แต่การเขียนต้องการความรู้จากนักเรียนมากกว่านั้นเพราะว่าพวกเขาต้องสามารถหาคำศัพท์มาใช้และสร้างประโยคได้มากกว่าแค่เข้าใจมัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนบรรยายจะต้องการความรู้ด้านคำศัพท์และการสร้างประโยคจากนักเรียนอย่างสูง  นักเรียนแอลดีด้านการอ่านและการเขียนส่วนมากจะมีความยุ่งยากกับโครงสร้างประโยค  ยิ่งกว่านั้น คำศัพท์พัฒนาจากการอ่านอย่างหนัก  ดังนั้นการอ่านอย่างจำกัดจะมีผลกระทบต่อการรู้จักคำศัพท์น้อยลง
 
การวางแผน
ผู้เขียนที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวพันอย่างมากกับการวางแผนและการมีกลยุทธ์ในการวางแผนที่ถูกพัฒนามาอย่างดี  แบบจำลองของ Hayes และ Flower รวบรวมแบบอย่างของกิจกรรมที่สำคัญ 3 แบบด้วยกันคือ

  • แบบที่ 1 ผู้เขียนที่มีความเชี่ยวชาญจะตั้งเป้าหมายหลักและเป้าหมายรองไว้สำหรับงานเขียนของเขา  ขึ้นอยู่กับผู้อ่านและวัตถุประสงค์  ตัวอย่างเช่น  ในงานเขียนชิ้นนี้  ผมเริ่มต้นด้วยเป้าหมายทั่วๆ ไปของการเตรียมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการสอนการเขียนให้กับพ่อแม่ของนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนรู้  และอธิบายเป้าหมายรองเกี่ยวกับสิ่งที่จะสื่อสารในการสอนและกระบวนการเขียน
  • แบบที่ 2 ผู้เขียนที่มีความเชี่ยวชาญมีทักษะในการรวบรวมเนื้อหาโดยการทบทวนความจำของตนเอง  และโดยการรวบรวมข้อมูลจากการอ่านและการพูดคุยกับคนอื่นๆ
  • แบบที่ 3 ผู้เขียนที่มีความเชี่ยวชาญมีความรู้เกี่ยวกับรูปแบบต่างๆ ของการเขียนอย่างดี  และเขาใช้ความรู้นั้นช่วยรวบรวมเนื้อหาและเรียบเรียงการเขียนของเขา  ตัวอย่างเช่น เมื่อเขียนจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือ พวกเขารู้ว่าเขาจำเป็นที่จะต้องให้เหตุผลและหลักฐานให้เชื่อในทัศนะของเขา

 
ในทางตรงกันข้าม ผู้เขียนที่ต้องดิ้นรนจะทำการวางแผนน้อยมาก  พวกเขาให้ความคิดเพียงเล็กน้อยต่อเป้าหมายและผู้อ่านและไม่มีความรู้เรื่องรูปแบบของการเขียนที่จะมาเป็นแนวทาง  พวกเขามักใช้วิธีการเขียนบอกเล่าอะไรก็ตามที่เขารู้และเกิดขึ้นในสมองในขณะนั้นเกี่ยวกับหัวข้อที่จะเขียน  การใช้วิธีการนี้ พวกเขามักเขียนได้เนื้อหาที่น้อยและเรียบเรียงได้แย่มาก
 
การประเมินและการตรวจแก้ไข
ผู้เขียนที่มีความเชี่ยวชาญจะประเมินและตรวจแก้ไขงานของเขาโดยตลอดกระบวนการเขียน  เขาเรียบเรียงความคิด เปลี่ยนใจเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ  โยนงานเขียนทั้งบททิ้ง  และพิจารณาอย่างระมัดระวังว่า เขาบรรลุเป้าหมายหรือไม่  เขาได้แรงเกื้อหนุนในกระบวนการประเมินและตรวจแก้ไขจากความรู้อันเข้มข้นเกี่ยวกับมาตรฐานสำหรับการเขียนที่ดี  และด้วยทักษะความเข้าใจการอ่านที่ดีได้ช่วยเขาให้ค้นพบปัญหาที่มีศักยภาพ
ผู้เขียนในวัยเรียนส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ผู้เขียนระดับกลางๆ จะไม่ตรวจแก้ไขมากนัก
นักเรียนแอลดีทำการตรวจแก้ไขเพียงเล็กน้อยเท่านั้นนอกเหนือจากแก้ที่ผิดและเปลี่ยนคำพูดเล็กๆ น้อยๆ  และบ่อยไปที่พวกเขาทำที่ผิดใหม่ๆ ในช่วงกระบวนการทำสำเนาบนกระดาษอีกแผ่นเพื่อแก้ที่ผิดในช่วงแรก  มีหลายเหตุผลว่า ทำไมพวกเขาไม่ตรวจแก้ไขให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

  • เหตุผลแรก ทักษะความเข้าใจในการอ่านที่อ่อนอาจจะจำกัดความสามารถของเขาให้ค้นพบปัญหาในบทความนั้น
  • เหตุผลที่สอง พวกเขามีความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการประเมินที่จำกัดที่จะใช้ในการตรวจแก้ไข  ตัวอย่างเช่น  การประเมินว่า บทนำจะดึงดูดความสนใจของผู้อ่านหรือไม่  การเรียบเรียงมีความชัดเจนและมีคำเชื่อมที่ดี  หรือรายละเอียดที่เขียนเพียงพอหรือไม่
  • เหตุผลสุดท้าย  แม้ว่าเขาจะสังเกตพบปัญหา  เขาอาจจะไม่สามารถแก้ไขมันเนื่องจากมีทักษะการเขียนที่แย่

 
การควบคุมตนเอง
การเขียนเป็นงานที่ต้องการการแก้ปัญหามาก  ซึ่งนักเรียนต้องใส่ใจทั้งเรื่องเนื้อหาและผู้อ่าน  วางแผนการเรียบเรียงทั้งหมดของชิ้นงาน  คัดเลือกคำและสร้างประโยค  ประเมินการเขียนด้วยมาตรฐานหลายทาง  และยังคงมีแรงจูงใจและจุดยืน  แม้แต่ผู้เขียนที่มีความเชี่ยวชาญยังไม่สามารถกระทำทั้งหมดนี้ได้ไปในขณะเดียวกัน  แต่พวกเขามีกลยุทธ์การควบคุมตนเองซึ่งทำให้พวกเขาจัดการกับความต้องการนี้ได้  ตัวอย่างเช่น  พวกเขาตั้งเป้าหมาย  เลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสม  ตรวจสอบความก้าวหน้าของตนเอง  และเปลี่ยนวิธีการเขียนเมื่อมันใช้ไม่ได้ผล
 
ยิ่งกว่านั้น พวกเขาได้พัฒนาวิธีการจัดการรับมือกับความยุ่งยากและรักษาแรงจูงใจของตนเองและทำงานต่อไป  ตัวอย่างเช่น  เมื่อผมติดขัด  ผมหลีกเลี่ยงความท้อแท้โดยบอกตัวเองว่า  การเขียนเป็นเรื่องยากสำหรับคนส่วนใหญ่  บางครั้ง ผมถอยหนีและอ่านบทความเก่าๆ เพื่อเตือนตัวเองว่า  ผมสามารถเขียนได้จริงๆ
 
ในทางตรงกันข้าม  ผู้เขียนที่ต้องดิ้นรนจะมีความยุ่งยากในการประสานทักษะและ
กลยุทธ์ต่างๆ ที่เขารู้เข้าด้วยกัน  และบ่อยทีเดียวที่เขารู้สึกเหลือทนกับความต้องการของงานเขียน  เพราะว่าพวกเขามีประสบการณ์ความสำเร็จน้อยมากเมื่อเขียนหนังสือ  พวกเขามักรู้สึกท้อแท้ไปได้ง่ายๆ
 
การสอนการเขียน
โปรแกรมการออกแบบที่ดีของการสอนการเขียนควรจะประกอบด้วยองค์ประกอบที่กล่าวมาทั้งหมด  โปรแกรมการเขียนที่ดีจะมีสมดุลระหว่างโอกาสสำหรับเด็กที่จะ
ผูกพันกับการเขียนซึ่งมีความหมายต่อเขา  และเพื่อได้รับการสอนที่ชัดแจ้งในทักษะและกลยุทธ์ที่เขาต้องการเพื่อเป็นผู้เขียนที่มีความเชี่ยวชาญ  นักเรียนต้องการโอกาสที่จะเขียนหัวข้อที่มีความหมายสำหรับผู้อ่านอื่นๆ มากไปกว่าครู ซึ่งรวมไปถึงเพื่อนๆ รุ่น-ราวคราวเดียวกัน  พ่อแม่และกลุ่มอื่นๆ ภายนอกโรงเรียน  ในขณะเดียวกัน พวกเขาต้องการการสอนที่ชัดเจนในเรื่อง

  • ทักษะพื้นฐานของการเขียนลายมือ การสะกดและรูปแบบประโยค
  • กลยุทธ์การวางแผนและการตรวจแก้ไขการเขียนของเขา
  • กลยุทธ์การควบคุมตนเองระหว่างกระบวนการเขียน

 
โปรแกรมการเขียนที่ละทิ้งบริบททางสังคมและสอนการเขียนในฐานะเป็นแบบฝึกหัดที่ไร้ความหมาย หรือโปรแกรมซึ่งพุ่งไปที่การเขียนทั้งหมดเพื่อผ่านการทดสอบจะไม่สร้างแรงจูงใจให้นักเรียน หรือไม่ช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่า รูปแบบที่แตกต่างกันของการเขียนเกี่ยวพันกับจุดประสงค์เฉพาะแต่ละอย่างอย่างไร  ในอีกทางหนึ่ง  ผู้เขียนที่ดิ้นรนกับการเขียนต้องการการสอนที่ชัดแจ้งเพื่อที่จะพัฒนาทักษะพื้นฐานและกลยุทธ์ที่ลึกซึ้งสำหรับการเขียน

แปลและเรียบเรียงจาก Writing Disabilities: An Overview โดย Charles A. MacArther (2009)
แปลและเรียบเรียงโดย พรรษชล ศรีอิสราพร

ภาพประกอบบทความหน้าต่าง LD

แบบประเมินคุณภาพสื่อ สสพ.

คุณพอใจกับคุณภาพสื่อข้างต้นมากน้อยเพียงใด
  • พอใจมาก0
  • พอใจ0
  • ปานกลาง0
  • ไม่พอใจ0
  • ไม่พอใจมาก0
^ กลับสู่เนื้อหาหลัก

Fatal error: Call to undefined function drupal_get_path() in /usr/local/www/apache22/data/Braille-new/sites/all/modules/better_statistics/better_statistics.module on line 181